Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
28 มิ.ย. เวลา 15:00 • ไลฟ์สไตล์
'100% ง่ายกว่า 98%’ ถ้าอยากสำเร็จด้านการเงิน จงระวัง “2% แห่งข้ออ้าง”
💭 เคยไหมที่เราตั้งเป้าจะเก็บเงินให้ได้ตามแผน แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้ “ขอแค่ครั้งนี้” ทุกที?
ถ้าเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเรื่องที่คาดไม่ถึง อันนี้พอเข้าใจได้ แต่บ่อยครั้งอาจจะเป็นแค่การ ‘แพ้ใจตัวเอง’ หาข้ออ้างบางอย่างมาทำให้ตัวเองสบายใจขึ้นหลังจากออกนอกลู่นอกทางไปแล้วมากกว่า
สมมติต้นเดือนคิดไว้แน่วแน่ว่าจะกันเงิน 20% ของเงินเดือนไว้เป็นเงินออม แต่พอกลางเดือนเจอป้ายลดราคาสินค้าชิ้นโปรดเข้า ก็ปลอบใจตัวเองว่า “ครั้งนี้ขอเถอะ นานๆ ที” แล้วเงินออมก้อนนั้นก็ปลิวไปกับของที่ไม่ได้จำเป็นจริงๆ โดยปริยาย
พอสิ้นเดือนก็มานั่งเสียดาย เพราะแผนเก็บเงินไม่เคยไปถึงไหนเสียที
หลายคนอาจคิดว่าการอนุญาตให้ตัวเองมี “ข้อยกเว้น” บ้างเป็นครั้งคราว (เช่น ทำตามแผน 98%) น่าจะง่ายกว่าการบังคับตัวเองให้เคร่งครัดตลอดเวลา (100%) เพราะชีวิตคนเราก็ต้องมีผ่อนคลายบ้างไม่ได้รึไง?
แต่เชื่อไหมว่าในการทุ่มเทแบบ 100% กลับทำให้ชีวิตง่ายกว่าแบบ 98% เสียอีก เพราะอะไร?
💯 [ ทำไมการทุ่มเท 100% ถึงง่ายกว่า 98%? ]
คุณแมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม อดีตนักร้องชื่อดังที่ต่อสู้กับปัญหาติดเหล้าจนเสียครอบครัว แล้วมาเลิกได้สำเร็จ เป็นตัวอย่างที่ยืนยันเรื่องนี้ว่าการตั้งใจแบบ 100% ง่ายกว่าการตั้งใจแบบ 98%
ในช่วงแรกที่พยายามเลิกเหล้า เขามีความรู้สึกเหมือนคนทั่วไปที่กำลังลดน้ำหนักนั่นแหละ คิดว่าจะมี "cheat day" บ้างในบางครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกครั้งที่เหล้าเข้าปากแม้แต่หยดเดียว ปัญหายิ่งกลับมาแรงกว่าเดิม จนในที่สุดเขาจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ไม่แตะเหล้าอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) อดีตศาสตราจารย์แห่ง Harvard เคยกล่าวไว้ประโยคหนึ่งที่ฟังดูขัดกับความเชื่อเล็กน้อยบอกว่า
“การยึดมั่นในหลักการของตัวเองให้ได้ 100% ตลอดเวลานั้นง่ายกว่าการยึดมั่นแค่ 98% เสียอีก”
ตัวเลข 98% ฟังดูน่าจะสบายๆ กว่า 100% ก็จริง แต่เหตุผลเบื้องหลังคำพูดนี้ก็คือ ถ้าเรายังเปิดช่องว่างไว้ 2% สำหรับการ ‘แหกกฎ' ของตัวเอง ก็เท่ากับว่าเรายังไม่ได้ “ตัดสินใจ” อย่างเด็ดขาดจริงๆ นั่นเอง
เมื่อทำ 98% = ยังต้องตัดสินใจอยู่เรื่อยๆ
ทุกครั้งที่เผชิญสถานการณ์ยั่วยวนใจ เราจะต้องคอยถามตัวเองว่า “ครั้งนี้อยู่ใน 2% ข้อยกเว้นนั้นหรือเปล่านะ?”
แล้วการต่อสู้กันในหัวของเราเองก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ผลคือเราใช้พลังใจไปกับการต่อรองและลังเลอย่างมาก นักจิตวิทยาเรียกภาวะนี้ว่า “ความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ” (decision fatigue) ซึ่งทำให้แรงใจเราล้าลงทุกครั้งที่ต้องเลือก และบ่อยครั้งท้ายที่สุดความอยากเฉพาะหน้าก็มักชนะความตั้งใจระยะยาวของเราในช่วงที่ใจอ่อนล้า (สิ่งนี้มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า ‘Present Bias’ หรืออคติเอนเอียงที่เรามักจะให้ความสำคัญกับความสุขในเวลานี้มากกว่าตัวเองในอนาคต)
ในทางกลับกัน 100% = ตัดสินใจครั้งเดียวจบ
ไม่ต้องมาเถียงกับตัวเองทุกครั้งที่สถานการณ์ล่อใจเข้ามา เพราะคำตอบมันถูกล็อกไว้แล้วตั้งแต่แรก
ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ตำนานนักบาสเกตบอลกล่าวไว้ว่า “Once I made a decision, I never thought about it again.” (เมื่อตัดสินใจแล้ว ผมก็ไม่เคยกลับไปคิดถึงมันอีกเลย)
คนที่มุ่งมั่นเต็มร้อยจะทำแบบนั้นได้ ตัดสินใจครั้งเดียวแล้วเดินหน้าต่อไม่ต้องเสียพลังงานไปกับความลังเลอีกต่อไป
เหมือนอย่างคุณแมวเช่นกัน
หากยังทำ 98% ความอยากที่เคยกดไว้ก็สามารถทะลักกลับมาได้ทุกเมื่อ แล้วสุดท้ายก็มักย้อนกลับไปสู่วงจรเดิม ดังนั้นการลงแรงแบบ 100% ตั้งแต่แรกต่างหากที่ช่วยตัดปัญหาการต่อสู้ในใจออกไปได้ ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงจะกลับคำในภายหลังบ่อยๆ และทำให้เราเดินไปถึงเป้าหมายง่ายขึ้น
💰 [ เอาหลัก 100% มาใช้กับวินัยการเงิน ]
มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) นักเขียนด้านการเงินชื่อดัง กล่าวว่าแท้จริงแล้วความสำเร็จทางการเงินหลักๆ ไม่ใช่เรื่องของความรู้ขั้นเทพหรือสูตรคำนวณซับซ้อนอะไร แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมและนิสัยทางการเงินของเราเองมากกว่า
วินัยและความสม่ำเสมอในการใช้เงินจึงสำคัญและหลัก “100% vs 98%" ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างวินัยนั้นให้เกิดขึ้นจริงเช่นกัน
ลองนึกถึงเป้าหมายการเงินของคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บออมเงินก้อนแรก ลงทุนระยะยาว หรือปลดหนี้สินให้หมด ฯลฯ
ที่ผ่านมาคุณทำไม่สำเร็จเพราะอะไร?
หลายครั้งไม่ใช่เพราะเราไม่รู้วิธี แต่เป็นเพราะเรามักแพ้ต่อ ‘ข้อยกเว้นเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง’ นี่แหละ
ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือนเอาไว้อย่างดี แต่พอถึงเวลาก็อนุโลมให้ตัวเองใช้เกินงบบ้างในบางโอกาส (เช่น “เดือนนี้วันเกิดทั้งที ซื้อของขวัญให้ตัวเองหน่อยละกัน”)
หรือเราให้สัญญากับตัวเองว่าจะไม่รูดบัตรเครดิตซื้อของฟุ่มเฟือยแล้ว แต่เห็นโปรโมชั่นผ่อน 0% เข้า หน่อยเดียวใจก็แกว่ง เผลอรูดซื้อแล้วผ่อนจ่ายอีกตามเคย สุดท้ายก็มีหนี้พอกพูนต่อไป
สิ่งเล็กๆ เหล่านี้คือตัวอย่างของ “ช่องโหว่ 2%" ที่คอยดึงเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้าเสียที เพราะทุกครั้งที่เรา “ยกเว้น” ให้ตัวเองหนึ่งครั้ง ครั้งต่อไปมันจะยิ่งง่ายขึ้นที่จะหาเหตุผลมายกเว้นอีกเรื่อยๆ เมื่อรู้ตัวอีกทีเราก็ทำตามแผนได้จริงๆ แค่ครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้นเอง
ถ้าอยากเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง เราอาจต้องลอง คุมเข้มแบบไม่มีข้อยกเว้น (100%) ดูสักตั้งในเรื่องการเงินของเราเอง
ฟังดูอาจเคร่งครัด แต่วิธีนี้แหละที่จะสร้างนิสัยใหม่ได้จริงจัง
ยกตัวอย่างเช่น ‘ถ้าซื้อของฟุ่มเฟือย (นอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็น) จะต้องเอาไปลงทุนในจำนวนเท่ากัน’
