เมื่อวาน เวลา 07:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เบื้องลึกพับแผน แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ความจำเป็นรัฐบาลที่ยากปฏิเสธ

ผ่าเบื้องลึก รัฐบาลตัดสินใจพับแผน แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 ก่อนโยกเงินมาใช้ในโครงการใหม่เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ เช็คข้อมูลความจำเป็นของรัฐบาลที่ยากปฏิเสธ
ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยโยกงบที่จะใช้กับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 มาทำโครงการใหม่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออก และปั้นเศรษฐกิจชุมชน
จากการตรวจสอบเหตุผลความจำเป็นของการปรับตัดสินใจโยกวงเงินก้อนใหญ่ครั้งนี้ มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยกระทรวงการคลัง ได้รายงานไว้ในเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุมครม. ซึ่งฐานเศรษฐกิจสรุปเนื้อหาได้ดังนี้
ทั้งนี้จากข้อมูลระบุหลักการและเหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัว 2.5% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2% แต่ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับเฉลี่ย 3.5% ในปี 2566 ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด (ปี 2560-2562) หรือในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยังต่ำกว่าที่เคยขยายตัวได้ 5.8% ในช่วงของ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (ปี 2545 - 2549)
รวมทั้งต่ำกว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทย เริ่มเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการชะลอตัวลงของการลงทุน เพื่อยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต ผลิตภาพการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ
รวมถึงแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยแรงงานลดลงท่ามกลางการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปและมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถยกระดับการพัฒนาออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม
อีกทั้ง ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นต้องเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเน้นการลงทุนมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่เน้นการบริโภค เพื่อตอบโจทย์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเพื่อวางรากฐานการเติบโตในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่
ขณะเดียวกันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้กำหนดวงเงินงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนทั้งสิ้น 187,700 ล้านบาท ทั้งนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เห็นชอบให้ใช้วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จากรายการดังกล่าว เพื่อดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ
โดยโครงการดังกล่าวมีการเบิกจ่ายงบประมาณ 30,434 ล้านบาท และปัจจุบันวงเงินงบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจคงเหลือ จำนวน 157,265 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการผลิตและส่งออกที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้า เพื่อช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมครม.จึงได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,265 ล้านบาท โดยปรับโครงการและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อไปดำเนินโครงการใหม่ครอบคลุม 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านน้ำ ทั้งป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง การกระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ และการพัฒนาและปรับปรุงระบบประปา
ด้านคมนาคม ทั้งการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง (Bottleneck/Missing Link) การเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง การแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนนเสมอระดับ การก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และการปรับปรุงหรือพัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การผลิต
2.การพัฒนาการท่องเที่ยว
ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ทั้งปรับปรุงหรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ป้ายบอกทาง การพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว การพัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง
3.การลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ
ด้านการเกษตร เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม
ด้านการลดผลกระทบแรงงาน สนับสนุนมาตรการการเงินการคลังสนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ประกอบการส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกองทุนประกันสังคม
ด้านดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและการค้าระหว่างประเทศ
4.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ
ผ่านการดำเนินโครงการของกองทุนหมู่บ้าน(SML) สนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ พัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชนที่เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในพื้นที่ โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ
โฆษณา