เมื่อวาน เวลา 04:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดแผนลงทุนน้ำ 1 แสนล้าน 2 หมื่นโครงการ จ้างงานทั่วประเทศ

รัฐบาล ผันงบแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท วงเงินกว่า 1.57 แสนล้าน ไปพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ 2 หมื่นโครงการ ตั้งเป้าจ้างงานทั่วประเทศ 2.5 แสนคนต่อเดือน หวังกระจายเม็ดเงินเข้าระบบ รักษาการจ้างงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.28 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งงบประมาณนี้มาจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เดิมเตรียมไว้สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยรัฐบาลจะเปลี่ยนมาใช้สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ รวมถึงเศรษฐกิจชุมชนแทน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มติที่ประชุมดังกล่าวสอดคล้องกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายหลักคือการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รักษาการจ้างงาน และวางรากฐานสำคัญให้กับประเทศ
ทุ่ม 1 แสนล้าน พัฒนา 2 หมื่นโครงการน้ำ
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า สทนช. ร่วมกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ในการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยทางหน่วยงานได้เสนอโครงการผ่านที่ประชุม ครม. จำนวน 20,838 รายการ วงเงินรวม 109,657.15 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 ด้านสำคัญ
ด้านแรก คือ การพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 11,796 รายการ ใช้งบประมาณ 58,456.30 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนทั่วประเทศเข้าถึงระบบประปาและมีน้ำสะอาดใช้เพิ่มขึ้นอีก 2.24 ล้านครัวเรือน ผ่านโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง และเพิ่มน้ำต้นทุน คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึง 63,717.36 ล้านบาท
ด้านที่สองเป็นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ จำนวน 3,419 รายการ งบประมาณ 25,773.18 ล้านบาท มุ่งช่วยพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภัยแล้ง โดยจะพัฒนาพื้นที่ 2.53 ล้านไร่ จากพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด 22.36 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 11.31 ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 33,247.40 ล้านบาท
ส่วนด้านที่สามคือการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน จำนวน 4,787 รายการ ด้วยงบประมาณ 17,661.33 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ และจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม 22,787.12 ล้านบาท และช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากได้ประมาณ 0.37 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.79 จากพื้นที่เสี่ยงทั้งประเทศ 13.25 ล้านไร่
ด้านที่สี่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำและการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง วงเงิน 6,528.39 ล้านบาท ครอบคลุม 767 โครงการ เช่น โครงการแก้มลิงในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไปและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 6,854.80 ล้านบาท
ด้านที่ห้าคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ งบประมาณ 1,237.95 ล้านบาท จำนวน 69 รายการ อาทิ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำ การปลูกแฝก และการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม 1,596.96 ล้านบาท
นายไพฑูรย์กล่าวว่า โครงการทั้งหมดนี้จะเป็นแผนที่ดำเนินงานเสร็จภายใน 1 ปี คาดว่าแผน 5 ด้านจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ 2.99 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 2.53 ล้านไร่ ช่วยลดการชะล้างพังทะลายของดิน 162,750 ไร่ และเกิดการจ้างแรงงานกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ประมาณ 250,000 คนต่อเดือน ซึ่งมูลค่าผลกระทบที่ได้รับจากการลงทุนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นกรณีเร่งด่วนและเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ารวม 128,199.65 ล้านบาท
ด้านคมนาคมก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่จะได้รับการกระตุ้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตรวจสอบความพร้อมของโครงการต่างๆ ทั้งโครงการขยายถนน โครงการใหม่ และโครงการอื่นๆ ที่พร้อมดำเนินการ รวมถึงโครงการที่ถูกตัดงบประมาณปี 2568 และ 2569 ให้รายงานกลับมาที่กระทรวงภายในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา
ชงงบกระตุ้นการท่องเที่ยว 3.1 พันล้าน
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงกำลังเตรียมหารือกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อเสนอแผนขอใช้งบขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท เบื้องต้นมีโครงการที่ทำแผนไว้แล้วสามารถปรับมาขอใช้งบได้ 2 โครงการหลัก
โครงการแรกคือการสนับสนุนงบกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงิน 3,180 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน จากเดิมที่เคยจะขอใช้งบกลางวงเงิน 3,500 ล้านบาทสำหรับโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเท่านั้น ล่าสุดจากการหารือจะใช้งบอยู่ที่ 3,180 ล้านบาท แบ่งเป็น
งบในโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” วงเงินราว 1,700 ล้านบาท ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการเที่ยวเมืองหลัก รัฐบาลจะสมทบค่าใช้จ่ายให้ 40% ประชาชนจ่ายเอง 60% ส่วนเมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยว รัฐบาลจะสมทบให้ที่ 50% ประชาชนจ่ายเอง 50% แบ่งเป็นการใช้เที่ยวเมืองหลัก 3 คืน และเมืองรอง 3 คืน จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ และจำกัดการใช้สิทธิต่อคนอยู่ที่ 6 ห้องต่อคืนต่อสิทธิ โดยตั้งเป้าหมายจะเริ่มให้ประชาชนใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568
นอกจากนี้ ยังมีงบสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่าน OTA (Online Travel Agency) ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ รวม 21 ราย วงเงิน 800 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บค่า GP (Gross Profit) หรือค่าส่วนแบ่งที่ธุรกิจโรงแรมไทยต้องจ่ายให้กับ OTA รวมถึงงบสนับสนุนการเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) มาไทย 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้ในการประชาสัมพันธ์และพัฒนาระบบ
โครงการที่สองคือการปรับปรุงสาธารณูปโภคสถานที่ท่องเที่ยว โดยกรมการท่องเที่ยวได้รับจัดสรรงบประมาณเฟสแรก 29 ล้านบาทในการปรับปรุงห้องน้ำ และสำหรับการปรับปรุงห้องน้ำในเฟส 2 สำหรับการสร้างใหม่อีกประมาณ 400 กว่าล้านบาทก็จะขอใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ รวมถึงการปรับปรุงป้าย Welcome ตามจังหวัดต่างๆ ที่ชำรุดหรือยังไม่มี
ในส่วนของการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือแบงก์รัฐปรับลดกำไรเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ทุกแบงก์ตอบรับนโยบายนี้ โดย ธ.ก.ส. จะมุ่งช่วยเหลือกลุ่มหนี้เรื้อรัง
ออมสินลดดอกเบี้ย-ออกซอฟต์โลนแสนล้าน
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือลูกค้า โดยเปิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้ามาติดต่อ ซึ่งธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ 2-3% เพื่อบรรเทาภาระให้กับผู้ประกอบการทั้งกลุ่มส่งออกและตลอดซัพพลายเชน
นอกจากนี้ ยังเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยจะปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะไม่เกิน 3.5% ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
โดยกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการมี 3 กลุ่มชัดเจน ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจซัพพลายเชน และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม นายวิทัยยังเน้นย้ำว่า “วงเงินการออกซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท เราใช้งบดุลของเรา ไม่ได้พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ ถือเป็นการช่วยเหลือสังคม และหากวงเงินไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็พร้อมพิจารณาขยายกรอบวงเงินเพิ่ม”
ตั้งเป้าอัดฉีดงบ 1.57แสนล้าน ก.ค.นี้
สำหรับการกำกับติดตามผลการดำเนินงาน ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการและมาตรการต่างๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ
โดยมีการมอบหมายให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด ผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ภายในเดือนพฤษภาคม 2568 เพื่อให้คณะกรรมการฯ รวบรวมข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติภายในเดือนมิถุนายน 2568
ส่วนการขอรับจัดสรรงบประมาณนั้น หน่วยรับงบประมาณจะนำส่งโครงการที่ ครม. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ ซึ่งจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกรกฎาคม 2568
โฆษณา