25 พ.ค. เวลา 09:30 • ไลฟ์สไตล์

4 ทักษะการเงินที่ทุกคนควรมี เข้าใจครั้งเดียว ใช้ได้ตลอดชีวิต

🚗 มีคำพูดหนึ่งที่เคยได้ยินแล้วเกี่ยวกับเงินแล้วติดอยู่ในหัวมาตลอดที่บอกว่า ‘ชีวิตเราก็เหมือนรถยนต์ ส่วนเงินคือน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงที่พาเราไปที่ต่างๆ ได้ แต่รถยนต์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อขับไปเรื่อยๆ เพื่อเติมน้ำมัน แต่คือการรู้ว่าจะไปที่ไหนบ้าง แล้วใช้น้ำมันเพื่อไปให้ถึงตรงนั้น’
2
ไม่รู้ว่าไปได้ยินที่ไหนมา แต่รู้สึกเห็นด้วยกับเรื่องนี้ไม่น้อย
คำพูดนี้อาจฟังดูเรียบง่าย แต่จริงๆ แล้วมันคือรากฐานของทุกการตัดสินใจด้านการเงินที่ดี หากคุณอยากมีชีวิตที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินในทุกช่วงวัย คำตอบไม่ใช่แค่การ “หาเงินให้มากขึ้น” เท่านั้น แต่คือการมี “ทักษะ” ในการจัดการเงินอย่างชาญฉลาดด้วย
📖 ในหนังสือ ‘#เทคนิคเลิกเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่’ ที่เขียนโดย Minimalist Takeru นักเขียนสาย Minimalist ที่เคยประสบปัญหาสภาพร่างกายทรุดหนัก เพราะทำงานหนักเกินไป ป่วยทีก็ต้องหยุดงานเสียค่าหมออีก พยายามเปลี่ยนงานสองสามครั้งแต่ก็ยังไม่ได้ผล
สุดท้ายเขาบอกว่า “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้คือ นอกจากความสามารถในการทำงานแล้ว เรายังต้องเพิ่มความรู้และทักษะเรื่องเงินด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะผิดพลาดแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า การทำทุกอย่างเหมือนเดิมทุกวันหรือการลาออกไม่ได้ช่วยให้เงินงอกเงยขึ้นมาหรอก มีแต่จะทำให้ชีวิตถูกงานและเงินครอบงำเท่านั้น”
นี่คือ 4 ทักษะการเงินสำคัญ ที่เมื่อเข้าใจแล้ว คุณสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน วัยกลางคน หรือแม้กระทั่งวัยเกษียณ เพราะมันไม่ใช่เทคนิคแฟนซี ไม่ใช่สูตรรวยทางลัด แต่คือพื้นฐานทางการเงินที่ไม่มีวันล้าสมัย
✅ [ 1. #ทักษะการออมเงิน: รากฐานของความมั่นคง ]
1
การออมเงินไม่ใช่แค่การ “กันเงินส่วนหนึ่ง” ไว้หลังจากใช้จ่ายแล้ว แต่คือการจัดการชีวิตให้ “มีเหลือ” เพื่ออนาคต
ฟังดูง่าย แต่หลายคนทำไม่ได้
แน่นอนอาจจะด้วยภาระต่างๆ ในชีวิตหรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าเราทำงานแล้วใช้จ่ายจนหมด สิ้นเดือนมาเห็นแต่ตัวแดง ติดลบ กำลังใจในการทำงานจะหายไปหมดเลย
วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าออมส่วนที่เหลือหลังจากใช้จ่ายแล้ว แต่ให้ใช้จ่ายหลังจากที่เก็บออมเสร็จแล้ว”
1
เป็นเทคนิคง่าย ๆ เลย กันเงินไว้ส่วนหนึ่งก่อน จ่ายให้ตัวเองก่อน (ถ้าตอนแรกมันยาก ให้เริ่มน้อยๆ แล้วสร้างให้เป็นนิสัยครับ)​ แล้วที่เหลือค่อยไปบริหารจัดการ
เริ่มจากการ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตรงนี้จะช่วยให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในยุคที่การกดสั่งของออนไลน์ง่ายกว่าการเปิดตู้เย็นเสียอีก เราจึงต้องรู้ว่า “เงินเราหายไปทางไหนบ้าง” ก่อนจะพูดเรื่องเก็บเงิน
✅ [ 2. #ทักษะการหาเงิน: อย่าให้รายได้มีแค่ทางเดียว ]
