21 พ.ค. เวลา 10:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงทรุด GDP โตแค่ภาพลวงตา เสนอรัฐเร่งลงทุน

เศรษฐกิจไทยส่อแววทรุด GDP ไตรมาสแรกโต 3.1% แค่ภาพลวงตา ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ปัญหาหนี้ครัวเรือน บริโภคฝืด สินเชื่อติดลบ SMEs อ่อนแรง เสนอรัฐเร่งอัดงบลงทุน สร้างงานแทนแจกเงิน พร้อมปรับโครงสร้าง
เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 2568 แม้จะขยายตัวถึง 3.1% ตามการรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แต่ สศช. เตือนว่า การเติบโตดังกล่าวเกิดจากสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น การเร่งนำเข้าสินค้าของประเทศปลายทาง ก่อนที่มาตรการทางภาษีชุดใหม่จะมีผลภายใน 90 วัน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยในไตรมาสนี้พุ่งขึ้นถึง 13.8%
อย่างไรแม้ตัวเลขดังกล่าว จะเป็นข่าวดีในระยะสั้นและอาจต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 แต่ยังมีประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างเคร่งครัด เพราะมีสัญญาณบางประการที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไข อาจเป็นตัวถ่วงการเติบโตของประเทศในระยะยาว
ประเด็นแรกที่น่ากังวลคือ ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพียง 2.6% ทั้งที่ในภาวะปกติ ตัวเลขนี้ควรเติบโต 5-6% เพื่อให้เกิดแรงส่งในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนมากถึง 55% ของ GDP ไทย เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในประเทศ
แต่ตลอดช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา การบริโภคอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยเพียง 3% กว่า ๆ แสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายที่ซบเซา และสะท้อนถึงความอ่อนแอของกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งมีรากเหง้าจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงต่อเนื่อง หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และความเปราะบางของรายได้ ทำให้ครัวเรือนไทยจำนวนมากต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
อีกหนึ่งตัวเลขที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ ภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 28% ของ GDP และเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงปี 2543-2550 ที่ภาคนี้ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.5% ต่อปี และยังเติบโตในระดับ 4.1% ในช่วงปี 2553-2561 แต่ใน 5 ไตรมาสที่ผ่านมา การขยายตัวเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมเหลือเพียง 0.5%
นอกจากนั้นยังพบว่า เงินให้กู้ยืมคงค้างภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินยังลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ตามการลดลงของเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์และการชะลอลงของเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) โดยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ลดลงติดต่อกัน 8 ไตรมาส นับจากไตรมาส 2 ของปี2566 (ไตรมาสแรกปีนี้ลดลง 2.24% ต่อเนื่องจากการลดลง 1.66% ในไตรมาสก่อนหน้า)
ส่วน SFI แม้จะขยายตัว 2.04% ในไตรมาสแรกปีนี้ แต่ชะลอลงจากการขยายตัว 2.21%ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของสินเชื่อครัวเรือน ที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและ คุณภาพสินเชื่อที่ลดลงต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณารายละเอียดเฉพาะเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงติดต่อกัน 8 ไตรมาส นับจากไตรมาส 2/2566 ถึง ไตรมาส1/2568 พบว่า ยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมลดลง 176,700 ล้านบาท หรือหดตัว 0.97% (คำนวณจาก 18,174.0-17,997.3 พันล้านบาท)
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์รวมเครือในไตรมาสแรกปี 68 หดตัว 1.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า หลักๆมาจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัว 0.8% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่องที่ 2.2% ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเทียบไตรมาสแรกปีนี้กับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า ยอดสินเชื่อปรับลดลง 186,560 ล้านบาท ทำให้ยอดคงค้างลดลงจาก 14,813 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 14,626 พันล้านบาท
หากคำนวณภาพรวมสินเชื่อไม่รวมอินเตอร์แบงก์(รายการระหว่างธนาคาร) สะท้อนภาพติดลบ 4 ไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาส2/67 ลบ0.2%, ไตรมาส3/67 ลบ2.3%, ไตรมาส4/67 ลบ0.4% และไตรมาส1/68 ลบ1.3% โดยสินเชื่อปรับลดลงล่าสุดอยู่ที่ 14,626 พันล้านบาท
ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวบวกบางๆ 0.05% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจติดลบ 0.5% ส่วน SMEs ติดลบ 1.8% โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยติดลบลึกถึง 2.5% เป็นการติดลบที่ลึกมาก ไม่เห็นระดับนี้มาหลายปี ตั้งแต่2545 เมื่อพิจารณาไส้ในสินเชื่อรายย่อยพบว่า สินเชื่อหลายตัวติดลบ ยกเว้นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีและไม่มีหลักประกัน ส่วนที่ติดลบมากคือ สินเชื่อเช่าซื้อติดลบลึก 11.6% สินเชื่อบัตรเครดิตลบ 3.2%
“ไตรมาสแรก โมเมนตัมสินเชื่อยังไม่ฟื้น และมีประเด็นการชำระคืนหนี้ตามฤดูกาลทุกประเภทสินเชื่อ ซึ่งเป็นปกติของทุกปี โดยที่สินเชื่อใหม่กลับมาช้า ถ้าไม่มีสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีและไม่มีหลักประกันประคองไว้สินเชื่อรายย่อยมีโอกาสติดลบลึกกว่านี้"
ปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจทบทวนตัวเลขประมาณการสินเชื่อรายย่อย เพราะหลายตัวยังไม่ฟื้น เนื่องจากปัจจัยหนี้ครัวเรือนและรายได้ยังไม่ฟื้นกลับมาทำให้ผู้กู้รายย่อยยังมีประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระคืนหนี้โอกาสขอสินเชื่อใหม่แค่บางกลุ่ม
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงจะมอนิเตอร์อีกระยะหนึ่งก่อนจะพิจารณาปรับประมาณการณ์สินเชื่อรายย่อนทั้งปีลงจากเดิมมองติดลบ 1.% ซึ่งเป็นภาพติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ติดลบ 2.2%
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อภาพรวมทั้งปีประเมินการเติบโตเป็นบวกที่ 0.6%ดีขึ้นจากที่ติดลบ 0.4% ปี2567 ติดลบ 0.4% หากมีการทบทวนตัวเลขประมาณการณ์รายย่อยย่อมกระทบตัวเลขภาพรวมเช่นกันคือ มีโอกาสต่ำกว่า 0.6%โดยเฉพาะฝากความหวังว่า สินเชื่อธุรกิจต้องกลับมาทุกไตรมาสหลังจากนี้ ขณะที่สินเชื่อรีเทลคาดว่า จะติดลบ1.0%
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหาร ไทยธนชาติหรือ ทีทีบีกล่าวว่า หากเทียบกับปีที่แล้ว สิ่งที่เราเห็นคือ ลูกค้ามีโครงการลงทุนมากขึ้น แต่พอมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องภาษี Tariff ทำให้หลายธุรกิจที่วางแผนจะขยายโรงงานหรือขยายธุรกิจมากขึ้น ต้องชะลอการลงทุน เพื่อดูภาพให้ชัดมากขึ้น ทำให้ลูกค้า Wait &See
ธนาคารเข้าไปคุยกับลูกค้าและบางกลุ่มลูกค้าก็มาขอความช่วยเหลือ โดยพยายามให้ลูกค้าทั้งกลุ่มบ้านและเช่าซื้อเข้าโครงการ คุณสู้ เราช่วย และช่วงนี้ เริ่มมีการพูดถึงเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือลูกค้า SME ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยประคองสถานการณ์ได้
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)กล่าวว่า สศช.ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 1.8% ทำให้ภาคการท่องเที่ยวอาจจะโตไม่ได้ตามคาด ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ต้องปรับเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 35 ล้านคน แต่ไม่ลดเป้าหมายรายได้
จำนวนคนลดลง ย่อมมีผลต่อการจ้างงานของผู้ประกอบการบางส่วน ขณะที่กำแพงภาษี ทำให้มีผลต่อการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ดังนั้น โรงงานที่รับผลกระทบอาจลดการจ้างงานและงบประมาณค่าใช้จ่ายขององค์กรลดลง
เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักทั้ง 2 ส่วนได้รับผลกระทบทั้งคู่ ย่อมมีผลต่อ GDP ที่ถูกประเมินลดเหลือ 1.8 % ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ ในส่วนของภาคการส่งออก เจรจากับสหรัฐฯ ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด การหาตลาดทดแทน สำหรับสินค้าบางประเภท ที่มีผลกระทบ และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับภาคการท่องเที่ยว จะต้องออกมาตรการกระตุ้นตลาดจีนให้กระทบน้อยที่สุดหรือรักษาฐานการตลาดจากปี 2567 ให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด การจัดสรรงบประมาณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดที่มีแนวโน้มลดลง และสนับสนุนการหาตลาดทดแทน การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกาปรับตัว และสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่เป็นสนับสนุน การท่องเที่ยวภายในประเทศ
