World เปิดตัวอุปกรณ์ "Orb" ในไทย เทคโนโลยีสแกนม่านตาที่แยกคนจริงจาก AI และบอทให้คุณ ผ่าน World ID พร้อมลุยในธุรกิจซื้อตั๋ว ตั้งเป้า 2 ล้านผู้ใช้ในไทยปีนี้
ในยุคที่เทคโนโลยี AI และ Deep Fake กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การแยกแยะระหว่างมนุษย์จริงกับ AI บอทในโลกออนไลน์กำลังเป็นความท้าทายที่สำคัญ เทคโนโลยี "World" ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยล่าสุดได้เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
นายภัคพล ตั้งตงฉิน Country Manager ของ World (Thailand) ผู้จัดการ World ประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" และสื่อในเครือเนชั่น ถึงความท้าทายในยุคที่ AI กำลังก้าวหน้า
"ปัจจุบันเราจะมองไม่ออกเลยว่าคนจริงกับ AI กับบอทมันต่างกันยังไง แม้แต่ปัจจุบันเราก็จะเห็น Deep Fake ที่เป็นวิดีโอเนียนมาก ต่อไปแม้แต่ในการประชุมผ่าน Zoom หรือ Microsoft Teams เราจะดูไม่ออกแล้วว่าคนที่เราคุยอยู่ด้วยเป็น AI หรือเป็นคนจริง"
เทคโนโลยี World ยืนยันตัวตนด้วยม่านตา
World ถูกก่อตั้งโดย Sam Altman (แซม อัลท์แมน) หลังจากที่เขามองเห็นปัญหาในอนาคตว่า AI จะส่งผลกระทบต่อการยืนยันตัวตนในโลกออนไลน์
"เหลืออยู่อย่างเดียวที่เขาเชื่อว่าจะสามารถยืนยันความเป็นคนออกจาก AI ได้ในระดับที่เรียกว่า Population Scale คือม่านตา เพราะว่าม่านตามีความซับซ้อน มีความละเอียดอ่อนเส้นสายในตาที่สูงที่สุด แม้แต่ฝาแฝดก็ไม่เหมือนกัน"
จากแนวคิดนี้ World จึงสร้างอุปกรณ์ที่เรียกว่า "Orb" ขึ้นมา ทำหน้าที่ถ่ายภาพม่านตาแล้วแปลงเป็นรหัสดิจิทัล (Iris Code) โดยไม่มีการเก็บภาพม่านตา แต่จะเก็บเฉพาะรหัสที่เข้ารหัสแล้วไว้ในมือถือของผู้ใช้งานเท่านั้น
เมื่อผู้ใช้งานทำการยืนยันตัวตนกับ Orb แล้ว จะได้รับสิ่งที่เรียกว่า "World ID" ซึ่งภัคพลเปรียบเทียบว่าคล้าย Digital Passport แต่แตกต่างตรงที่ไม่ผูกกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
"World ID เขาตั้งใจให้เป็นมาตรฐานแรกที่ข้ามทั้งโลกเลย ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหนก็คือระบบใช้มาตรฐานเดียวกัน" ภัคพลอธิบายให้เห็นภาพ
หลังจากได้รับ World ID แล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าสู่ระบบนิเวศของ World ได้ ซึ่งเป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่งที่มีแต่คนจริงเท่านั้น ไม่มี AI หรือบอท ทำให้ผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างสบายใจ
ระบบนิเวศของ World กับ 5 ผลิตภัณฑ์หลัก
ภัคพลได้อธิบายถึงองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศ World 5 ส่วน ได้แก่
ล่าสุด World กำลังเจรจากับพาร์ทเนอร์หลายราย เพื่อนำ World ID ไปใช้ในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Ticketing เพื่อแก้ปัญหาบอทกวาดซื้อตั๋ว และจะมีการจับมือกับแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ของไทยเพื่อใช้ World ID เป็นมาตรฐานใหม่
"เราตั้งใจจะทำให้มีแอปพลิเคชันบน World ที่พัฒนาโดยนักพัฒนาชาวไทย เราจะมีการตั้ง Grant ส่วนหนึ่งเพื่อจูงใจให้นักพัฒนามาสร้างแอปบน World ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาไทยสามารถสร้างแอปเข้าไปอยู่ในเน็ตเวิร์คนี้ แล้วให้สาธารณชนทั่วโลกเข้าถึงแอปพลิเคชันเหล่านั้นได้"
ภัคพลตั้งเป้าหมายในประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ว่า จะออนบอร์ดผู้ใช้งานให้ได้ 2 ล้านคน และมีบริษัทใช้ World ID อย่างน้อย 5 รายขึ้นไป นอกจากนี้ ยังต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาของ AI และบอทในอนาคต
การรับรองทางกฎหมาย
ภัคพลยืนยันว่า World ได้รับการรับรองจาก PDPC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกฎหมาย PDPA ในไทย โดยได้รับการยืนยันว่าไม่มีปัญหาทางกฎหมาย โดยในประเทศไทย World ดำเนินการผ่านความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท Tools For Humanity (ที่ภัคพลสังกัด), บริษัท MVP (ดูแลการดำเนินงานและการตั้ง Orb) และองค์กร TIDC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และ National Telecom (NT)