27 มิ.ย. เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

แบบสำรวจชี้ “1 ใน 5” เคยเสียเพื่อนเพราะเรื่องเงิน

ถ้าอยากให้เพื่อนยืมเงิน? ถามตัวเองก่อนว่าเราพร้อมไหมที่จะไม่เห็นเงินก้อนนั้นอีกเลย
บ่อยครั้งที่ มิเชล ซิงเกิลทารี (Michelle Singletary) นักข่าวและนักเขียนด้านการเงินและสามีของเธอเคยช่วยเหลือและหยิบยื่นเงินให้เพื่อนยืม
จนกระทั่งวันหนึ่งที่กลายเป็น “บทเรียนไม่เคยลืม” เธอเล่า
ครั้งนั้นก็เหมือนกับทุกที ให้เพื่อนในวงสังคมยืมเงินไปก่อน แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลาคืน กลับโดนผัดผ่อนไป
วันหนึ่งไปงานปาร์ตี้ที่บ้านของเพื่อนคนนี้ เธอสังเกตเห็นโทรทัศน์เครื่องใหม่แล้วก็คุยกับสามีว่าคนที่ยืมเงินไปไม่มีเงินคืน แต่กลับซื้อโทรทัศน์ใหม่เครื่องละหลายหมื่นบาทได้ยังไง?
หลังจากเหตุการณ์วันนั้น เธอกับสามีจึงคุยกันว่าไม่อยากรู้สึกแย่กับเหตุการณ์แบบนี้อีกและไม่อยากไปสอดส่องการใช้เงินของเพื่อนด้วย เพราะฉะนั้นจึงตกลงกันว่าจะให้เพื่อนยืมเงินก็ต่อเมื่อ ‘เราไม่จำเป็นต้องได้คืน’ เท่านั้น
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ทุก เราเห็นข่าวมากมายที่เพื่อน คนรู้จัก หรือแม้แต่ครอบครัวที่ทะเลาะกันเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ความสัมพันธ์แตกสลายกันมานักต่อนัก ถึงขั้นมีคำกล่าวที่บอกว่า “เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร”
มิตรภาพระหว่างเพื่อนหรือคนสนิทก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยจากเรื่องเงินทองเช่นกัน
Bread Financial ผู้ให้บริการด้านการเงินในอเมริกา เพิ่งเผยผลสำรวจที่น่าสนใจที่บอกว่า 21% หรือประมาณ 1 ใน 5 ของคนที่ตอบแบบสอบถาม ‘เคยเสียเพื่อนไปเพราะเรื่องเงิน’ และอีก 26% รู้สึกว่า เข้ากับเพื่อนไม่ได้เลยในแง่การเงิน
เหตุผลที่ทำให้ใครสักคนเสียเพื่อนเพราะเรื่องเงินก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างไปร้านอาหาร ทานไม่เท่ากัน บางคนกินเยอะ บางคนกินน้อย บิลร้านอาหารที่ไม่ได้หารเท่าๆ กันก็กลายเป็นปัญหาได้ ไปจนถึงความพยายาม “รักษาหน้า” ด้วยการใช้เงินที่ไม่มี เพื่อให้ดูไม่ตกขอบในกลุ่มเพื่อนก็เกิดขึ้นเหมือนกัน
แต่ที่คลาสสิกสุดก็คงคล้ายกับ ซิงเกิลทารี ที่ให้ยืมแล้วไม่เคยได้คืน อันนี้คลาสสิกมาก
ฟังดูแล้วเศร้า แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสักเท่าไหร่นัก
เพราะการให้เพื่อนยืมเงินมันไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขหรือแบงก์พันที่หยิบยื่นให้ แต่เงินตรงนั้นไปพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเชื่อใจ’ ในสมการด้วย
💔 และถ้าไม่มีการคืน มันก็ไม่ใช่แค่ “เสียเงิน” แต่คือ “เสียความเชื่อใจ” ไปด้วย
57% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าเคยยืมเงินเพื่อน แต่ 30% ในกลุ่มนี้ยอมรับว่าไม่เคยคืน และ 33% ของทุกคนบอกว่าการยืมแล้วไม่คืนคือสาเหตุของความตึงเครียดในความสัมพันธ์
ลองจินตนาการดูว่า ความรู้สึกดีๆ หลายปี อาจพังลงเพราะเงิน 500 บาทที่อีกฝ่าย “ไม่คืน” เป็นอะไรที่เลวร้ายไม่น้อยเลยทีเดียว
การให้เพื่อน/คนใกล้ตัวยืมเงินเป็นอะไรที่ซับซ้อน ในบางจังหวะมันก็ทำให้คนสองคนเชื่อใจกันมากขึ้น ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่มันก็ทำให้ความสัมพันธ์ยุ่งยากขึ้นได้เช่นกัน
เหตุผลที่เป็นแบบนั้น ซิงเกิลทารีผู้เขียนหนังสือ ‘What to Do With Your Money When Crisis Hits : A Survival Guide” อธิบายว่า “เพราะการตัดสินใจด้านการเงินของเรามักมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ”
แต่มันก็มีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าอยากจะช่วยเหลือเพื่อนในยามคับขัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องไม่เดือดร้อนหรือสร้างความลำบากให้กับตัวเราเองด้วย แล้วเราจะทำยังไงดี? ทำเหมือนซิงเกิลทารีดีไหม? นี่คือแนวทางที่เราพอจะทำได้
✅ 1. อย่าให้ยืม ถ้าให้ได้ก็ให้ไปเลย
การให้ยืมเงินคือการทำในสิ่งที่คุณไม่มีทักษะ เราไม่ใช่ธนาคาร คนทั่วไปไม่มีระบบติดตามหนี้ ไม่มีวิธีบริหารความเสี่ยง ไม่มีกรมธรรม์ประกันเงินหาย
สิ่งที่เรามีคือ หัวใจ และ ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง
เมื่อเพื่อนมาขอยืมเงิน เราไม่ได้คิดแค่ “มีหรือไม่มี” แต่เราคิดว่า “ถ้าไม่ให้ จะกลายเป็นคนใจดำไหม?” ความรู้สึกผิดกลายเป็นดอกเบี้ยที่เราจ่ายล่วงหน้า แม้สุดท้ายจะไม่ได้เงินคืนเลยก็ตาม
ถ้าจะให้...ให้แบบไม่หวังว่าจะได้กลับมา เบิร์นา อานัท (Berna Anat) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำว่า “ถ้าคุณให้เงินใคร ให้ในฐานะของขวัญ อย่าคาดหวังว่าเขาจะคืนให้”
แน่นอน คนที่คุณให้ อาจตั้งใจจะคืนแหละในตอนแรก แต่ความตั้งใจไม่ใช่หลักประกัน เศรษฐกิจเปลี่ยน คนตกงาน หนี้สินก้อนใหม่มาแทนที่ และในวันนั้น สิ่งที่คุณจะเสียไม่ใช่แค่เงิน…แต่คือความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน
การให้โดยไม่หวังคืน ทำให้คุณเป็นอิสระ อิสระจากความคาดหวัง อิสระจากความรู้สึกแย่ๆ และอาจรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้ดีกว่าการเขียนสัญญาใด ๆ
แต่ก่อนจะให้…ต้องถามตัวเองก่อนว่า “ไหวไหม?” เวนดี้ เดลา โรซา (Wendy De La Rosa) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียชี้ว่าจุดตัดสินใจที่สำคัญคืองบการเงินของคุณเอง
ถ้าคุณต้องดึงเงินจากกองค่าเช่าบ้าน ค่ารถ หรือภาษี แปลว่าคุณไม่ได้ช่วยอีกฝ่าย…แต่คุณกำลังทำร้ายตัวเอง
การให้ไม่ควรทำให้การเงินของตัวเองเปราะบางกว่าเดิม
เพราะหากถึงวันหนึ่งที่คุณต้องการความช่วยเหลือ ไม่มีใครสามารถช่วยคุณได้ดีเท่าตัวคุณเอง
