เมื่อวาน เวลา 00:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจแย่ ของขายไม่ออก เอกชนชงรัฐ 14 ข้อเร่งแก้วิกฤต

เวลานี้บรรดาภาคเอกชนส่วนใหญ่บ่นเป็นเสียงเดียวกันถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยที่สุ่มเสี่ยงหนักขึ้น เมื่อเครื่องจักรในการกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบทุกตัวอ่อนแรงลง
ขณะที่ภาคประชาชน พ่อค้าแม่ค้า เริ่มบ่นเสียงดังว่า “ไม่ไหวแล้วของขายไม่ดี” คนกระเป๋าแฟบ เกิดภาวะเงินฝืด ข้าวของราคาแพง “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์สองตัวแทนภาคเอกชนที่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือ โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่ง
  • ครึ่งแรกสัญญาณน่าห่วง
เริ่มต้นจากมุมมองของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2568 นี้ ต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ทั้งจากการเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้า สงครามการค้าที่ทวีความตึงเครียดจากมาตรการตอบโต้ทางภาษีและการกีดกันทางการค้า และความพยายามในการดึงการลงทุนกลับสหรัฐ
นโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้ภาคการส่งออกปีนี้เผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะชะลอตัวได้ ซึ่งจะยิ่งซํ้าเติมภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยลงเหลือ 2.0-2.2% (ณ พ.ค.68) ตํ่ากว่าประมาณการเดิมที่ 2.4-2.9% และจากการขึ้นภาษีนำเข้าพื้นฐาน (Baseline Tariff) สินค้านำเข้าจากทั่วโลกของสหรัฐในอัตรา 10% ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวเพียง 0.3-0.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5-2.5%
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • 3 ความท้าทายต้องจับตา
สำหรับความท้าทายที่ต้องจับตาหลังจากนี้ไปคือ 1. ผลการเจรจากับสหรัฐในเรื่องการลดกำแพงภาษีนำเข้า รวมถึงผลการเจรจาของประเทศคู่แข่งของไทย ซึ่งหากสามารถเจรจาขอยกเว้นหรือลดอัตราภาษีนำเข้าได้ตํ่ากว่าไทย จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ
2.ผลกระทบทางอ้อมจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขันในตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสินค้าที่เข้ามาสวมสิทธิ์ไทยส่งออกไปสหรัฐ
3. สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากความกังวลด้านความปลอดภัย อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ตํ่ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยให้ภาคเอกชนสามารถก้าวข้ามความผันผวนจากการค้าโลกในเวลานี้คือ เร่งเจรจาหาตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐ และการสร้างโอกาสผ่านการเจรจา FTA กับประเทศอื่นๆ และการเตรียมความพร้อมในมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ และการเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย
รวมถึงการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) และการเร่งปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่ล้าสมัย ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน
  • ชง 14 ด้านเพื่อทางรอด
สอดคล้องกับ นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้น่าห่วง และทางรอดในภาวะที่ประเทศไทยยังหันรีหันขวาง จึงอยากเสนอทางออกให้รัฐบาล ต้องเร่งดำเนินการ 14 ด้าน ไล่ตั้งแต่
1.สินค้าส่งออกที่เป็นผลผลิตส่วนใหญ่ในประเทศไทย เช่นอาหารทะเล พืชผักผลไม้สดและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ขนาดเล็ก จะได้รับผลกระทบหนัก รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ควรต้องเร่งช่วยเหลือ โดยเร่งหาและแนะนำตลาดใหม่เช่น ตลาดของกลุ่ม BRICS แอฟริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรปให้แก่ผู้ส่งออกระดับ SMEs เป็นการด่วน
ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ได้ดีคือผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในประเทศต่าง ๆ และควรจะต้องเร่งมือมากขึ้นในการหาข้อมูลล่าสุดให้กับผู้ประกอบการ SMEs
สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ)
2.จัด Mini Business Matching โดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นแม่งานหลัก โดยการสนับสนุนและร่วมมือจากเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารกรุงไทย กองทุน FTA ฯลฯ โดยมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ในประเทศเป้าหมาย เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ ฯลฯ เข้ามาให้คำปรึกษา และแนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไทยที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ แล้วเชิญผู้มีประสบการณ์การส่งออกจากองค์กรใหญ่ ๆ ในภาครัฐและเอกชนมาร่วมให้คำแนะนำเทคนิควิธีการต่างๆ
3.รัฐบาลขอความร่วมมือสายเดินเรือหรือ Freight Forwarder ในการลดค่าระวางขนส่งทางเรือในเส้นทางที่เป็นเป้าหมายการส่งออกเป็นเวลา 90-120 วัน เพื่อที่ค่าระวางเรือจะได้ลดลง
4.เร่งสรุปอัตราภาษีศุลกากรว่าประเทศไทยจะได้ปรับภาษีศุลกากรในอัตราใด ในสินค้าอะไร และอะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดโดยผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติ เช่น ใบ C/O (Certificate of Origin) หลักฐานการแสดงแหล่งกำเนิดสินค้า RoO (Rules of Origin)
5.กระทรวงการคลังศึกษาวิเคราะห์ว่า การชดเชยสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร (ภาษีชดเชยสินค้าที่ส่งออกหรือที่สมัยก่อนเรียกว่า “ใบขนมุมน้ำเงิน” พิกัดใด พอจะปรับอัตราชดเชยให้สูงกว่าอัตราปัจจุบันได้บ้าง โดยไม่ขัดกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO)
6.ธนาคารพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมเปิด L/C (Letter of Credit) และการรับซื้อตั๋วในอัตราที่ต่ำลง รวมถึงลดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเพื่อช่วยเหลือเฉพาะ SMEs 7.บริษัทประกันภัยลดอัตราประกันภัยสินค้าให้ต่ำลง 8.สมาคมโลจิสติกส์ช่วยลดค่าบริการโลจิสติกส์ลง 5-10% เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ส่งออก-นำเข้า
9.ธนาคารพิจารณาวิธีการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยให้สินเชื่อแก่ SMEs ที่มีศักยภาพหรืออาจจะลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าปัจจุบัน (ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารถึงเวลาช่วยประเทศชาติแล้ว)
10.องค์กรภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก ต้องอำนวยความสะดวกในพิธีการและเอกสารต่างๆ แต่ต้องตรวจสอบเข้มในสินค้าบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงสินค้าที่ต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และข้อสำคัญ ต้องตรวจสอบต้นทุนสินค้าที่สำแดงใน Invoice ว่าถูกต้องเพียงไร เชื่อถือได้หรือไม่หากพบว่าราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ก็สามารถพิจารณาโดยการวางประกัน ค่าภาษีอากร หรือมาตรการตอบโต้ทางการค้า AD (Anti Dumping)
11.กระทรวงพาณิชย์ต้องช่วยวิเคราะห์ FTA ที่ไทยลงนามกับประเทศต่างๆ 16 ฉบับว่าสินค้าใดที่พอจะส่งออกไปยังประเทศที่ลงนาม FTA กับไทยได้ เช่น ชิลี เปรู เพราะผู้ประกอบการ SMEs บางส่วนยังไม่เข้าใจการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA
12.กระทรวงพาณิชย์ต้องวิเคราะห์ว่าสหรัฐอเมริกาลงนาม FTA กับประเทศใด (ประมาณ 20 FTA) แล้วหาทางติดต่อหาคู่ค้าจากประเทศเหล่านั้น เพราะหากเปลี่ยนสินค้าที่ประเทศเหล่านั้นนำไปเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ ก็จะทำให้ประเทศเหล่านั้นส่งสินค้าเข้าสหรัฐได้มากขึ้น เพราะได้วัตถุดิบราคาถูกกว่าจากประเทศไทย (วิธีการนี้ต้องวิเคราะห์ RoO ของสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปยังประเทศที่ลงนาม FTA กับอเมริกา)
13.ส่งเสริมการค้าภายในประเทศกระทรวงพาณิชย์ควรจะจัดให้มีการขายสินค้าในราคาโรงงาน (ราคาต้นทุนบวกกำไรเล็กน้อย) ด้วยการกระจายการจัดงานไปในทุกจังหวัด โดยอาศัยความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ และ TV ทุกช่อง หรือผ่าน Social Media รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างจริงจัง
14.กระทรวงการคลังโดยการปรึกษาหรือกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย ออกพันธบัตรระยะ 5 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพื่อหาเงินสนับสนุนโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือหนี้ครัวเรือนบางส่วนด้วยการขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน กองทุนประกันสังคม ให้ช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาล
ข้อเสนอเหล่านี้ มาจากความ ห่วงใยประเทศไทย ห่วงใยภาวะเศรษฐกิจไทย ห่วงใยสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นายสายัณห์ กล่าว
โฆษณา