19 พ.ค. เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

SET เร่งยกเครื่องตลาดทุน! ศึกษาตั้งกระดานหุ้นใหม่ – หนุนควบรวม บล.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับแผนใหญ่ ตั้งกระดานหุ้นใหม่ New Economy ลด บล. เร่งเปิดโปรเจ็กต์ JUMP+ พร้อมหนุน บจ. ซื้อหุ้นคืนกระตุ้นความเชื่อมั่น
ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนในการเติบโต จากปัจจัยในต่างประเทศโดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าจากการกำหนดนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ไม่เพียงกระทบเศรษฐกิจไทย แต่ทั่วโลกก็โดนเช่นเดียวกัน
ถามว่าจะส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียนและตลาดหุ้นไทยด้วยหรือไม่นั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจมีทั้งบวกและลบ หลายอุตสาหกรรมอาจได้รับอานิสงส์เชิงบวกได้ ดังนั้นจึงเหมารวมทั้งหมดไม่ได้
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนอย่างมาก เมื่อบรรยากาศการลงทุนไม่เป็นใจ ดัชนีไหลลงต่อเนื่อง แม้ว่าหุ้นดีมีศักยภาพแค่ไหนก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็พยายามหาหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังศึกษาแนวทางในการแยกกระดานหุ้นใหม่ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New Economy) ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเอา บจ.ที่ทำเรื่อง New Economy ย้ายมาอยู่ที่กระดานใหม่หมด ซึ่งเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็กำลังศึกษาดูอยู่
ส่วนจำนวนการเปิดบัญชีของผู้ลงทุนปัจจุบันยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าด้วยบรรยากาศการลงทุนที่ไม่ค่อยเป็นใจนัก ทำให้ปริมาณการซื้อขายนั้นค่อนข้างน้อยกว่า และการซื้อขายส่วนใหญ่ที่เติบโตดีส่วนมากเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากหุ้นมันดี การเปิดบัญชีก็จะตามมาเอง
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่อยากลดจำนวนบริษัทในธุรกิจทรัพย์ทรัพย์ (บล.) ลงประมาณครึ่งหนึ่ง หรือราว 19 บริษัทของปัจจุบันที่มีอยู่ราว 39 แห่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของ บล.ให้สามารถเติบโตรองรับตลาดที่มีความผันผวนและปริมาณการซื้อขายที่ต่ำลงในช่วง 2-3 ปีหลังนี้
"จะเห็นได้ว่าในช่วง 2 - 3 ปีหลังมานี้ หลาย บล. ผลการดำเนินงานออกมาไม่ค่อยดีมากนัก ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการซื้อขายที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าอาจเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงในให้เกิดการควบรวมธุรกิจ บล. เพื่อควมอยู่รอด สำหรับเรื่องของบทวิเคราะห์ที่อาจไม่คอบคลุมนั้น มองว่าอาจนำเอา AI เข้ามาช่วยได้"
ขณะเดียวกันการเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดทุนนั้น ปัจจุบันก็มีโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การผลักดัน JUMP+ ที่จะเปิดโครงการภายในเดือน มิ.ย. 68 นี้
ปั้น New Economy
รวมถึงการสนับสนุนการระดมทุนของกลุ่ม New Economy เช่น การดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาขอสิทธิประโยชน์ BOI ในประเทศไทยให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไทย โดยไม่ต้องรอมีกำไร 3 ปี (ปัจจุบันมีเกณฑ์อยู่แล้ว) พร้อมสนับสนุนในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการ Spin-Off บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีใหม่ๆออกมา รวมถึงสนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ดีๆ เข้ามาจดทะเบียนผ่านการออกเป็นหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งอาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากเห็นจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มากกว่านี้ เพราะมองว่าจำนวน บจ. ที่มีอยู่ปัจจุบันราว 800 บริษัทยังค่อนข้างน้อยไป โดยตั้งเป้าหมายจำนวน 1,000 - 1,500 บริษัทน่าจะเหมาะสมและไม่หนักเกินเป้าหมาย เพราะอิงกับจำนวนบริษัทที่เสียภาษีในประเทศไทยที่มีอยุ่ประมาณ 200,000 บริษัท
3 เรื่องด่วนต้องเร่งทำ
สำหรับภาระกิจเร่งด่วนที่อยากทำมี 3 เรื่อง ได้แก่
1. การหาบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียนใหม่เร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังเป็นกระแสโลก พวกหุ้นเทคโนโลยี ต่างๆ กลุ่มสตาร์ทอัพ ทั้งในประเทศและต่าองประเทศที่มีอนาคตที่ดี
2. ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทที่มีอยู่ปัจจุบันให้โปร่งใส และช่วยสะท้อนความเป็นจริงของตลาดทุน เช่น โครงการ JUMP+ ที่จะทำให้บริษัทรู้มูลค่าที่แท้จริง นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่สนใจถูกต้อง
3. ทำให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว และซื้อขายหุ้นได้อย่างเป็นธรรม
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องใหญ่ ถ้าทำได้แบบนี้เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยก็จะฟื้นได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะบริษัทดีนักลงทุนก็จะซื้อขายหุ้นมากขึ้น
ขณะที่โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) ของ บจ. คาดว่าเกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยเงื่อนไขใหม่ที่จะปลดล็อกได้แก่
1. สามารถทำโครงการซื้อหุ้นคืนต่อได้ทันที โดยไม่ต้องรอเว้นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากการทำโครงการซื้อคืนรอบแรก
2. ขยายระยะเวลาการขายหุ้นคืนเพิ่มเป็น 5 ปี (ต่อได้ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง) จากเดิมที่กำหนดต้องขายให้หมดใน 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ยอดการซื้อหุ้นคืนในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.68) พบว่า มีบจ. ที่ซื้อหุ้นคืนรวม 37 บริษัท มูลค่ารวมมากกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าการซื้อหุ้นคืนของทั้งปี 67 แล้ว จะเห็นได้ว่า บจ. ให้ความสนใจในโครงการซื้อหุ้นคืนค่อนข้างมาก
โฆษณา