23 พ.ค. เวลา 03:30 • ธุรกิจ

แกะตำรา Nokia Kodak BlackBerry ตายแล้วฟื้น ตื่นขึ้นมาอย่างไร ?

หลายคนชอบพูดว่า Kodak Nokia หรือ BlackBerry เป็นเคสธุรกิจคลาสสิก ที่เจ๊งและตายไปแล้ว
จนคิดกันไปว่า ทั้ง 3 ธุรกิจนี้ คงไม่น่าพลิกฟื้นมาได้ หรือหายไปจากวงการธุรกิจเรียบร้อย
1
แต่จริง ๆ คือไม่เลย ทั้ง 3 ธุรกิจนี้ สามารถพลิกตัวเองจากวิกฤติครั้งใหญ่ และกลับมายืนได้อย่างมั่นคง แม้วันนี้อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อนแล้วก็ตาม
แล้วทั้ง 3 ธุรกิจ ตายแล้วฟื้นมาได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เราคงรู้ดีว่า สมัยก่อน 3 ธุรกิจนี้มีชื่อเสียงมาก
แต่เด็กที่เกิดในยุคหลัง ๆ คงไม่ทันกันแล้ว
Nokia เคยเป็นโทรศัพท์มือถือยอดฮิตที่เกือบทุกคนใช้กัน
Kodak เคยเป็นผู้นำกล้องฟิล์มสุดฮิตที่ใช้ถ่ายภาพ
BlackBerry เคยเป็นสมาร์ตโฟนที่ครองส่วนแบ่งตลาด 20% ของโลก
เรียกได้ว่า ถ้าใครไม่มีของที่ว่านี้ ก็จะกลายเป็นคนที่ตกยุค
ไม่ทันสมัยไปเลยในตอนนั้น
แต่ในเวลาต่อมา ของเหล่านี้เริ่มเสื่อมความนิยมลง
ซึ่งไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีของบริษัทพวกนี้ล้าหลัง แต่เพราะการยึดติดกับอะไรเดิม ๆ ของบริษัท
1
Nokia ยึดติดกับระบบปฏิบัติการ Symbian ของตัวเอง
ที่เคยใช้งานได้ดีกับโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกด แม้จะคิดค้นระบบปฏิบัติการใหม่ Maemo ที่ใช้งานบนแท็บเล็ตได้แล้ว
จนในที่สุดคู่แข่งอย่างระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ที่ใช้งานได้ดีบนโทรศัพท์มือถือ ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ Nokia ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงมาตั้งแต่ตอนนั้น
Kodak ยึดติดกับธุรกิจกล้องฟิล์มของตัวเอง ที่ทำกำไรได้ดี แม้จะเคยคิดค้นกล้องดิจิทัลได้นานแล้ว แถมยังเคยซื้อ Otofo เว็บไซต์แบ่งปันภาพถ่ายที่คล้ายกับ Facebook หรือ IG ในปัจจุบัน
ส่วน BlackBerry ก็ยึดติดกับโทรศัพท์มือถือแป้นพิมพ์ปุ่มกด และระบบส่งข้อความ BB ของตัวเอง จนโดนค่ายโทรศัพท์มือถือ
และแอปส่งข้อความอื่น ๆ แย่งตลาดไปเรื่อย ๆ แทน
1
สุดท้าย ก็กลายเป็นเรื่องราวคลาสสิกให้ได้จดจำกันว่า Nokia Kodak และ BlackBerry ในสมัยก่อนเคยยิ่งใหญ่มากแค่ไหน และกลายเป็นกรณีศึกษาของวิชาธุรกิจ ว่าพวกเขาทำอะไรพลาดไป
1
แต่ปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ว่าธุรกิจพวกนี้จะหายไปเลย แต่ยังสามารถอยู่รอดได้ แม้วันนี้ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อน
1
Nokia เคยมีมูลค่าบริษัท 7,200,000 ล้านบาท
วันนี้เหลือแค่ 950,000 ล้านบาท
Kodak เคยมีมูลค่าบริษัท 980,000 ล้านบาท
วันนี้เหลือแค่ 16,000 ล้านบาท
BlackBerry เคยมีมูลค่าบริษัท 2,500,000 ล้านบาท
วันนี้เหลือแค่ 75,000 ล้านบาท
1
ซึ่งถ้าถามว่า 3 ธุรกิจนี้รอดจากวิกฤติครั้งใหญ่มาได้อย่างไร คำตอบก็คือ “ตัด เพิ่ม และสร้าง”
2
เริ่มกันที่ “ตัด”
1
ทั้ง 3 ธุรกิจนี้เลือกตัดแขน ตัดขาตัวเองทิ้ง เพื่อรักษาความอยู่รอดของบริษัทต่อไปได้
Nokia ตัดสินใจขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือให้กับ Microsoft ในปี 2014
รวมทั้งขายบริการแผนที่ GPS ให้กับบริษัทรถยนต์อย่าง Audi, BMW และ Daimler เพื่อมาโฟกัสธุรกิจที่ตัวเองยังพอแข่งขันได้
8
Kodak ตัดสินใจล้มละลายในปี 2012 เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของตัวเองใหม่ทั้งหมด
BlackBerry ตัดสินใจขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือของตัวเองไปให้ TCL
ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนในปี 2016 แม้จะเคยเป็นธุรกิจลูกรักของบริษัทมาอย่างยาวนาน
4
แม้เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดแค่ไหน แต่การเลือกทิ้งอะไรบางอย่างไว้ข้างหลัง ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปข้างหน้าได้
เมื่อตัดธุรกิจที่เป็นปัญหาทิ้งไปแล้ว ทั้ง 3 บริษัท ก็หันมา “เพิ่ม” โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองเคยเก่งก่อนหน้านี้
Nokia หันไปเน้นบริการด้านโทรคมนาคมแบบครบวงจร ตั้งแต่ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการวางโครงข่ายสื่อสาร ทั้งบนบกและใต้น้ำ ให้กับองค์กรต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังใช้จุดเด่นที่ตัวเองมีสิทธิบัตร AI จากการเป็นเจ้าของ Bell Labs (หน่วยวิจัยระดับโลก ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมเทคโนโลยี) ไปขายต่อให้กับบริษัทที่ต้องการใช้สิทธิบัตรพวกนี้ไปได้เรื่อย ๆ
Kodak หันไปเน้นบริการเครื่องพิมพ์ให้กับลูกค้าองค์กร
แทนที่จะเน้นลูกค้าคนทั่วไปเหมือนเดิม รวมไปถึงขายบริการซอฟต์แวร์จัดการภาพและข้อมูลให้องค์กรอีกด้วย
ส่วน BlackBerry ก็หันมาให้บริการด้านความปลอดภัยของข้อมูล จากระบบปฏิบัติการ QNX ที่ตัวเองเคยใช้บนโทรศัพท์มือถือ BlackBerry ก่อนหน้านี้
1
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ธุรกิจไม่ได้กลับไปมองว่า คู่แข่งของตัวเองทำอะไร แต่หันกลับมามองตัวเองว่า
แล้วเราจะใช้ความเก่งที่เคยมีมาอย่างไรได้บ้างต่างหาก
แต่ทั้ง 3 ธุรกิจก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะยัง “สร้าง” ตลาดที่ใหญ่ขึ้นสำหรับธุรกิจของตัวเองอีกด้วย
ปัจจุบัน Nokia ไม่ได้ทำธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้บริการ Cloud ที่ช่วยจัดการโครงสร้าง
พื้นฐานเทคโนโลยีหลังบ้านให้กับบริษัทต่าง ๆ
ส่วน Kodak ก็รุกตลาดบริการ Advanced Materials อย่างแผ่นฟิล์ม ซึ่งถูกใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ที่เป็นมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ในขณะที่ BlackBerry เอง หลังจากซื้อบริษัทจัดการความปลอดภัยของข้อมูลมาเพิ่มเติม ตอนนี้ก็กลายเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการข้อมูลในรถยนต์กว่า 200 ล้านคันทั่วโลก
และลูกค้าหลักตอนนี้ ก็คือบรรดาบริษัทรถยนต์ทั่วโลก
ที่ซื้อบริการนี้ไปใช้ เช่น BMW, Ford, General Motors, Toyota, Audi, Volkswagen และ Volvo
1
จนปัจจุบัน เราอาจไม่รู้ตัวเลยว่า รถยนต์ที่เราขับกันอยู่
มี BlackBerry ที่เคยเป็นโทรศัพท์มือถือที่ตายและตกยุคไปแล้ว
กลับเปลี่ยนรูปร่างมาเป็นซอฟต์แวร์ที่มองไม่เห็นแทน
สรุปแล้ว ถ้าถามว่าตำราพลิกฟื้นวิกฤติที่ Nokia Kodak และ BlackBerry ใช้คืออะไร คำตอบสั้น ๆ ก็คือ
- ตัดธุรกิจที่มีปัญหาออกไป
- เพิ่มโฟกัสกับจุดแข็ง ที่ตัวเองมีอยู่แล้ว
- สร้างตลาดใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิมขึ้นมา
2
แม้ว่าวันนี้บริษัทอาจไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อน แต่อย่างน้อยบริษัทเหล่านี้ ก็สามารถรักษาลมหายใจ และชื่อของตัวเอง ไว้บนโลกนี้ต่อไปได้
ซึ่งปัจจุบัน Nokia และ Kodak มีกำไรแล้ว
ขณะที่ BlackBerry ยังขาดทุนและมีกำไรในบางปี โดยในปีที่แล้ว ขาดทุนราว 2,600 ล้านบาท
1
แต่แน่นอนว่า Nokia Kodak และ BlackBerry ก็คงเป็นภาพจำความล้มเหลวของธุรกิจไปอีกนาน ที่กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้บริษัทต่าง ๆ ได้เรียนรู้ไม่จบไม่สิ้น
ก็ไม่แน่ว่า ในโลกที่มี AI เข้ามาเป็นเทคโนโลยีหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
เราก็อาจจะเห็น Nokia 2, Kodak 2 หรือ BlackBerry 2 จากธุรกิจที่ซ้ำรอยเดิมในการปรับตัวไม่ทันตลาด ก็เป็นได้
ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ตำราฝ่าวิกฤติของ 3 ธุรกิจนี้
ก็คงได้ใช้อีกครั้งอย่างแน่นอน..
โฆษณา