พอมีกฎแบบนี้ เราจะตัดสินใจง่ายเลย ถ้ามีเงินไม่พอจะต้องจ่าย 2 เท่าของสินค้าเราก็จะไม่ซื้อ ชีวิตไม่มีตัวเลือกให้ลังเลเรื่องนี้
ตัวอย่างแนวทาง 100% ในการจัดการเงินที่อาจลองนำไปใช้:
* เก็บออมทันทีที่ได้เงิน (Pay Yourself First): ตัดเงินออมทันทีที่คุณได้รับรายได้เข้าบัญชีทุกครั้ง เช่น หัก 10% ของเงินเดือนเข้าบัญชีเงินออม/ลงทุน โดยไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าสุดเดือนจะมีรายจ่ายจิปาถะหรือเหตุฉุกเฉินอะไร ก็ต้องเก็บส่วนนี้ก่อนแล้วใช้ที่เหลือ แนวทางนี้ทำให้การออมกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติและตัดความลังเลออกไป เพราะคุณปฏิบัติกับเงินออมเสมือนเป็น “ภาษี” ที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว
* ไม่สร้างหนี้ใหม่เด็ดขาด: ถ้าตอนนี้คุณมีหนี้สินที่อยากปลดให้หมด อย่าเพิ่มภาระให้ตัวเองอีกเป็นอันขาด ตัดสินใจว่าหากไม่มีเงินสดก็จะไม่รูดบัตรเครดิตซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่ผ่อนสินค้าใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น ใช้ของที่มีให้คุ้มและเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นทุกกรณี การทำแบบนี้ 100% จะบังคับให้คุณใช้ชีวิตอยู่ในวิถีที่ตัวเองจ่ายไหวจริงๆ และหยุดวงจรสร้างหนี้ไม่รู้จบลงได้
* งดรายจ่ายฟุ่มเฟือยในช่วงสร้างนิสัย: เลือกหมวดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่สุดของคุณขึ้นมาหนึ่งอย่างที่สิ้นเปลืองมาก (เช่น ค่าอาหารหรู/กาแฟแพง, ค่าเสื้อผ้าแบรนด์เนม, ค่าแกดเจ็ตอัปเกรดบ่อยๆ) แล้วปฏิญาณกับตัวเองว่าจะ งดใช้จ่าย 100% ในหมวดนั้นเป็นการชั่วคราวระยะหนึ่ง (เช่น 3 หรือ 6 เดือนแบบไม่มี Cheat Day) เมื่อครบกำหนดก็ลองประเมินผลดูว่าคุณเก็บเงินได้มากขึ้นแค่ไหน และคุณอาจพบว่าความอยากในสิ่งของฟุ่มเฟือยนั้นลดลงจนอาจจะแทบไม่อยากกลับไปใช้เงินกับมันเหมือนเก่าเลยด้วยซ้ำ
แต่ละคนอาจมีจุดที่ “รั่วไหล” ต่างกันไป ข้างบนนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ไม่จำเป็นต้องทำเป๊ะๆ ลองสำรวจว่าพฤติกรรมการเงินข้อไหนถ้าแก้ได้แบบจริงจังจะช่วยชีวิตได้มากที่สุด แล้วตั้งกฎ 100% กับสิ่งนั้นดู
ช่วงแรกๆ มันอาจจะยากและอึดอัดบ้าง แต่เมื่อทำต่อเนื่องไปสักระยะ คุณจะพบว่ามันง่ายขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราไม่ต้องคอยเสียงแตกในหัวระหว่างทางอีกแล้วนั่นเอง
แน่นอนว่าการเข้มงวดกับตัวเองแบบ 100% ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเคร่งครัดตึงเปรี๊ยะเช่นนี้ตลอดชีวิตไปจนแก่
การสร้างวินัยก็เหมือนจรวดที่ต้องเร่งเครื่องเต็มกำลังเพื่อทะยานพ้นแรงโน้มถ่วงโลกในช่วงแรก แต่พอขึ้นสู่วงโคจรได้แล้วก็สามารถลดกำลังเครื่องยนต์ลงได้บ้างโดยที่จรวดยังโคจรไปต่อเนื่องได้อยู่
กล่าวคือ วินัยเมื่อถึงจุดหนึ่งจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเราเอง เมื่อนั้นก็ไม่ต้องฝืนใช้พลังใจกับมันเหมือนตอนแรกๆ อีกต่อไป และตอนนั้นค่อยอนุญาตให้ตัวเองผ่อนปรนเป็นบางครั้งคราวได้โดยที่ไม่หลุดออกนอกลู่นอกทาง
อย่าลืมว่าการทำแบบ 100% จริงๆ แล้วง่ายกว่า 98%
อย่าปล่อยให้ “2% แห่งข้ออ้าง” มาขัดขวางความสำเร็จด้านการเงินของเรา
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง : หนังสือวิถีคนปานกลาง
https://www.psychologytoday.com/.../the-100-percent-rule
...
https://thecitesite.com/authors/clayton-m-christensen/
https://youtu.be/nUfMUPoTNsg?si=I8Cl2UAbV-GI5gfm
https://druckerwealth.com/.../lances-takeaway-from-the
...
#MakeRichGeneration #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการเงิน ดูน้อยลง
5 บันทึก
9
3
5
9
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย