17 มิ.ย. เวลา 12:01 • ประวัติศาสตร์

สงครามที่ทำให้อเมริกาเริ่มต้นมาเป็นตำรวจของโลก

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยดีกับการที่อเมริกาวางตัวเป็นเหมือนตำรวจโลก หรือเข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นๆ  แต่ รู้ไหมครับว่า เดิมทีเดียวนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา อเมริกามีนโยบายที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเทศอื่นมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้นโยบายของประเทศอเมริกาเปลี่ยนไป
เหตุการณ์นั้นคือ สงครามกับสเปน และวันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวนี้ให้ฟัง
ก่อนจะไปถึงสงครามกับสเปนในปีค.ศ. 1898 อเมริกามีนโยบายที่จะ แยกตัวจากประเทศอื่นๆ หรือ isolationism มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศ
แนวคิดนี้มีรากฐานมาจาก ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกของสหรัฐ ที่เคยกล่าวเตือนไว้ชัดเจนว่า “Avoid entangling alliances” หรือแปลว่า “อย่าไปผูกพันหรือผูกมัดตัวเองกับพันธมิตรต่างชาติ” เพราะอเมริกาเพิ่งหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม และยังอยู่ในช่วงสร้างตัว ไม่อยากให้เข้าไปเป็นหมากในเกมช่วงชิงอำนาจของเหล่ามหาอำนาจในยุโรป
โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ก็ยังยึดมั่นในแนวคิดนี้เช่นกัน เขาเชื่อว่าอเมริกาควร “เป็นเพื่อนกับทุกชาติ แต่อย่าเป็นพันธมิตรกับใคร” นี่จึงเป็นนโยบายต่างประเทศที่อเมริกายึดถือมาโดยตลอด
1
แต่ไม่ได้แปลว่า อเมริกาจะไม่ยุ่งกับดินแดนอื่นเลยนะครับ อเมริกาขยายอิทธิพลมาโดยตลอด เพียงแต่เป็นการขยายอิทธิพลภายในทวีปของตัวเองเท่านั้น คือ มองไปยังพื้นที่ตะวันตก ที่ในเวลานั้นยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา
แนวคิดนี้มีชื่อเรียกว่า Manifest Destiny ซึ่งแปลว่า “โชคชะตาที่ถูกกำหนดไว้” เป็นแนวคิดที่ชาวอเมริกันยุคนั้นเชื่อว่าพระเจ้ากำหนดให้พวกเขามีหน้าที่ในการขยายประเทศจากชายฝั่งตะวันออกไปถึงชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ
เพราะฉะนั้น ตลอดศตวรรษที่ 19 แทนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองของยุโรป อเมริกาจึงใช้เวลากับการขยายดินแดนภายในทวีปตัวเอง เช่น การซื้อดินแดนหลุยส์เซียนา (Louisian) จากฝรั่งเศส การทำสงครามกับเม็กซิโกเพื่อให้ได้เท็กซัสและแคลิฟอร์เนีย และการผลักดันชนพื้นเมืองอเมริกันให้ถอยร่นออกจากบ้านของพวกเขาไปเรื่อยๆ
แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ให้นโยบายของอเมริกาเริ่มเปลี่ยนไป .... เหตุการณ์สำคัญนั้นก็คือความขัดแย้งใน คิวบา
เกาะคิวบา เป็นเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งฟลอริดา ในเวลานั้น คิวบาเป็นอาณานิคมของสเปน มาหลายร้อยปีแล้ว แต่ชาวคิวบาจำนวนมากก็ไม่พอใจกับการปกครองแบบกดขี่ของสเปน บวกกับในเวลานั้นชาวคิวบาได้รับแรงบันดาลใจจาก การปฏิวัติของอเมริกา (ที่แยกตัวจากอังกฤษ) และการปฏิวัติล้มสถาบันกษัตริย์ในฝรั่งเศส ทำให้ชาวคิวบาส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องเอกราชจากสเปน จนในปีค.ศ. 1895 ความรุนแรงก็มาถึงขีดสุด
