Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 พ.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อธิบาย EV/EBITDA ตัวช่วยประเมินมูลค่าหุ้น ให้ลึกกว่าการดู P/E
P/E ต่ำ คือหุ้นถูก P/E สูง คือหุ้นแพง มักจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่นักลงทุนมือใหม่เข้าใจ เมื่อพูดถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว อัตราส่วน P/E นั้น แม้จะเข้าใจได้ง่าย แต่ก็ค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้บางครั้งหุ้น P/E ต่ำ ก็อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีอย่างที่เราคิด
เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราต้องการเป็นนักลงทุนที่เก่งขึ้น การคิดให้ละเอียดขึ้นอีกชั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
เช่นเดียวกันกับการประเมินมูลค่าหุ้น ที่เราสามารถดูอัตราส่วนการประเมินมูลค่าอื่น ๆ ประกอบ เพื่อปิดจุดอ่อนของการประเมินมูลค่าอีกแบบหนึ่ง
อย่างเช่น อัตราส่วน EV/EBITDA ที่เราสามารถใช้ดูประกอบกันกับ อัตราส่วน P/E นั่นเอง
แล้วอัตราส่วน EV/EBITDA คืออะไร ? ทำไมเอามาดูประกอบอัตราส่วน P/E แล้ว จะทำให้เราประเมินมูลค่าได้ดีขึ้น ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
อัตราส่วน P/E นั้น จะคำนวณจากการนำ มูลค่าบริษัทตามราคาตลาด หรือ Market Cap ซึ่งมาจากการนำ ราคาหุ้นในตลาดคูณจำนวนหุ้นทั้งหมด แล้วหารกับกำไรสุทธิของบริษัท
เช่น บริษัท A มี Market Cap 1,800 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิ 300 ล้านบาท ก็จะทำให้
อัตราส่วน P/E บริษัท A = 1,800 / 300 = 6 เท่า
ก่อนที่เราจะเอาอัตราส่วน P/E ไปเทียบกันกับบริษัทอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน หรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
ทำให้อัตราส่วน P/E นั้น มีข้อจำกัดอยู่หลัก ๆ แล้วประมาณ 3 เรื่อง
1. โครงสร้างเงินทุนมีผลกับอัตราส่วน P/E
ในแต่ละอุตสาหกรรม ก็จะมีหุ้นที่ P/E สูงกว่า ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่เสมอ จากการที่ผู้คนมองว่าบริษัทนั้น มีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ หรือมีโมเดลธุรกิจ ที่น่าสนใจกว่าบริษัทอื่น
จนทำให้ผู้คนพากันเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทนั้น จนอัตราส่วน P/E สูงกว่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม บางบริษัทที่มีหนี้สินจำนวนมาก ก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นต่ำลง เพราะถูกดอกเบี้ยเงินกู้กัดกิน และทำให้อัตราส่วน P/E สูงขึ้น จนมาเกือบเท่า ๆ กับบริษัทที่มีคุณภาพ
ทำให้การนำอัตราส่วน P/E มาเปรียบเทียบกัน แม้ในอุตสาหกรรมเดียวกันแบบตรง ๆ ก็อาจจะไม่ได้บอกถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องการเงิน
1
หรือในอีกมุมหนึ่ง บริษัทที่มีหนี้สินสูงมาก ผู้คนก็ไม่เสี่ยงที่จะเข้าไปซื้อ หรือคนที่มีอยู่ก็พากันเทขาย จนทำให้อัตราส่วน P/E ต่ำ
เราที่เข้าไปซื้อเพราะเห็นว่าเป็นหุ้นถูก อาจจะได้เจอกับสิ่งที่เรียกว่า “กับดักมูลค่า” แทนก็เป็นได้
1
2. ไม่เหมาะกับบริษัทที่มีค่าเสื่อมสูง
แม้ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่าง ๆ จะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปเป็นเงินสดจริง ๆ
แต่ค่าเสื่อมราคานั้น จะกระทบกับกำไรสุทธิโดยตรง เพราะค่าเสื่อมราคาจะกระจายตัวอยู่ในทั้งต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายจากการขายและการบริหาร
เพราะฉะนั้น บริษัทที่มีค่าเสื่อมราคาสูง จากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น เครื่องจักร, โรงงาน, โครงข่ายสัญญาณ หรืออาคารสินทรัพย์ ก็จะมี P/E ที่สูงมาก จนดูมีมูลค่าแพงกว่าบริษัทอื่น
ทั้งที่ผลประกอบการ และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ไม่ได้ต่างกันมาก
3. ได้รับผลกระทบจากรายการพิเศษ
กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาในบางครั้ง อาจจะไม่ได้มาจากผลประกอบการที่เติบโตเพียงอย่างเดียว
แต่สามารถมาจากรายการพิเศษ อย่างเช่น การขายสินทรัพย์ หรือการขายบริษัทย่อย จนทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้เป็นครั้งคราว
ต่างกับการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้เรื่อย ๆ
ทำให้บางครั้งอัตราส่วน P/E ของบริษัทที่ต่ำ จนดูน่าสนใจ อาจจะต่ำแค่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น จากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากรายการพิเศษนั่นเอง
แล้วการดู EV/EBITDA จะเข้ามาช่วยปิดข้อจำกัดเหล่านี้ได้อย่างไร ?
