19 พ.ค. เวลา 07:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สศช. ดัน 3 เครื่องยนต์สุดท้าย อัดงบ 2.2 แสนล้าน ประคองศก.ปี 68

สศช. ดัน 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยชุดสุดท้าย หวังประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดต่อไปในภาวะไม่ปกติ จากการทำสงครามการค้า และการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ชี้เหลืองบ 2.2 แสนล้านพร้อมอัดลงระบบ
วันนี้ (19 พฤษภาคม 2568) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 สิ่งสำคัญคือต้องเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ ที่มีอยู่ในตอนนี้ประมาณกว่า 2.2 แสนล้านบาท ลงไปให้มากที่สุด ทั้งงบประมาณปี 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 1.57 แสนล้านบาท
รวมไปถึงงบเหลื่อมปี 2568 ของหน่วยงานต่าง ๆ วงเงินประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท และวงเงินงบลงทุน ในโครงการขนาดเล็กที่ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะ 1 ปี ซึ่งมีวงเงินเหลืออีกส่วนหนึ่ง ซึ่งวงเงินงบประมาณทั้งหมด จะต้องเร่งผลักดันลงในระบบเศรษฐกิจให้ให้ภายในปีงบประมาณ 2568 หรืออาจมีบางส่วนที่จะเหลือไว้ใช้ในช่วงต้นงบประมาณปี 2569 ด้วย
"เครื่องยนต์สำคัญที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในปี คือ การใช้จ่ายถาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้มากขึ้น การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ทั้งสามเครื่องยนต์นี้ต้องเร่งให้มากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง ตัวสำคัญคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งตอนนี้การเจรจาการค้ายังไม่ได้ข้อุติ และหลายประเทศกำลังเข้าคิวรอ ขณะที่ในประเทศยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนในระดับสูงด้วย" นายดนุชา กล่าว
ทั้งนี้ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2568 สศช. เสนอว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ 6 ข้อ ดังนี้
1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วเพื่อรักษาแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ไม่ให้ต่ำกว่า 70% และ 90% ของกรอบงบลงทุนรวม โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญโดยเฉพาะโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามแผนงาน
ขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal consolidation) เพื่อเพิ่มพื้นที่ ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยัง มีความไม่แน่นอนอยู่สูง รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
2. การยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ
การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ ประกอบด้วย
1.การเจรจาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ และหาแนวทางในการลดการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่ไทยยังต้อง พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และไทยไม่สามารถผลิตได้เพียงพอเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ
รวมทั้ง การพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีโดยคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และการหาแนวทางการเพิ่มการลงทุนโดยตรงของไทยในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น
2.การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออก สินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตและสอดคล้องไปกับความต้องการของโลก ควบคู่ไปกับการขยายตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน ควบคู่ไปกับการเร่งเจรจาความตกลง การค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ
3.การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยการทบทวน สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับการลงทุน ผ่านรูปแบบการร่วมลงทุน (Joint Venture) และส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องในไทยเพื่อทำให้เกิด
รวมถึงการถ่ายโอนองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย และลดความเสี่ยงจากการใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้า (Rerouting) และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศต่ำ พร้อมทั้งการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยกำหนด เงื่อนไขการใช้วัตถุดิบและการจ้างแรงงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
4.การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและ ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
5.การเตรียมมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก
3. การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
สำหรับการปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1.การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นโดยเฉพาะ กระบวนการตรวจสอบ ตามแนวชายแดน และเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้า รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษ สำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
2.การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบ นำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ รวมทั้งการเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพในการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้า ตามแนวชายแดน
3.การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการ ทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ และการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC)
ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการป้องกันการแอบอ้าง ถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยการยกระดับการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเข้มข้น และเร่งปรับปรุงบัญชีสินค้า ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าส่งออกจากไทยว่าเป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิด สินค้าที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับประเทศคู่ค้า
4. การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง
เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ SMEs และการยกระดับ ศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
5. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการ รองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2568/2569 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการลงทุน ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำต้นทุน
รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนโดยการปรับแผนระบายน้ำและเตรียมพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อลดความเสี่ยง จากผลกระทบของอุทกภัยและเพื่อจัดสรรน้ำให้เกษตรกรและประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ในช่วงฤดูแล้ง และการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับ ผลิตภาพทางการผลิต
6. การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ นักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหาร จัดการพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โฆษณา