นางวัลลภ ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)หรือ AWC กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าเรื่องภาษีทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนโดยอ้อม ซึ่งต้องดึงให้เกิดการเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในช่วงปรับตัว แต่ธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่ม Quality Demand หรือนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ AWC ยังคงเดินทางมาเที่ยวไทยต่อเนื่อง โดยยังเห็นตัวเลขเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านม แต่กลุ่มประชุมสัมมนายังชะลอการเดินทางมาไทยอยู่บ้าง จึงต้องหาวิธีกระตุ้น เพื่อให้โมเมนตัมกลับมา
ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มแมส (Mass) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน อาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก แต่โรงแรมก็ได้รับการชดเชยจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมยังคงดีขึ้นสำหรับธุรกิจโรงแรมของ AWC แต่สำหรับโรงแรมที่ไม่ได้จับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ การชลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนก็อาจมีผลกระทบ ที่ต้องปรับตัว
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งเอเชียแปซิฟิก (FARPA) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.8% เป็นครั้งที่ 2 จากเดิมที่ลดจาก 2.5% เหลือ 2.3% ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้ภาคเอกชนทบทวนแผนล่วงหน้าอยู่แล้ว โดยไม่รอตัวเลขจีดีพี
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมไตรมาสแรกยังดี แต่การบริโภคที่อ่อนตัวลง การลงทุนภาครัฐที่ยังไม่เกิด การลงทุนภาคเอกชนมีเข้ามาเบ้าง แต่ไม่ชัดเจนและภาคการท่องเที่ยวที่แผ่วลง จะส่งผลต่อไตรมาส 2 และ3 ขณะนี้เหลือเพียงการใช้จ่ายงบ 1.57 แสนล้านบาทว่า จะนำไปใช้และทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างงานได้ในระยะสั้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนได้มากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่ให้กับการบริโภคโดยตรงแต่ไม่เกิดการหมุน
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวว่า GDP ไทยปีนี้ที่จะขยายตัวเพียง 1.8% ถือเป็นการตอกย้ำความน่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญสถานการณ์น่าเป็นห่วงจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจไทยไม่เคยเติบโตเกิน 3.0% มาตั้งแต่ปี 2562 และยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วน 35% ของ GDP ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 6.48 ล้านล้านบาทในปี 2567 และมีการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน หรือ 70% ของการจ้างงานภาคเอกชนทั้งหมด แต่โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการผลิต เพื่อการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้เอสเอ็มอีเผชิญกับความท้าทายสำคัญที่เรียกว่า “5 กับดัก” ได้แก่ 1. กับดักหนี้ 2. กับดักคน 3. กับดักทุน 4.กับดักเทา และ 5. กับดักรัฐ หากไม่มีการปรับโครงสร้างและยกระดับอย่างเป็นระบบ เงินทุนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์เอสเอ็มอีได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า หากมองในแง่ดี GDP ไทยอาจไม่ต่ำถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปีนี้ไทยมีปัญหาเยอะ มีปัญหารอบด้านจนเศรษฐกิจเกิดความถดถอย แข่งขันกับประเทศอื่นยากขึ้น
“เศรษฐกิจไทยปี 2568 หนักกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน สงครามการรบอาจลดน้อยลง แต่สงครามการค้าร้อนระอุ ซึ่งศักยภาพของทุกอุตสาหกรรมไทยยังพอเดินหน้าต่อไปได้และอุตสาหกรรมใหญ่ในภาคการส่งออกของไทยยังแข็งแรง สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องให้ความจริงจังในการจัดการรวมถึงดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม พยายามอย่ายึดติดกับภาพลักษณ์ทางการเมืองมากเกินไป ต้องจริงจังกับนโยบาย ไม่ว่าจะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เรื่องพลังงาน ฯลฯ” นายนาคาญ์ กล่าว
โฆษณา