สเปนตอบโต้ด้วยการส่งทหารเข้าไปปราบปราม จับกุม อย่างหนัก และยังมีการจับผู้ต่อต้านชาวคิวบาจำนวนมากไปขังไว้ในค่ายกักกัน ซึ่งค่ายกักกันนี้มีสภาพที่เลวร้ายมาก ทั้งแออัด ทั้งอดอยาก จนคนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์เหล่านี้ถูกสื่อนำไปตีแผ่ให้หลายประเทศในโลกได้รับรู้ โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่สนใจข่าวนี้กันเป็นพิเศษ เหตุผลก็เพราะคิวบาอยู่ใกล้อเมริกามาก
อีกเหตุผลที่ชาวอเมริกันสนใจข่าวของคิวบามากเกี่ยวข้องกับเรื่องของผลประโยชน์ เพราะในเวลานั้น นักธุรกิจชาวอเมริกันมีการไปลงทุนทำธุรกิจในคิวบาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการลงทุนทำไร่อ้อยและค้าน้ำตาลซึ่งมีมูลค่มหาศาล ความไม่มั่นคงในคิวบาจึงมีผลต่อเงินในกระเป๋าของเศรษฐีชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเป็นอย่างมาก
แต่ถ้าถามว่าอะไรทำให้ชาวอเมริกันสนใจเหตุการณ์นี้กันอย่างมากมาย คงต้องบอกว่า เป็นเพราะหนังสือพิมพ์ในอเมริกาเล่นข่าวนี้อย่าง สนุกสนาน ต่างก็แข่งกันเล่าความโหดร้ายของสเปนอย่างต่อเนื่อง มีการวาดภาพพร้อมคำบรรยายที่ยั่วยุ ทั้งให้โกรธ ทั้งให้สงสาร สเปนถูกวาดภาพให้เป็นปีศาจ ขณะที่ชาวคิวบาถูกวาดให้เป็นเหยื่อที่บริสุทธิ์ ข่าวที่เขียนจะถูกแต่งเติมเรื่องราวให้ฟังดูหวือหวา เกินจริง จนถึงระดับที่เรียกว่าไรัสาระ เมื่อสื่อหนึ่งทำ สื่ออื่นก็ทำบ้าง จนถึงจุดที่เหมือนว่า ใครจะเขียนอะไรก็ได้ ขอเน้นยอดขายเป็นพอ
1
ปรากฎการณ์ที่สื่อแข่งกันเขียนข่าวเกินจริงเป็นปรากฎการณ์ที่นักประวัติศาสตร์เรียกมันว่า Yellow Journalism เพราะหนังสือพิมพ์แนวนี้จะนิยมพิมพ์ด้วยหมึกสีเหลือง และหนังสือพิมพ์หลักที่เรียกได้ว่าเป็นสื่อเหลืองตัวพ่อ จะมีด้วยกันสองค่าย หนึ่งคือ New York Journal ของ วิลเลี่ยม เฮิรสท์  (William Randolph Hearst) และ New York World ของ โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer คนก่อตั้งรางวัลพูลิตเซอร์)
โดยทั้งสองแย่งยอดขายด้วยการเขียนข่าว ใส่ไข่ กันแบบสุดขีด เช่น มีภาพวาดของเด็กหญิงคิวบาที่ถูกทหารสเปนจับขัง มีภาพแม่ลูกที่อดตาย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่นำเสนอนี้มีหลักฐานจริงมากน้อยแค่ไหน
1
โดยเฉพาะ Hearst ที่มีเรื่องเล่าต่อๆ กันว่า เขาเคยส่งศิลปินไปวาดภาพสงครามในคิวบา แต่เมื่อศิลปินรายงานกลับมาว่าที่นั่นไม่มีสงคราม เขาตอบกลับไปว่า "คุณจัดภาพมาเถอะ ส่วนสงคราม ฉันจะจัดให้เอง"
แล้วพลังของสื่อสีเหลืองก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ อเมริกาและประวัติศาสตร์โลก เมื่อเรือลำหนึ่งเกิดระเบิดขึ้น
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 1898 เรือรบ USS Maine ของกองทัพเรือสหรัฐที่จอดเทียบท่าอยู่ในท่าเรือฮาวานา เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ลูกเรือเสียชีวิตกว่า 260 นาย ในเวลานั้นยังไม่ชัดเจนว่าการระเบิดเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือการโจมตี แต่สื่อหัวเหลืองก็ไม่รอช้า กระโจนเข้าไปเล่นเรื่องนี้ทันที แล้วต่างก็พาดหัวข่าวกันว่า “สเปนคือผู้ร้าย!”
หลักฐานทางวิศวกรรมและประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันชี้ว่า USS Maine “น่าจะระเบิดจากอุบัติเหตุภายในเรือเอง” มากกว่าการโจมตีจากภายนอก แต่ในเวลานั้นไม่มีใครสนแล้วครับ ทุกอย่างมันเข้าทาง สื่อได้ขายข่าว ประชาชนได้ตอบสนองความอยากที่จะด่าสเปน
เสียงร้องตะโกนที่เกิดขึ้นตามมาบนท้องถนนเกือบทั้งประเทศคือ
“Remember the Maine, to Hell with Spain!”
จำเรือเมนไว้ สเปนไปต่าห่าซะ
คำขวัญนี้ไม่ได้อยู่แค่ป้ายที่คนเดินขบวนบนท้องถนน และในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กลายเป็นสโลแกนที่พิมพ์บนโปสเตอร์ ขวดเบียร์ และเข็มกลัดบนเสื้อของชาวอเมริกัน
คำถามคือ เมื่อพลังของสื่อ จุดไฟสงครามขึ้นในใจคนอเมริกันแล้ว รัฐบาลและกองทัพจะเอายังไงต่อดี ?
คนที่อยู่สถานะลำบากใจที่สุดในเวลานั้น คงเป็น ประธานาธิบดี ที่ชื่อ วิลเลียม แมคคินลีย์ (William McKinley) ซึ่งเขาออกตัวมาตั้งแต่แรกว่า จะยืนหยัดบนหลักการของการไม่พาอเมริกาไปทำสงครามแม้ว่าจะโดนกดดันจากสื่อและประชาชนแค่ไหนก็ตาม
แมคคินลีย์เป็นอดีตทหารผ่านศึกจากสงครามกลางเมือง (American civil war) เขาจึงรู้ดีว่าสงครามมันไม่ได้มีความ ยิ่งใหญ่ เกรียไกร หรือ มีภาพทหารขี่ม้าเท่ๆ อย่างที่คนบนท้องถนนมีภาพจำ แต่มันสกปรก เหม็น ทารุณ และโหดร้าย เขาจึงพยายามวิธีทางการฑูตเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเลี่ยงสงครามกับสเปน
1
แต่ในรัฐสภาแมคคินลีย์ก็โดนกดดันอย่างหนัก ทั้งจากสมาชิกพรรครีพับลิกันของแมคคินลีย์เอง ซึ่งก็โดนกดดันมาจากประชาชนในเขตเลือกตั้งของพวกเขาอีกที นักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยม เริ่มใช้คำว่า การปกป้องคิวบา เป็นเรื่องของมนุษยธรรม เป็นเกียรติของชาติ
จากไอเดียหนึ่งก็ค่อยๆ ไหลลงไปสู่ ไอเดียถัดไป แล้วก็มีไอเดียว่า นี่คือโอกาสที่จะได้ขยายความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเกิดขึ้น การปกป้องคิวบา เริ่มถลำไปเป็นการทำเพื่อความยิ่งใหญ่ของอเมริกา เป็นการทำเพื่อชาติ
แมคคินลีย์ถูกโจมตีว่าขี้ขลาด ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในที่สุดเขาก็ต้านแรงกดดันมหาศาลไม่ไหว แต่อีกนัยนึงก็อาจจะเป็นการตัดสินใจเมื่อถึงเวลาจริง
อเมริกาประกาศสงครามกับสเปนในเดือนเมษายน ปี 1898 พร้อมคำแถลงจากประธานาธิบดีว่าเขาต้องการเข้าไป “ช่วยปลดปล่อยชาวคิวบาจากการปกครองอันโหดร้ายของสเปน”
ทำให้สงครามครั้งนี้เป็นการทำสงครามในนามของคุณธรรมและมนุษยธรรม แต่ลึกๆ คนส่วนใหญ่ ก็พอรู้ว่า มันมีเรื่องของเศรษฐกิจ อำนาจ และแรงยั่วยุของสื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง
การรบดำเนินไปในสองสมรภูมิหลัก คือ คิวบาในทะเลแคริบเบียน และฟิลิปปินส์ในมหาสมุทรแปซิฟิก และสงครามครั้งนี้สหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกองทัพ และสามารถเอาชนะสเปนได้อย่างเด็ดขาด
สเปนยอมจำนนและลงนามในสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1898 โดยมีผลให้สเปนต้องยกดินแดนสำคัญให้แก่สหรัฐ เช่น เปอร์โตริโก เกาะกวม คิวบา และได้ซื้อฟิลิปปินส์จากสเปนในราคาแค่ 20 ล้านดอลล่าร์
แล้วสงครามนี้นำไปสู่การที่อเมริกากลายเป็น “ตำรวจโลก” ได้ยังไง ?
มีปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับอเมริกาจากสงครามครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองหลายดินแดนนอกทวีปอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรก ทำให้อิทธิพลขยายไปในพื้นที่ทะเลแคริเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่เคยแต่ป้องกันตัวเองกลายมาเป็นจักรวรรดิ์
2
จากนั้นพอมีผลประโยชน์นอกประเทศก็ต้องเข้าไปดูแลปกป้องผลประโยชน์ ทำให้เลี่ยงจะเข้าไปยุ่งกับผลประโยชน์และกิจกรรมของชาติอื่นๆ ไม่ได้ เร่ิมเพิ่มกำลังทหารในนอกประเทศ เริ่มการฑูตกับประเทศที่ไม่เคยเกี่ยวข้องมากอ่น เริ่มลงทุนกับโครงการใหญ่ๆ นอกประเทศเช่น การขุดคลองปานามา ยิ่งไปยุ่งกับกิจการของประเทศอื่นมากขึ้น ความสัมพันธ์และผลประโยชน์  ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
จากนั้นมาอเมริกาก็เริ่มเป็นผู้เล่นหลักในเรื่องต่างๆ ของโลกมากขึ้น นโยบาย isolationism ดั้งเดิมจึงค่อยๆ เลือนหายไป และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความย่อยยับของยุโรป อเมริกาก็เข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หลายประเทศตามมาร์แชลแพลน (Marshall Plan) และขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก แบบที่เราคุ้นเคยกันมาหลายปี
1
จนกระทั่งมีนโยบายใหม่ที่ชื่อว่า America First เกิดขึ้น
คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่ออเมริกาละทิ้งระเบียบโลกที่ตัวเองเคยสร้างขึ้นมาโดยตลอดกว่า 120 ปี นับตั้งแต่สงคราม Spanish- American war นโยบายใหม่นี้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของอเมริกาในรูปแบบใหม่หรือไม่ รออีกสัก 120 ปีแล้วเดี๋ยวเรามาดูกันใหม่ครับ
1
ส่วนท้ายนี้ขอโฆษณาหนังสือหน่อยนะครับ ถ้าใครชอบเรื่องราวแนวความรู้แบบ นี้ อยากแนะนำให้อ่าน หนังสือที่ผมเขียนด้วย ปัจจุบันเขียนมาแล้ว 9 เล่ม สั่งซื้อหนังสือแบบร้านค้า official พิมพ์ค้นหา "Chatchapolbook" หรือกดที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3FvsFav
โฆษณา