24 มิ.ย. เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

วิธีจัดการเงินเพื่อให้ชาว ‘Sandwich Generation’ สามารถเริ่มต้นลงทุนได้แม้ต้องดูแลครอบครัว

ผมอยากเริ่มลงทุนจริงจัง แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนเลย ตอนนี้อายุ 40+ และเป็น พนักงานระดับซีเนียร์ ส่วนตัวมีภาระทางครอบครัวคือ แม่ และญาติผู้ใหญ่ในบ้าน (ไม่มีภรรยา และลูก) ซึ่งตัวผมมีรายได้เพียงคนเดียว ตอนนี้ได้แค่เก็บออมเงินในบัญชีธนาคารทั่วไป อยากถามความเห็นว่า ผมควรจะลงทุนแบบไหนดี
ที่ไม่เสี่ยงมาก แต่ยังพอหวังผลได้ ในช่วงประมาณ 20 ปีต่อจากได้นี้ (จนถึงเกษียณ)
เมื่อถึงช่วงอายุ 40 ต้องบอกว่าเป็นช่วงที่หน้าที่การงานค่อนข้างจะมั่นคงแล้ว เรื่องรายได้น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถสร้างเงินเก็บออมได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่เรามีภาระครอบครัวต้องดูแล บวกกับความกังวลเรื่องสุขภาพ และช่วงหลังเกษียณด้วยแล้ว รายได้ที่มีอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหารจัดการมากนัก
แล้วแบบนี้เราจะบริหารจัดการเงินในระยะยาวของเราอย่างไรดี รวมไปถึงหากต้องการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนด้วย จะเลือกใช้ช่องทางไหนที่คุ้มค่าที่สุด มาฟังมุมมองจาก คุณสาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP® กัน
💰 ภาระของชาว ‘Sandwich Generation’ ดูแลตัวเองแล้ว ต้องดูแลคนรอบข้างอีก
แม้ชาวอายุ 40 ขึ้นไป จะเป็นช่วงที่มีรายได้มั่นคง และสร้างเงินเก็บออมได้ไม่ยาก แต่ในช่วงอายุเท่านี้แล้ว ปัญหาสุขภาพต่างๆ ก็จะเริ่มมีให้เห็นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปจนส่งผลต่อร่างกายไปจนถึงอารมณ์ เช่น เครียดง่าย และนอนหลับยาก ไปจนถึงโรคภัยต่างๆ ที่เริ่มมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น
ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงภาระของตัวเองอีกต่อไป แต่มีทั้งภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เข้าสู่วัยชรา และไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเองได้อีกแล้ว ไปจนถึงภาระที่ต้องดูส่งเสียลูกๆ ทำให้คนกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่า ‘Sandwich Generation’ ที่ถูกกดทับจากทั้งบน และล่างจนเป็นสาเหตุหนึ่งของความเครียด และความกังวลที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
สำหรับกรณีของผู้ถามที่ยังโสด จึงโล่งใจเรื่องภาระของลูกๆ ไปได้บ้าง แต่เรียกได้ว่าก็ยังไม่ถึงกับสบายซะทีเดียว เพราะยังมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูแม่ และญาติผู้ใหญ่อีกหลายคนในฐานะที่เป็นเสาหลักเพียงคนเดียว แล้วแบบนี้จะบริหารการเงินอย่างไรดี คุณสาธิตมีมุมมองมาฝากกัน
💰 เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน
คุณสาธิตมองว่า อันดับแรกให้เราวางแผนสร้างความมั่นคงทางการเงินของเราก่อน ด้วยการ ‘ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้’ ซึ่ง aomMONEY ได้สรุปมาแบบเข้าใจง่าย ดังนี้
📌 ลดรายจ่าย
➡️ ลดการสร้างหนี้สิน - เช่น บัตรเครดิต เพราะการสร้างหนี้จะทำให้รายได้ของเราในแต่ละเดือนไม่มั่นคง ส่งผลต่อการบริหารการเงินของเราในแต่ละเดือน
➡️ วางแผนลดหย่อนภาษี - ในตอนนี้การลดหย่อนภาษีสามารถทำได้หลายช่องทาง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการศึกษาหาความรู้เรื่องการลดหย่อนภาษีเพื่อลดภาระภาษีของเราลง
📌 เพิ่มรายได้
➡️ งานพิเศษที่เพิ่มรายได้ - เชื่อว่าพอถึงอายุเท่านี้แล้ว ความสามารถ ความรู้ และประสบการณ์ในด้านสายงาน หรือความถนัดของตัวเองน่าจะเข้าสู่ระดับเชี่ยวชาญกันแล้ว การนำความรู้ ความสามารถเหล่านี้ไปแบ่งปัน หรือหางานพิเศษทำ ก็นับเป็นการสร้างรายได้อีกทางได้เช่นกัน
➡️ หาความรู้เพิ่มเติม - เพราะการหาความรู้เพิ่มเติมจะทำให้เราสามารถต่อยอดในการสร้างรายได้ให้มากขึ้นไปอีกได้ ไปจนถึงลดความผิดพลาดในการบริหารเงินลงอีกด้วย
💰 แล้วแบบนี้ จะเลือกลงทุนอย่างไรดีให้คุ้มค่าที่สุด?
คุณสาธิตได้สรุปมาให้เราเป็น 3 ช่องทางการลงทุนที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นเงิน และยังช่วยครอบคลุมความกังวลด้านสุขภาพด้วย ดังนี้
➡️ กองทุน RMF - กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยออมเงินเพื่อการเกษียณ โดยมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง โดยกองทุน RMF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอื่นๆ เช่น Provident fund, SSF, กบข. และประกันบำนาญ ก็จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
➡️ กองทุน SSF - มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด สำหรับ SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท
การซื้อประกันสุขภาพแบบรับผิดชอบส่วนแรก - คือเป็นรูปแบบประกันที่ให้เรารับผิดชอบส่วนแรกของค่าใช้จ่าย และประกันจะรับผิดชอบส่วนที่เกินมาจากนั้นให้ เช่น สมมติว่าเราเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และแบบประกันมีความคุ้มครองสุขภาพที่มีความรับผิดส่วนแรก 10,000 บาท เมื่อค่ารักษาเกินกว่า 10,000 บาทแรกนี้ ทางบริษัทประกันจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่างให้เอง ยิ่งความรับผิดส่วนแรกมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แล้ววงเงินความคุ้มครองก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย
โดยเราสามารถใช้ตัวช่วยอื่นๆ อย่างเช่น บัตรทอง หรือประกันสังคมในการจ่ายความรับผิดส่วนแรกได้ ซึ่งจะทำให้เราเสียค่ารักษาพยาบาลน้อยลงหรืออาจจะไม่เสียเลยหากเลือกแบบประกันได้เหมาะสมกับสวัสดิการที่เรามี
ส่วนการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ คุณสาธิต แนะนำการลงทุนรวมที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้สูง และกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในทั่วโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้คุณสาธิตมองว่า ไม่อยากให้คนวัยนี้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีภาระที่ต้องแบกรับต่างกัน การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข บนแผนการบริหารเงินที่เหมาะกับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า
#aomMONEY #YourMoney #การเงิน #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา