Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
23 พ.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แบงก์แห่ชิงเค้กรายได้ค่าธรรมเนียม แก้เกมรายได้ดอกเบี้ยทรุด
รายได้ค่าธรรมเนียมธนาคาร 5 ปีโตเฉลี่ย 5.5% ท่ามกลางรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง สศช.เผยไตรมาสแรกปี 68 รายได้ธนาคารพาณิชย์ลดครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส กสิกรไทยเตือน เศรษฐกิจชะลอตัวกดรายได้ค่าธรรมเนียมโตต่ำ
สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2568 ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ลดลง 1.65% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 6.69% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 ตามการลดลงจากรายได้ดอกเบี้ยเป็นสำคัญ
ขณะที่รายจ่ายธนาคารพาณิชย์ไทยมีรายจ่ายลดลง 3.11% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 5.57% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายสำคัญที่ลดลง คือ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ 3.04% เทียบกับ 3.24% ในไตรมาสก่อนหน้าและ 3.23% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
แหล่งข่าวเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงกระแสข่าวธนาคารพาณิชย์ในระบบจะกลับมาเก็บค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตรายปี เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมทดแทนรายได้ดอกเบี้ยปรับลดลงว่า ปกติทุกธนาคารจะแจ้งเตือนหรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมลูกค้า ภายใต้เงื่อนไขที่ได้กำหนดวงเงินหรือยอดการใช้จ่ายต่อบัตรแต่ละประเภทอยู่แล้ว
เพียงแต่ที่ผ่านมา เมื่อธนาคารมีการแจ้งเตือนไปยังลูกค้าลูกค้าสามารถขอยกเว้นได้ แต่เข้าใจว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปทางธนาคารเจ้าของหรือผู้ออกบัตรเครดิตจะมีการควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยจะไม่ยืดหยุ่นหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวเช่นที่ผ่านมา
“เหตุผลที่เข้าใจได้คือ การออกบัตรนั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายและส่วนหนึ่งผู้ถือบัตรก็ใช้บัตรไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการออกบัตร เช่น บัตรเครดิตพรีเมียมหรือ ลูกค้าระดับสูง ลูกค้าต้องการเพียงเพื่อหาที่จอดรถหรือเอกสิทธิ์พิเศษ สำหรับจอดรถในห้างสรรพสินค้า เพราะห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่บริการหลายแห่ง จะสงวนสิทธิ์ให้เฉพาะลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตพรีเมียมหรือบัตรเครดิตบางประเภท”
“ฐานเศรษฐกิจ”ย้อนดูสถิติรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในช่วง 5ปีที่ผ่านมาพบว่า เติบโตเพิ่มขึ้น 5.5% จาก 1.73 แสนล้านบาทปี2563 เป็น 1.83แสนล้านบาทในปี2567
อย่างไรก็ตาม เมื่อหักค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการพบว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 0.9% จาก 1.26 แสนล้านบาทเป็น 1.19 แสนล้านบาท โดยที่ช่วงปี 2565-2566 รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิติดลบเท่ากันในอัตรา 3.7%
สำหรับไตรมาสแรกปี 2568 ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 30,682 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.6% จาก 30,490 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี2567 และเพิ่มขึ้น 1.5% จาก 30,221 ล้านบาท ในไตรมาส 4ปี2567
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) 11 แห่งมีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิรวม 40,414 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.7% จาก 40,130 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567
โดยที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (D- SIBs) 6 แห่งมีเพียง 2 แท่งเท่านั้น ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นคือธนาคาร กรุงเทพ เพิ่มขึ้น 9.6% และธนาคาร กสิกรไทย เพิ่มขึ้น 1.12% และอีก 4 แห่ง รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง
ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ปี 2563-2567มีทั้งสิ้น 14 รายการประกอบด้วย
1. การรับรองรับอาวัลและค้ำประกัน
2. บัตรเครดิต
3. บริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
4. บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน
5. บริการที่ปรึกษา
6. ค่าธรรมเนียมจัดการ
7. การจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้
8. การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า
9. ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค
10. ค่าธรรมเนียมการออกเล็ตเตอร์ออฟเครคิต
11. ค่านายหน้า
12. รายได้ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้
13. รายได้ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
14. ค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รายได้ค่าธรรมเนียมก้อนใหญ่ (เงินโอน) ที่หายไปหลังการปรับโครงสร้างเมื่อปี 2561 ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ
ส่วนแนวโน้มปี2568 คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมอาจจะไม่เติบโตไปมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนักและแย่กว่าปีที่แล้ว
ประกอบกับ มีความเสี่ยงที่อาจจะเติบโตต่ำหรือไม่ฟื้นตัวกลับมา เพราะฐานที่สูงในปีที่แล้ว ซึ่งปีที่แล้วรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ 1.83 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโตในอัตรา 2.4% จาก 1.79 แสนล้านบาทในปี 2566 ซึ่งมีอัตราการเติบโต 1.2% จากปี2565 แต่ปีนี้อาจจะโตต่ำหรือไม่โตเลย เพราะภาพใหญ่กิจกรรมในประเทศบางเบา
สำหรับกำไรของธนาคารพาณิชย์ จะแบ่งเป็น 2ส่วนคือรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 76.9% และส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีสัดส่วน 23.1% ซึ่งรายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนประมาณ 63.8% ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยนั้นประกอบด้วย 4 ตัวหลักคือ ค่าธรรมเนียมและบริการ, กำไรจากเงินลงทุน, กำไรจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่ายุติธรรมและรายได้อื่นๆ
“ประมาณการรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้โตต่ำกว่าปีก่อนและมีโอกาสจะไม่โต โดยเฉพาะหากความเสี่ยงเศรษฐกิจลากยาวตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ที่ตอนนี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังเยอะ เศรษฐกิจในประเทศไม่ค่อยมีแรงขับเคลื่อน ซึ่งค่าธรรมเนียมหลายตัวจะขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้เหล่านั้นเติบโตไม่หวือหวาหรือลุ่มๆดอนๆ”
นางสาวกาญจนากล่าวต่อว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเป็นตัวเดียวที่ยังพอไปได้ เพราะหากเทียบกับช่วงโควิด-19 รายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเป็นตัวสำคัญของธนาคาร แต่ค่าธรรมเนียมตัวอื่นๆ อาจติดลบหรือเติบโตลดเตี้ยลง และมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทาย อาจทำให้กิจกรรมในประเทศบางเบาลง
ทั้งนี้ เรื่องค่าธรรมเนียมเป็นโจทย์ต่อเนื่องตั้งแต่ค่าธรรมเนียมเงินโอน ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ที่หายไป แม้ธนาคารพยายามจะหาแหล่งรายได้ใหม่มาทดแทน แต่ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก
ดังนั้น จะเห็นธนาคารพาณิชย์พยายามลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงอีกในช่วงที่เหลือของปี 2568 ซึ่งเป็นความพยายามที่ทำมาอย่างต่อเนื่องในการปรับลดค่าใช้จ่ายและดูแลต้นทุนของตัวเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
2 บันทึก
11
6
2
11
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย