24 พ.ค. เวลา 03:30 • ธุรกิจ

ยอดขาย Temu -10% และ SHEIN -15% ในสหรัฐฯ หลังโดนภาษี สกัดสินค้าจีน

ช่วงก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง “Temu” และ “SHEIN” นั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการเข้าไปทำตลาดในสหรัฐฯ
สะท้อนได้จากยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใน App Store ของสหรัฐฯ ซึ่ง Temu อยู่ในอันดับ 1 เมื่อปี 2024
ขณะที่ SHEIN ก็อยู่ในอันดับต้น ๆ มาตลอด
แต่ความร้อนแรงดังกล่าว กลับค่อย ๆ ลดลง
และเราอาจไม่ได้เห็นทั้งคู่อยู่ในจุดเดิมอีกแล้วก็เป็นได้
หากลองดู ยอดขายสินค้าในสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ปี 2025
- Temu ยอดขายเฉลี่ยลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- SHEIN ยอดขายเฉลี่ยลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกันแน่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
SHEIN เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน ที่เข้ามาทำตลาดในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2017 โดยเน้นขายเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น
ส่วน Temu ก็เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนเช่นกัน มีเจ้าของคือ Pinduoduo และเข้ามาทำตลาดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2022
ทั้งสองรายได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศจีน มีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับรายอื่น เช่น Amazon
ต้องบอกว่าปัจจัยที่เอื้อให้ Temu และ SHEIN นำเข้าสินค้าราคาถูกมาขายได้ คือ กฎหมายของสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า “De Minimis”
กฎหมายข้อนี้ เป็นมาตรการทางศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 26,500 บาท
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับใช้กันมาตั้งแต่ปี 2016 เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มีความสะดวกมากขึ้น และลดภาระการตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐ
ผลลัพธ์คือ สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าตามเกณฑ์ของ De Minimis เพิ่มขึ้นมหาศาล
ปี 2016 มูลค่าสินค้าตามเกณฑ์ของ De Minimis 300,000 ล้านบาท
ปี 2023 มูลค่าสินค้าตามเกณฑ์ของ De Minimis 1,800,000 ล้านบาท
โดยสินค้าจากประเทศจีนนั้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของการนำเข้าทั้งหมดเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ เล็งเห็นว่ากฎหมายนี้
ทำให้ธุรกิจในประเทศต้องเจอการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และยังเพิ่มการขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นด้วย
ทำให้พวกเขาตัดสินใจประกาศยกเลิกกฎหมาย De Minimis ไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2025
ประกอบกับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ซึ่งสำหรับประเทศจีน มีอัตราภาษีอยู่ที่ 145%
แม้ปัจจุบัน สหรัฐฯ กับจีน ได้ตกลงลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นการชั่วคราว 90 วัน แต่สหรัฐฯ ก็ยังเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 30% อยู่ดี
จึงส่งผลให้ Temu และ SHEIN ไม่ได้รับประโยชน์จาก De Minimis อีกต่อไป มิหนำซ้ำยังโดนขึ้นภาษีในทันทีอีกด้วย
พอต้นทุนพุ่งขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งคู่เลยต้องประกาศขึ้นราคาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มในที่สุด
นอกจากนั้น บริษัทยังลดการทุ่มงบโฆษณาโปรโมตบนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงโปรโมชันส่วนลดราคาต่าง ๆ เพื่อประหยัดต้นทุน
โดยค่าใช้จ่ายโฆษณา ในเดือนเมษายน ปี 2025
- Temu ลดลง 31% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
- SHEIN ลดลง 19% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากผู้เล่นรายอื่น ไม่ว่าจะเป็น Amazon ที่เปิดตัวแพลตฟอร์มสินค้าราคาถูกในชื่อว่า Amazon Haul หรือแม้แต่ TikTok Shop ที่กำลังบุกตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น
 
ด้วยเหตุนี้ ความสนใจที่ผู้บริโภคมีต่อแพลตฟอร์ม Temu และ SHEIN จึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของ Temu และ SHEIN จากที่เคยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกอยู่เสมอ ในระยะหลัง ก็ลดลงไปต่ำกว่าอันดับ 80
สอดคล้องกับยอดขายสินค้าในสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ปี 2025
- Temu ยอดขายเฉลี่ยลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- SHEIN ยอดขายเฉลี่ยลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ซึ่งหลังจากนี้ บริษัทคงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจกันไม่น้อย
อย่างเช่น Temu คาดการณ์ความเสี่ยงไว้บ้างแล้ว จึงลงทุนสร้างคลังกระจายสินค้าในสหรัฐฯ เอาไว้
ทำให้สินค้าที่นำเข้ามาก่อนหน้านี้ ไม่โดนผลกระทบจากภาษี
แต่ในวันข้างหน้า Temu ก็ต้องสต๊อกสินค้าใหม่อยู่ดี บริษัทเลยกำลังพิจารณาซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ หรือนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มากขึ้นแทน
ซึ่งสุดท้าย แพลตฟอร์มคงสูญเสียข้อได้เปรียบเรื่องสินค้าราคาถูกไปพอสมควร
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ย่อมมีความเสี่ยงเกี่ยวกับกฎหมายหรือนโยบายที่อาจเปลี่ยนแปลงแบบคาดไม่ถึงได้เสมอ
ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Temu, SHEIN หรือแพลตฟอร์มจีนรายอื่น ๆ ที่เคยชูจุดเด่นด้านราคาและโปรโมชันอีกมากมาย
จะมีวิธีการอะไรใหม่ ๆ ที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน และความยั่งยืนให้กับธุรกิจในต่างประเทศ บนสถานการณ์สงครามการค้าที่ผันผวนตลอดเวลาแบบนี้..
โฆษณา