21 พ.ค. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ห่วงภาษีทรัมป์ ทุบส่งออก-ลงทุน-จีดีพีดิ่ง 4 กลุ่มสินค้าจีนทะลักไทย

สภาพัฒน์วิเคราะห์ มาตรการภาษีกีดกันการค้าสหรัฐ จ่อกระทบไทยหนักทั้งส่งออก ลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวม จับตาผลพวง 4 กลุ่มสินค้าจีนทะลักไทยพุ่ง สัญญาณชัดนำเข้าปี 67 โต จี้รัฐบาลเร่งเจรจาสรุปดีลการค้าสหรัฐลดแรงกระแทก ก่อนเส้นตาย
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช./ สภาพัฒน์) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทั้งภาษีนำเข้าแบบเจาะจง(Sectoral Tariff) ที่สหรัฐเก็บเพิ่มเติมไปแล้วก่อนหน้านี้ เช่น กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน, กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมที่เก็บนำเข้าในอัตราร้อยละ 25
ขณะที่ในระยะต่อไปยังต้องติดตามสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่ข้อมูลในปี 2567 พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.4 ของสินค้าส่งออกรวมไปสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาลักษณะการทุ่มตลาดและการอุดหนุนของสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2568
นอกจากนี้จากที่สหรัฐเก็บภาษีพื้นฐานจากประเทศคู่ค้า (รวมไทย)แล้วร้อยละ 10 และเตรียมเก็บภาษีตอบโต้ไทยที่เกินดุลการค้าสหรัฐในอัตราร้อยละ 36 (หากถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราดังกล่าว) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะถูกส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทางสำคัญ ได้แก่
1.การลดลงของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ที่เกิดจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรง
2. การลดลงของการส่งออกไทยไปจีนจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตให้กับสินค้าจีน
3.การเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากจีนจากการระบายสินค้าส่งออก
และ 4.การเสียส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกไปตลาดอาเซียน รวมถึงจะมีผลกระทบต่อการลงทุน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะถัดไป
ทั้งนี้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดหลักที่สำคัญที่สุดของไทย โดยในปีที่ผ่านมา การส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18% ของการส่งออกในภาพรวม โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประกอบด้วย อุปกรณ์เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงสินค้าเกษตรกรรมบางประเภท
อย่างไรก็ตาม มาตรการกีดกันทางภาษีจากสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย “America First” ซึ่งกำหนดให้มีการขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้สินค้าจากไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีเหมือนในอดีต
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยสหรัฐมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง
อย่างไรก็ตาม หากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย อาจทำให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ลดลงในอนาคต เนื่องจากความไม่แน่นอนในตลาดและความเสี่ยงจากภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ยังมีผลกระทบต่อการค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในตลาดไทย และในภูมิภาคอาเซียน และการขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลง ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในด้านการผลิตและส่งออก
ทั้งนี้ตัวอย่างสินค้านำเข้าจากจีนของไทย ที่มีสัญญาณการระบายสินค้ามายังไทยเพิ่มขึ้น (จากราคาสินค้าลดลง ปริมาณส่งออกมาเพิ่มขึ้น) แบ่งตามหมวดสินค้าปี 2567 ที่ไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ดังนี้
1.สินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่านำเข้ารวม 2,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนทำจากพลาสติก ราคาลดลง 17.5% ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 46.6% องุ่น ราคาลดลง 4.6% ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 9% แอปเปิ้ล ราคาลดลง 5.1% ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.6% อาหารปรุงแต่ง ราคาลดลง 6.9% ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 34.7% มอลต์ ราคาลดลง 9.9% ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.9%
2.สินค้าขั้นกลาง มูลค่าการนำเข้า 3,598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ราคาลดลง 5.6% ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 12.5% พวงมาลัยยานยนต์ ราคาลดลง 5.1% ปริมาณเพิ่มขึ้น 15.9% เพลาและส่วนประกอบ ราคาลดลง 12.3% นำเข้าเพิ่มขึ้น 4.5% เบรกและส่วนประกอบ ราคาลดลง 2.5% นำเข้าเพิ่มขึ้น 6.4% และผ้าใบยางรถ ราคาลดลง 13.2% นำเข้าเพิ่มขึ้น 45.8%
3.สินค้าทุน มูลค่าการนำเข้า 6,261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น เครื่องประมวลผลข้อมูลพกพา ราคาลด 2.8% นำเข้าเพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนประกอบตู้เย็น ราคาลดลง 14% นำเข้าเพิ่มขึ้น 36.7% เรือขุดปั้นจั่นและยานพาหะทางน้ำ ราคาลดลง 99.4% นำเข้าเพิ่มขึ้น 71,400% มอเตอร์ไฟฟ้า ราคาลดลง 6.2% นำเข้าเพิ่มขึ้น 23% หน่วยเก็บเครื่องประมวลผลข้อมูลราคาลดลง 14.9% นำเข้าเพิ่มขึ้น 67.7%
4.สินค้าวัตถุดิบ มูลค่าการนำเข้า 16,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ชิ้นส่วนทำด้วยเหล็ก ราคาลดลง 2.7% นำเข้าเพิ่มขึ้น 33.5% ชิ้นส่วนที่ทำจากพลาสติก ราคาลดลง 17.5% นำเข้าเพิ่มขึ้น 46.6% เหล็กแผ่นรีด ราคาลดลง 21% นำเข้าเพิ่มขึ้น 36.8% สิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบ ราคาลดลง 19.3% นำเข้าเพิ่มขึ้น 109.4% ชิ้นส่วนที่ทำด้วยอลูมิเนียม ราคาลดลง 12.4% นำเข้าเพิ่มขึ้น 13.3%
โดยในปี 2567 กลุ่มสินค้าที่มีสัญญาณการนำเข้าจากจีนเร่งตัวขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนในระดับสูง โดยเฉพาะ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่สินค้ามีสัญญาณการเข้ามาของสินค้านำเข้าจากจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 69.7 และร้อยละ 63.3 ตามลำดับ
โดยหลังจากที่สหรัฐฯ มีการประกาศขึ้นภาษีทุกสินค้าจากจีน 30% (ลดลงจาก 145% เป็นเวลา 90 วัน) อาจจะทำให้สินค้าที่มีสัญญาณการทุ่มตลาดมีความรุนแรงยิ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในประเทศ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังและติดตามสินค้าในกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
สภาพัฒน์เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะภายหลังสหรัฐ เลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้ากับสินค้าส่งออกไทยในอัตรา 36% ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2568
ขณะเดียวกัน สหรัฐ ได้ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้ากับสินค้านำเข้าจากจีนออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2568 ซึ่งหากสหรัฐ และไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าใหม่ได้ จะทำให้ในช่วงหลังจากระยะเวลาดังกล่าว (หลัง 8 ก.ค. 2568) ไทยจะมีอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บสูงกว่าจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตภายในประเทศของไทย
ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องเจรจาข้อตกลงการค้าไทยกับสหรัฐฯ ให้ลุล่วงก่อนครบกำหนด 90 วัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนร่วมกับสหรัฐฯ และหาแนวทางในการลดการเกินดุลการค้าซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐ โดยการพิจารณาทบทวนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ในกลุ่มสินค้าที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและเกษตรกรภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ
โฆษณา