การประหยัดเก่งแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย ถ้ารายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเองในระยะยาว
คนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่า “การออม” จะนำไปสู่ความมั่งคั่ง ทั้งที่จริงแล้ว “การออม” เพียงอย่างเดียวไม่เคยทำให้ใครรวยได้ หากไม่มี “ทักษะการหาเงิน” ควบคู่กันไป
คุณปิ๊ก-ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ เขียนไว้ในหนังสือ ‘วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 2’ ได้อย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ว่า
“ในยุคนี้ ทุกคนน่าจะยอมรับแล้วว่าการมีรายได้ทางเดียวคือเสี่ยงมาก และการนิ่งเฉยไม่ยอมหาช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ให้ตัวเองคือ สิ่งผิดพลาดใหญ่อันหนึ่งที่เราจะมีให้ตัวเอง
วิธีที่จะลดความเสี่ยงได้ดีที่สุดคือการเริ่มสร้างโอกาสใหม่ให้ตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเก่งแค่เรื่องเดียว ถ้าเรามีความสามารถหลายอย่าง เราก็เอาทุกอย่างที่เรามีออกมาใช้สร้างโอกาสให้ตัวเองตั้งแต่วันนี้
อย่ารอจนความสามารถทางหนึ่งไม่เป็น ที่ต้องการแล้ว ค่อยหยิบเอาความสามารถด้านอื่นขึ้นมาใช้ เพราะมันจะไม่ทันกิน โอกาสจะเป็นของคนที่พร้อมเสมอ ลองหาเวลาคุยกับตัวเองว่าเรามีความสามารถอะไรซ่อนอยู่ในตัวบ้าง รีบปัดฝุ่นขึ้นมาใช้สร้างโอกาสให้ตัวเอง เริ่มต้นไวแค่ไหน เราก็ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น การเป็นคนมีอะไรทำหลายอย่าง กับเป็นคนที่ไม่มีอะไรสักอย่างให้ทำ
อยากให้คนจำเราแบบไหน เราเลือกเองได้ครับ”
ลองตั้งคำถามว่า: ฉันมีทักษะอะไรที่คนอื่นยินดีจ่ายเงินให้? แล้วฝึกฝนทักษะนั้นให้ลึกขึ้นจนกลายเป็นรายได้
✅ [ 3. #ทักษะการเพิ่มเงิน: ให้เงินทำงานแทนเรา ]
เมื่อมีรายได้และเงินออมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ “การต่อยอดเงินที่มีอยู่ให้เติบโต”
ทักษะนี้เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การลงทุนในธุรกิจของตัวเอง และอีกแบบหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ “การลงทุนในตัวเอง” ผ่านการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ต่อยอดรายได้ได้ในอนาคต
ในรายการ ‘Million Mindset’ ของ aomMONEY ‘คุณหนู-ปาริชาติ วงศ์คำ’ เจ้าของฉายาแม่บ้านเงินล้านได้มาแชร์แนวคิดเรื่องการบริหารเงิน ออมเงิน และลงทุนของตัวเอง จบแค่ชั้นประถม 6 และเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 13 ปี อาชีพแม่บ้านที่ทำอยู่รายได้ก็ไม่ได้เยอะอะไร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยเป็นหนี้ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง รู้จักอดออม และก็หาทางเติมความสุขให้กับตัวเองโดยใช้เงินไม่ต้องมาก (สามารถดูสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ในลิงก์คอมเมนต์ครับ)
ประเด็นสำคัญคือตอนนี้คุณหนูก็กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่อิสรภาพทางการเงินของตัวเองได้อย่างมั่นคง ช่วงหลังเกษียณในอีก 9-10 ปีข้างหน้ามีเป้าหมายมีเงินก้อนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายไม่เป็นภาระกับคนอื่น (ไม่ว่าจะครอบครัวหรือแม้แต่รัฐบาลเอง) เงินเดือนไม่มาก แต่เก็บเล็กผสมน้อย ทำให้มันเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ รู้จักกระจายความเสี่ยง ลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
คุณหนูเล่าถึงแนวคิดการสร้างความมั่งคั่งของตัวเองว่า
‘มีสติ อย่ารีบ มันไม่มีอะไรรีบหรอกค่ะ มันไม่มีหรอกที่ลงทุนวันนี้แล้วได้พรุ่งนี้ เป็นร้อยล้านพันล้าน มันไม่มีหรอก ทุกอย่างต้องใช้เวลา”
พลังของดอกเบี้ยทบต้นนั้นมหัศจรรย์จริงๆ ยิ่งเริ่มต้นเร็ว ผลลัพธ์ยิ่งใหญ่
✅ [ 4. #ทักษะการใช้เงิน: ใช้เงินให้คุ้มค่ากับชีวิต ]
เงินที่หามาได้ ควรเป็นเครื่องมือที่ “เสริมชีวิต” ไม่ใช่ทำให้เรากลายเป็นทาสของความเครียด
เหมือนที่บอกไปตั้งแต่ต้นเลยว่าชีวิตเราก็เหมือนรถยนต์ ส่วนเงินคือน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงที่พาเราไปที่ต่างๆ ได้
หลายคนที่เริ่มมีเงิน มักเผลอใช้จ่ายแบบไม่รู้ตัว เพราะ “มีแล้วอยากใช้” จนบางครั้งใช้เงินเพื่อตอบสนองภาพลักษณ์มากกว่าความสุขที่แท้จริง
แบบนี้คือการที่รถยนต์ขับวนไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน
ทักษะการใช้เงิน คือการเรียนรู้ว่าจะใช้จ่ายกับอะไร เพื่อให้ได้ “ความสุข” ในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ใช้เพื่อโชว์ แต่ใช้เพื่อเติมเต็มชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น ใช้เงินกับการเดินทางเพื่อเปิดโลก ซื้อของคุณภาพดีแทนของราคาถูกที่ต้องเปลี่ยนบ่อย หรือจ่ายเพื่อเวลาดีๆ กับครอบครัว
รามิตร เศรษฐี (Ramit Sethi) ผู้เขียนหนังสือการเงินชื่อดังอย่าง “ผมจะสอนให้คุณรวย” กล่าวไว้เสมอว่า
“ใช้จ่ายอย่างเต็มที่กับสิ่งที่คุณรัก และลดค่าใช้จ่ายอย่างเด็ดขาดกับสิ่งที่คุณไม่ชอบ”
1
ชีวิตไม่จำเป็นต้องประหยัดไปเสียทุกเรื่อง แต่ควร “เลือกใช้” กับสิ่งที่สำคัญจริงๆ กับชีวิตของเรา
1
เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่งคือเข้าใจตัวเองก่อน
🎯 ทักษะทั้ง 4 นี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะทุกคนมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกันไป บางคนเก่งหาเงินแต่ใช้ไม่เป็น บางคนออมเก่งแต่ไม่กล้าลงทุน ลองถามตัวเองว่า...
* คุณมีทักษะการออมดีแค่ไหน?
* รายได้ของคุณมีโอกาสเติบโตอีกหรือไม่?
* คุณกล้าลงทุนหรือยังกลัวความเสี่ยง?
* คุณใช้เงินเพื่อความสุขหรือเพื่อเอาชนะคนอื่น?
เมื่อคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัด ทิศทางทางการเงินของคุณก็จะเริ่มมีเข็มทิศที่แม่นยำ
**ออมเงินเป็น** เพื่อมีเงินเก็บและพร้อมรับอนาคต
**หาเงินเก่ง** เพื่อเพิ่มกำไรและโอกาสในชีวิต
**เพิ่มเงินได้** ด้วยการลงทุนอย่างฉลาด
**ใช้เงินเป็น** เพื่อความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ภาพลวงตา
ไม่ต้องทำทุกข้อให้เพอร์เฟกต์ในทันที แต่อย่างน้อย “เริ่มฝึก” ตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้อนาคตเป็นของคุณในแบบที่คุณเลือกเอง
1
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการใช้เงิน #ทักษะการเงิน
โฆษณา