6 มิ.ย. เวลา 15:37 • ไลฟ์สไตล์

“วากัฟ” ทรัพย์สินสาธารณะที่ต้องทบทวน

ตามพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลามกำหนดให้ คณะกรรมการมัสยิด ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของมัสยิด เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคจากพี่น้องมุสลิม ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการมัสยิด ถือเป็น “อามานะห์” หรือความไว้วางใจที่ต้องดำเนินตามเจตนาของผู้บริจาคอย่างเคร่งครัด
“วากัฟ” ตามความหมายทางศาสนา คือการอุทิศทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยทรัพย์สินนั้นต้องไม่ถูกทำลายหรือใช้หมดไป และเจ้าของจะต้องตัดสิทธิในการขายหรือถือครองส่วนตัว ทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อประโยชน์ตามที่ผู้บริจาคระบุ ตั้งแต่ตึก อาคารทรัพย์สิน โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว หรือของใช้ต่าง ๆ ที่ผู้ศรัทธานำมามอบให้มัสยิด
มัสยิดทุกแห่งที่จดทะเบียนจะต้องจัดทำรายงานทรัพย์สิน รายรับ-รายจ่าย และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม มาตรา 35 (10) ซึ่งกำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนทรัพย์สิน และรายงานการเงินของมัสยิดอย่างถูกต้อง และต้องส่งรายงานภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
คณะกรรมการมัสยิดต้องสำนึกถึงการดูแลรักษาเพราะ
> “นี่คือหน้าที่ที่คณะกรรมการมัสยิดต้องทำเป็นประจำ เพราะทรัพย์สินที่ผู้ศรัทธามอบให้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ล้วนมีคุณค่าทางศาสนาและสาธารณะ เราต้องดูแลให้ดีที่สุด ไม่ใช่มองว่าเป็นของหลวงที่ใครจะใช้ตามใจหรือทิ้งขว้างได้ แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับอย่างเข้มงวด แต่นี่คือ ‘อามานะห์’ ที่ผู้รับผิดชอบต้องถือไว้ด้วยจิตสำนึก ทั้งอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น คณะกรรมการ รวมถึงสัปปุรุษทุกคน ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลรักษาทรัพย์สินเหล่านี้ร่วมกัน”
บทเรียนตามคำกล่าวข้างต้นเป็นเครื่องเตือนใจว่า ผู้บริหารองค์กรศาสนา หรือหน่วยงานใดที่ดูแลทรัพย์สินวากัฟ ควรทบทวนหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง เพื่อคงไว้ซึ่งความโปร่งใสและเจตนารมณ์ของผู้บริจาค
ชุมพล ศรีสมบัติ
โฆษณา