20 พ.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

ตำนาน โรงแรมดุสิตธานี ที่เกิดจากการเดิมพันหมดหน้าตัก ของนักธุรกิจหญิง รุ่นบุกเบิกของไทย

ถ้าให้นึกถึงผู้หญิงตัวคนเดียว สร้างธุรกิจที่มีมูลค่าเป็นพัน เป็นหมื่นล้านบาทในยุคนี้ หลายคนน่าจะนึกชื่อนักธุรกิจหญิงในหัวได้มากมาย
แต่ถ้าให้ลองย้อนกลับไปถามคำถามเดียวกัน เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ผู้คนในสมัยนั้นคงแทบจะไม่มีภาพนักธุรกิจหญิงในหัวแบบคนยุคปัจจุบันแน่ ๆ
และนักธุรกิจที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่นี้ คือนักธุรกิจหญิงคนแรก ๆ ของไทย ที่เป็นผู้สร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวของคนไทย โรงแรมแรก ๆ อีกด้วย
ซึ่งนักธุรกิจหญิงท่านนี้ ก็คือท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งเครือโรงแรมดุสิตธานี นั่นเอง
แล้วเรื่องราวของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย กับเครือโรงแรมดุสิตธานี มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
1
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เด็กหญิงหยก แซ่หวัง คือชื่อเดิมของท่านผู้หญิงชนัตถ์ เธอเกิดในปี 2465 ในครอบครัวที่ค่อนข้างจะมีฐานะ เพราะคุณพ่อเป็นเจ้าของธุรกิจโรงเลื่อยไม้ชื่อดังริมคลองหัวลำโพง ส่วนคุณแม่เป็นเจ้าของธุรกิจโรงสีข้าว
3
เด็กหญิงหยก ถูกเลี้ยงดู และได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แต่เมื่อครั้งที่เธอเรียนอยู่ในโรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อเตรียมเรียนต่อด้านกฎหมาย
แต่ระหว่างนั้นเอง ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้เธอต้องหนีภัยสงคราม ไปใช้ชีวิตอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด
1
พอสงครามจบลง เธอขอพ่อแม่ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา และในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกานี้เอง เธอได้มีโอกาสไปเข้าพักโรงแรม และสังเกตเห็นว่าไม่ว่าเธอจะเข้าไปพักโรงแรมไหน เธอก็ไม่เคยเจอเจ้าของโรงแรมเลย
1
ทำให้เธอหลงคิดไปว่า การทำธุรกิจโรงแรม คงเป็นอาชีพที่อิสระมาก ซึ่งนั่นก็ตรงกับอุปนิสัยของเธอที่ชื่นชอบความเป็นอิสระ
1
เมื่อกลับมาประเทศไทย เธอจึงไปขอยืมเงินจากคุณพ่อ คุณแม่ เริ่มต้นทำโรงแรมแห่งแรกชื่อว่า โรงแรมปริ๊นเซส ขนาด 60 ห้อง บนที่ดินของพี่สาวตัวเองแถวเจริญกรุง
ซึ่งความพิเศษของโรงแรมนี้คือ การเป็นโรงแรมแห่งแรกในไทยที่มีสระว่ายน้ำ
เมื่อเปิดดำเนินการในปี 2492 ก็มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาพักอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นลูกเรือของสายการบินแพนอเมริกา
แต่พอบริหารโรงแรมไปสักพัก เธอกลับเจอปัญหาให้แก้ไขไม่เว้นแต่ละวัน เดี๋ยวน้ำไม่ไหล เดี๋ยวไฟดับ เดี๋ยวแขกมีปัญหากับสามล้อถีบบ้าง
เธอจึงต้องวิ่งขอโทษ ขอโพยลูกค้าอยู่ตลอด แถมบางวันคนทำความสะอาดไม่มา เธอก็ต้องไปทำความสะอาดแทน แต่ละวันมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ไม่สบายเหมือนกับที่คิดไว้ตอนแรก
1
ความคิดที่จะเริ่มสร้างโรงแรมแห่งใหม่ ที่สมบูรณ์แบบยิ่งกว่าเดิมก็ได้เกิดขึ้น
และเธอยังตั้งเป้าหมายอีกว่า โรงแรมแห่งนี้จะต้องเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ ด้วยการมีมาตรฐานการบริการระดับโลกแบบโรงแรม 5 ดาว ซึ่งในยุคนั้นยังไม่เคยมีโรงแรม 5 ดาวในไทยมาก่อนเลย
1
ประจวบเหมาะกับที่เธอได้รับเชิญให้ไปพักที่โรงแรมโอกุระที่ญี่ปุ่น ในปี 2508 จึงปรึกษาประธานโรงแรมโอกุระ ถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงแรม 5 ดาว ขนาด 500 ห้องในไทย
1
พอรู้ว่ามีความเป็นไปได้ เธอจึงเริ่มมองหาที่ดินในการก่อสร้างโรงแรมทันที เมื่อกลับถึงประเทศไทย
หลังจากที่ตระเวนหาไปทั่วกรุงเทพฯ ท่านผู้หญิงก็ตัดสินใจเลือกที่ดินขนาด 10 ไร่ ตรงข้ามสวนลุมพินี หัวมุมถนนสีลม จึงพยายามติดต่อขอเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จนได้สัญญาเช่า 30 ปี
แต่ถึงจะหาที่ดินได้ ปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ การสร้างโรงแรม 5 ดาว ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ตอนนั้นท่านผู้หญิงประเมินว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 400 ล้านบาทเลยทีเดียว
แม้ที่บ้านจะมีฐานะดี แต่เงิน 400 ล้านบาทในสมัยนั้นก็เป็นเงินก้อนใหญ่ ที่ไม่ได้หากันได้ง่าย ๆ
และถ้าจะรอสะสมทุนจากกำไรที่ได้จากธุรกิจโรงแรมแห่งแรก ท่านผู้หญิงคงต้องใช้เวลาสะสมเงินทุนเกือบ 40 ปี เพราะโรงแรมแรกทำกำไรได้ปีละประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น
2
เธอจึงต้องขายโรงแรมแห่งแรก และขายสมบัติส่วนตัวไปมากมาย ทั้งเครื่องเพชร อัญมณี บ้านก็ยังต้องเอาไปจำนอง แต่ก็ได้เงินมาแค่ 120 ล้านบาท
1
จึงต้องไปขอเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งต่างก็สนับสนุนโครงการนี้ด้วยการปล่อยเงินกู้ระยะยาว
2
แต่มีข้อแม้ว่าต้องหาธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาร่วมค้ำประกันเงินกู้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็อยู่ตรงที่ว่าธนาคารส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าผู้หญิงคนเดียว จะบริหารโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ได้
แถมการสร้างโรงแรมบนพื้นที่เช่า ก็มีความเสี่ยงมหาศาล ธนาคารส่วนใหญ่จึงไม่กล้าค้ำประกันเงินกู้
1
แต่โชคดีที่คุณไพศาล นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารแหลมทอง มองว่าโครงการนี้น่าจะมีอนาคต จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
พร้อมกับช่วยประสานกับธนาคารกรุงไทยให้ช่วยค้ำประกันในครั้งนี้ด้วย
โครงการที่ดูเหมือนจะถูกพับไปแล้ว ก็สามารถกลับมาดำเนินการก่อสร้างได้สำเร็จ
ท่านผู้หญิงต้องการให้โรงแรมแห่งนี้มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้มากที่สุด จึงพาทีมงานผู้ออกแบบชาวญี่ปุ่นไปดูงานศิลปะตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วไทย
1
เพื่อกลับมาออกแบบโรงแรมให้มีความเป็นไทย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความทันสมัย
อีกทั้งยังมีผู้เสนอให้ตั้งชื่อโรงแรมเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อความสะดวกในการจดจำของลูกค้า แต่ท่านผู้หญิงก็ยังยืนยันที่จะใช้ชื่อว่า “ดุสิตธานี” เพื่อแสดงถึงความเป็นไทยให้ได้มากที่สุด
2
และแล้วโรงแรมดุสิตธานีก็สามารถเปิดตัวได้ในปี 2513 ถือได้ว่าเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุด และเป็นตึกสูงที่สุดในยุคนั้น ด้วยความสูง 23 ชั้น มีห้องพักมากถึง 525 ห้อง
3
โรงแรมแห่งนี้กลายมาเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และเป็นโรงแรมต้นแบบให้กับโรงแรม 5 ดาวยุคหลัง ๆ ในไทย ตามวิสัยทัศน์ของท่านผู้หญิงในตอนแรกเริ่ม
ซึ่งโรงแรมดุสิตธานี มักจะถูกเลือกให้เป็นสถานที่พำนักของบุคคลสำคัญระดับโลก ที่มาเยือนประเทศไทย
ทั้งนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของสหราชอาณาจักรอย่าง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง โรนัลด์ เรแกน ต่างก็เคยมาเข้าพักที่นี่
พอเปิดดำเนินการไปได้สักพัก ก็ได้มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นมาในปี 2518
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ก็ไม่ลังเลที่จะนำบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 2518 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตลาดหุ้นไทยเปิดดำเนินการ
นับเป็นบริษัทของคนไทย บริษัทแรก ๆ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
1
ปัจจุบันนี้ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เป็นเจ้าของโรงแรม และวิลลาหรูมากกว่า 294 แห่ง ใน 18 ประเทศทั่วโลก
1
และถึงแม้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา แต่มรดกที่เกิดจากความตั้งใจจะสร้างโรงแรมให้เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศของผู้หญิงคนนี้
1
ที่ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่าจะทำธุรกิจให้สำเร็จได้ กลายมาเป็นรากฐานให้อุตสาหกรรมโรงแรมไทยโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยการเป็นที่กล่าวขานกันในเรื่องคุณภาพการให้บริการ
และยังเป็นตัวอย่างให้สังคมไทยได้รู้ว่า ผู้หญิงก็สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ มาจนถึงทุกวันนี้..
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#DUSIT
โฆษณา