✅ 2. ตั้งขอบเขตของ “ใครที่เราช่วยได้”
ความรู้สึกผิดมักเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มประสบความสำเร็จด้านการเงินบ้างและคนรอบตัวรู้ว่าเรา “พอจะช่วยได้”
แต่สิ่งสำคัญคือ....”คุณไม่จำเป็นต้องช่วยทุกคน”
เดลา โรซาแนะนำให้ทำ ลิสต์สั้น ๆ ของคนที่คุณพร้อมจะช่วย
อาจเป็นครอบครัวใกล้ชิด เพื่อนสนิท หรือแค่คนที่เคยช่วยคุณในอดีต แล้วพูดคุยกับคนรักหรือคู่ชีวิตเกี่ยวกับขอบเขตนั้นให้ชัดเจน
เพราะทุกครั้งที่คุณช่วยคนหนึ่งมันมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาเสมอ แม้อาจจะไม่ชัดเจนก็ตาม
คุณกำลังตัดโอกาสช่วยคนอื่น หรือแม้แต่ตัวคุณเองในอนาคต
✅ 3. ถ้าช่วยไม่ได้ด้วยเงิน ช่วยด้วยอย่างอื่นก็ได้
คำว่า “ไม่” ไม่ได้แปลว่า “ไม่รัก” มันอาจแปลว่า “ฉันห่วงเธอมากพอที่จะไม่ทำร้ายตัวเองไปพร้อมกัน”
เดลา โรซาเคยต้องพูด “ไม่” กับคนในครอบครัว แต่ก็ยังหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ในรูปแบบอื่น ช่วยวางงบการเงิน ช่วยจัดแจงเรื่องหนี้ ช่วยวางแผนรายเดือน
บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการอาจจะไม่ใช่เงิน แต่คือใครสักคนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ตอนที่ชีวิตกำลังเคว้งและไม่รู้จะไปพึ่งพาใครได้
คุณอาจช่วยดูแลลูกให้เขาไปทำงานหรือทำอาหารไปให้ถึงบ้าน สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้มีค่ามากกว่าเงินสดในบางช่วงชีวิต เป็นการแสดงความห่วงใยและบอกอีกฝ่ายว่าเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ตรงนี้มากๆ
✅ 4. อย่าค้ำประกันให้ใคร
การค้ำประกันคือการเอาเครดิตของตัวเองไปวางบนโต๊ะให้กับคนที่สถาบันการเงินยังไม่ไว้ใจ และเป็นการยอมรับว่าคุณพร้อมจะรับผิดชอบหากใครคนนั้นเบี้ยว
สมัยตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ซิงเกิลทารีเคยขอให้ยายค้ำประกันซื้อรถและคำตอบของยายก็เรียบง่ายและเป็นบทเรียนที่ดีมาก:
“ธนาคารซึ่งมีเงินมากกว่าฉันไม่รู้กี่เท่ายังไม่กล้าให้เธอกู้ แล้วตอนนี้เธออยากให้เอาเงินของฉันไปเสี่ยงแทนเหรอ?”
บทสนทนาจบลงแค่นั้นและเธอก็ไปนั่งรถเมล์จนกว่าจะมีเงินพอซื้อรถได้เอง
สุดท้ายคนที่มีพอให้ได้ ให้โดยไม่หวังว่าจะเห็นเงินก้อนนั้นกลับมาอีก
รู้ว่า เมื่อไหร่ควรให้ และเมื่อไหร่ควรปฏิเสธ คือวิธีรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนที่สุดเท่าที่เงินจะทำได้
และอย่าลืมถ้าให้ไม่ได้จริงๆ คาถาวิเศษที่ช่วยได้คือ ‘ไม่สะดวก’ แค่นั้นเลย หากเพื่อนจะเลิกคบหรือเอาไปนินทาลับหลังก็จะได้รู้ว่าคุณค่าของความสัมพันธ์คุณมีแค่นี้ แต่ยังคบกันแต่และคุณช่วยเรื่องเงินไม่ได้ ก็ลองหาวิธีอื่นที่จะช่วยให้สถานการณ์ของเพื่อนดีขึ้นก็ได้เช่นกัน
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการเงิน #ยืมเงิน ดูน้อยลง
โฆษณา