29 มิ.ย. เวลา 11:30 • ไลฟ์สไตล์

กฎแบ่งเงิน “75-10-15” ที่คนมั่งคั่งแล้วมักใช้กัน

เคล็ดลับสร้างความรวยที่ทำได้เลย ไม่ว่าจะมีรายได้แค่ไหนก็ตาม
🎓 หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยและออกมาทำงานในวงการการเงินอยู่หลายปี วินเซนต์ ชาน (Vincent Chan) ตัดสินใจลาออกหลังจากเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ตัวเองไว้หนึ่งปีเพื่อมาทำอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบเต็มเวลา
แม้ตอนนั้นจะรายได้ดี (ประมาณ 120,000 เหรียญต่อไป หรือประมาณ 4.2 ล้านบาท) แต่เขารู้สึกว่าการทำงานในองค์กรมีความน่าปวดหัวไม่น้อย ทั้งการทำงานที่หนักมากๆ ความกดดัน และความวุ่นวายเรื่องการเมืองในบริษัท สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจว่าควรเริ่มมองหาทางออกที่เป็นของตัวเองจะดีกว่า
ก่อนหน้าที่จะลาออกในปี 2020 ระหว่างที่ทำงานประจำเขาค่อยๆ สร้างฐานผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียโดยการให้ความรู้ด้านการเงินที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
💡 “ผมใช้เวลา 60-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อทำให้องค์กรใหญ่ๆ รวยขึ้นไปอีก แทนที่จะสร้างอะไรเป็นของตัวเอง” เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Business Insider
ตอนนี้ผ่านมา 4 ปี ชานมีผู้ติดตามบน YouTube กว่า 731,000 คน และถ้ารวมโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ ก็เกิน 1 ล้านคนไปแล้ว ส่วนคอนเทนต์ที่เขาสร้างก็ยังเป็นเรื่องการเงิน โดยเป้าหมายคือการให้คำแนะนำที่จะช่วยให้คนอื่นสร้างชีวิตที่มั่งคั่งและสมบูรณ์มากขึ้นนั่นเอง
ในวิดีโอหนึ่งเขาเล่าถึงกฎการบริหารเงินแบบ ’75/10/15’ ที่คนแบบ ‘Top 1%’ หรือคนที่มั่งคั่งใช้กัน ข้อดีของกฎนี้คือมันยืดหยุ่น สามารถเอาไปปรับใช้ได้ในแทบจะทุกสถานการณ์ในชีวิตและไม่ว่าตอนนี้คุณจะมีรายได้มาก (หรือน้อย) แค่ไหนก็ตาม นอกจากจะมีเงินใช้ในปัจจุบันแล้ว ยังเหลือเก็บไว้สำหรับตัวเราเองในอนาคตได้ด้วย
⁉️ แล้วมันทำยังไง?
💰 ชานบอกว่าหลังจากได้เงินมาแล้วให้แบ่งเงินออกเป็น 3 ก้อน 75% 10% และ 15%
📌 [ ส่วน 75% ]
ก้อนนี้คือค่าใช้จ่ายของเราทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต ค่าเช่าบ้าน ค่ารถ โอนช่วยเหลือครอบครัว ค่าอาหาร ค่ารายเดือน Netflix ฯลฯ
ข้อดีของการให้เงินก้อน 75% มีอยู่ 2 อย่าง
1. มันบังคับให้เราวางขอบเขตการใช้เงินในแต่ละเดือนว่าจะอยู่ที่ตรงไหน ส่วนไหนลดได้ก็ลด ส่วนไหนไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องจ่าย ขยับเงินเข้าออกบางรายการในแต่ละเดือนที่อาจจะไม่เหมือนกันได้อยู่บ้าง เพราะชีวิตก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ชานเล่าว่าเพื่อนๆ ของเขาที่เป็นนักธุรกิจเป็นเศรษฐีเงินล้านเหรียญแล้ว แต่เวลาไปร้านอาหารก็ไม่ได้สั่งอาหารแพงๆ เวลาคิดเงินก็ต่างคนต่างจ่ายของตัวเองไม่มีการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย การมีลิมิตทำให้ทุกคนรู้ว่าต้องใช้เงินเดือนละเท่าไหร่
2. มันจะทำให้เราได้ชั่งน้ำหนักว่าอะไรบ้างที่เราให้คุณค่าในชีวิต ชานยกตัวอย่างเรื่องกาแฟว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่ากาแฟแก้วละ 50 บาท มันอาจจะแพง ถ้าเก็บเงินตรงนี้ไปทำอย่างอื่นดีกว่ารึเปล่า แต่เขาเสนอแนวคิดอีกด้านว่าถ้ากาแฟแก้วนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตคุณมีความสุข ทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั้งวันอารมณ์ดี มันก็อาจจะเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่าแล้วก็ได้
🎯 คำแนะนำที่ชานบอกคือให้เราไปโฟกัสที่การซื้อของชิ้นใหญ่ๆ บ้านหลังใหม่ รถยนต์คันใหม่ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ แกดเจ็ตแพงๆ ฯลฯ ของเหล่านี้ตอนที่เราซื้อมันอาจจะให้ความสุขกับเรามากก็จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระดับความสุขของเราก็จะกลับมาเกือบเท่าเดิมอยู่ดี
ถ้าใช้ไม่หมด 75% ทำยังไง เอาไปโยกใส่หมวดสุดท้ายครับ
📌 [ ส่วน 10% ]
ส่วนนี้ง่ายมากที่สุด มันคือการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน หรือที่เราเรียกว่า ‘Emergency Fund’ หรือ ‘Cushion Fund’ นั่นเอง
หน้าที่ของเงินสำรองฉุกเฉินก็เหมือนชื่อครับ เอามาใช้เมื่อฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่เอามาใช่เมื่ออยากกินชาบู หรือ อยากได้โทรศัพท์เครื่องใหม่ (ทั้งๆ ที่เครื่องเดิมก็ใช้ได้อยู่) แบบนี้ไม่เอา
🚨 ฉุกเฉินคือ สมมุติ เอารถไปชน ค่าซ่อม 100,000 บาท ประกันไม่จ่าย แล้วเราต้องใช้รถยนต์เพื่อทำงาน แบบนี้พอได้ หรืออย่างเช่นตกงานแล้วยังไม่มีรายได้เข้ามา แบบนี้ฉุกเฉินจริง
ต้องเก็บเท่าไหร่? เอารายจ่ายแต่ละเดือนของเรามาบวกกันครับ​ (ทุกอย่างเลยนะ) แล้วคูณจำนวนเดือนเข้าไป
ชานบอกว่าเก็บ 5 เดือน ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นก็บอก 6 เดือน หรือ 12 เดือน แล้วแต่ความสบายใจ แต่ถ้ามีสัก 6 เดือนก็น่าจะพออุ่นใจอยู่บ้าง
เพราะฉะนั้นเมื่อเงินเข้า ให้หัก 10% ออกมาใส่กองนี้ไว้ และให้ดีคือทำบัญชีฝากประจำดอกเบี้ยสูงไว้ด้วยก็ได้ เพื่อให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป
พอเก็บครบแล้วทำยังไง? เอาไปโยกใส่หมวดสุดท้ายครับ
📌 [ ส่วน 15% ]
ส่วนนี้คือส่วนที่จะทำให้เงินของเรางอกเงย ให้เงินของเราไปทำงานแทนเรา ให้เงินหาเงินตอนที่เราหลับ
สิ่งสำคัญคือเราต้องหาความรู้เรื่องการลงทุนไว้ด้วย ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีทำยังไง? กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำงานของเรามีรึเปล่า? หรือมีอะไรบ้าง ตรงนี้เราต้องเริ่มหาความรู้
💪 การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่นกองทุน ETF หรือ หุ้น ตรงนี้จัดสรรพอร์ตให้ดี สิ่งสำคัญคือต้องคิดไว้เสมอว่าการลงทุนนั้นเป็นการวิ่งมาราธอน ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ หาความรู้ อย่าหวังจะร่ำรวยในระยะเวลาอันสั้น หากเราไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความเสี่ยงจะยิ่งสูงมากขึ้นกว่าเดิม
สมมตินะครับว่าเราลงทุนเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 30 ปี ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% เมื่อครบ 30 ปี เงินก้อนนี้จะมีมูลค่ามากถึง 1,468,150.42 บาท โดยเป็นเงินต้น 360,000 บาท และ ดอกเบี้ย 1,108,150.42 บาท
แต่ถ้าออมเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 30 ปี ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% เมื่อครบ 30 ปี เงินก้อนนี้จะมีมูลค่ามากถึง 4,404,451.25 บาท โดยเป็นเงินต้น 1,080,000.00 บาท และ ดอกเบี้ย 3,324,451.25 บาท
🎯 [ตรงนี้สามารถไปลองเล่นเครื่องคิดเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยในลิงก์อ้างอิงได้เลยนะครับ]
ผลตอบแทน 8% อาจจะดูไปที่กองทุนดัชนีหรือกองทุนรวมหุ้น เพื่อให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ อาจจะลองจัดพอร์ตให้มีการกระจายความเสี่ยง หุ้น กองทุน ทองคำ ถ้าใครสนใจคริปโตก็ต้องศึกษาให้ดี เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยงจำตรงนี้ไว้เสมอครับ
ส่วนเงินที่เหลือจากสองส่วนแรก ถ้าใช้ไม่ถึง 75% หรือ ออมเงินฉุกเฉินได้ตามเป้าแล้ว ก็เอามาใส่รวมไว้ในกองลงทุนตรงนี้ได้เลย
⏰ สุดท้ายอย่าลืมนะครับว่านิสัยการเงินที่ดีเริ่มได้เลยตั้งแต่เงินยังไม่เยอะ กฎนี้ถ้าเริ่มทำตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยฝึกวินัยการเงินของเราให้เข้มแข็ง
💎 พอหน้าที่การงานก้าวหน้า รายได้เยอะขึ้นกลายเป็น Top1% นิสัยการเงินที่เป็นพื้นฐานที่ดีจะช่วยส่งให้เงินของเราในบัญชีนั้นเติบโตเร็วขึ้นอย่างเข้มแข็งไปด้วยครับ
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการบริหารเงิน #บริหารจัดการเงิน #TOP1Percent #คนรวยจัดการเงินแบบนี้
โฆษณา