ด้วยการที่ Enterprise Value หรือมูลค่ากิจการ จะเป็นการมองในมุมของคนที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งกิจการ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงทั้งหนี้สินและเงินสดของบริษัท
ทำให้ Enterprise Value จะคำนวณโดยการใช้ Market Cap บวกกับหนี้สินรวม และหักด้วยเงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด
เช่น จากตัวอย่างบริษัท A ซึ่งมี Market Cap 1,800 ล้านบาท เหมือนเดิม แต่เรารู้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทมีหนี้สินรวมเท่ากับ 7,000 ล้านบาท พร้อมเงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด 1,000 ล้านบาท
บริษัท A จะมี Enterprise Value อยู่ที่
Enterprise Value = 1,800 + 7,000 - 1,000 = 7,800 ล้านบาท
ส่วน EBITDA นั้นก็คือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย
ซึ่งเป็นกำไรจากการทำธุรกิจ ที่บวกค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดเข้าไป
ถ้าหากสมมติให้ EBITDA ของบริษัท A เท่ากับ 500 ล้านบาท ก็จะทำให้บริษัท A มีอัตราส่วน EV/EBITDA เท่ากับ 15.6 เท่า
โดยวิธีใช้อัตราส่วน EV/EBITDA ก็เหมือนกันกับอัตราส่วน P/E นั่นก็คือ นำไปเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน
ข้อดีของ EV/EBITDA นั้นก็คือ เหมาะกับการเปรียบเทียบความถูกแพง ของบริษัทที่มีโครงสร้างทางการเงินที่ต่างกัน ได้แม่นยำกว่าการใช้ P/E เพียงอย่างเดียว
จากการใช้ Enterprise Value ที่คำนึงถึงทั้งหนี้สินและเงินสดของบริษัท ในการคำนวณ
นอกจากนี้ การใช้ EBITDA คำนวณ ก็จะทำให้อัตราส่วน EV/EBITDA มีความผันผวนน้อยกว่า เพราะคิดจากกำไรในการทำธุรกิจ
อีกทั้ง EBITDA ยังไม่ค่อยมีรายการพิเศษ ที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นครั้งคราว เหมือนกำไรสุทธิด้วย
จะเห็นได้ว่า แม้เราจะเจอหุ้นบริษัท A ที่ดูเหมือนถูก ด้วยการมีอัตราส่วน P/E ต่ำแค่ 6 เท่า
แต่เมื่อดูจากอัตราส่วน EV/EBITDA ซึ่งคำนวณ หุ้นบริษัท A กลับกลายเป็นเหมือนหุ้นแพงที่มีอัตราส่วน EV/EBITDA สูงถึง 15.6 เท่า
ซึ่งการเลือกมองแค่อัตราส่วน P/E ก็อาจจะทำให้เราเห็นภาพเพียงแค่ครึ่งเดียว ว่าบริษัทมีมูลค่าต่ำและยังทำกำไรสุทธิได้อยู่ แต่ไม่ได้มองเรื่องโครงสร้างการเงินของบริษัท ที่มีหนี้สินมากแต่เงินสดน้อย
ทว่าสุดท้ายก็ยังมีข้อที่เราควรต้องระวังอยู่ นั่นก็คือ ถ้าหากหุ้นทั้งตลาดหรืออุตสาหกรรมกำลังร้อนแรง
ก็จะทำให้ ไม่ว่าจะใช้อัตราส่วน P/E และอัตราส่วน EV/EBITDA เราก็มีโอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นที่ราคาแพงอยู่ดี
หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุน จึงต้องมองให้รอบด้าน มากกว่าอัตราส่วนทางการเงิน และการประเมินมูลค่า รวมไปถึงอนาคตการเติบโตของบริษัทอย่างเป็นเหตุเป็นผล
เพื่อให้เราเจอกับสุดยอดการลงทุน ที่จะสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวให้เราได้อย่างแท้จริง..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#ประเมินมูลค่าหุ้น
References
-
https://stock2morrow.com/article/5961?utm_source=chatgpt.com
-
https://article.bualuang.co.th/article/enterprisemultiple/?utm_source=chatgpt.com
-
https://www.investopedia.com/ask/answers/072915/how-can-evebitda-be-used-conjunction-pe-ratio.asp?utm_source=chatgpt.com
-
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/119-tsi-are-low-price-stocks-a-trap
-
https://fastercapital.com/topics/disadvantages-of-pe-ratio.html
หุ้น
การลงทุน
34 บันทึก
17
17
34
17
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย