Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
29 มิ.ย. เวลา 13:30 • ไลฟ์สไตล์
Squid Game คนยอมเสี่ยงชีวิตเพราะเป็นหนี้ ในชีวิตจริง…คนใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ทั้งที่หนี้ล้อมรอบตัว
ป้องกันตัวจากหนี้ไม่จำเป็น กลยุทธ์รู้ทันเกมหนี้ก่อนมันกลืนคุณทั้งตัว
วันนี้ Squid Game SS3 มาแล้ววว!
ใครที่ติดตามซีรีส์เรื่องนี้มาตลอด คงรู้ดีว่า ผู้เล่นในเกมต่างก็เป็นคนที่มีปัญหาทางการเงิน หรือสิ้นหวังกับชีวิตจนต้องยอมเดิมพันด้วย “ชีวิต” เพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาล
สิ่งที่ผลักให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่เกมอำมหิตนี้ ไม่ใช่แค่ความอยากรวย แต่คือ “หนี้” ที่ล้นตัวจนหาทางออกไม่เจอ ในเกม ถ้าคุณชนะ คุณจะได้ทุกอย่าง แต่ถ้าแพ้ คุณจะเสียทุกสิ่ง แม้แต่ “ชีวิต” ของตัวเอง
ในชีวิตจริง เราคงไม่มี Squid Game แบบในซีรีส์ เพราะมันโหดร้ายเกินกว่าจะยอมรับได้ และคนที่อยู่เบื้องหลังก็คงต้องได้รับโทษ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจริง และหลายคนกำลังเผชิญอยู่ นั่นคือ “การเป็นหนี้” เพียงแต่คนเป็นหนี้ไม่ต้องลงสนามแข่งเอาชีวิตรอด ไม่ต้องมีผู้คุมเกม เพราะแค่เอาตัวรอดให้ได้ในแต่ละเดือน ก็เหมือนกำลังเล่นเกมชีวิตในโหมดเอาชีวิตรอดอยู่แล้ว 🥹
ข้อมูลจาก #PRACHACHATExclusiveForum2025 คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) บรรยายไว้ว่า ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยเข้าขั้นวิกฤติ 88.4% ของ GDP มีรถยนต์สองแสนห้าหมื่นคันใกล้ถูกยึด มอเตอร์ไซค์อีกล้านกว่าคันที่เป็นหนี้เสีย แม้คนจะมีความรู้ กู้เงินได้ ขายของดี มีกำไร แต่ต้องรีบเอาเงินไปใช้หนี้
และไหนจะจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทอีก เรียกได้ว่า ในประเทศไทยตอนนี้ที่หันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง อย่าให้ตัวคุณต้องกลายเป็นอีกหนึ่ง “ผู้เล่น” ที่ติดอยู่ในวังวนของหนี้โดยไม่รู้ตัว มาเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจาก “หนี้สินที่ไม่จำเป็น” ก่อนที่จะสายเกินไป
🎯 1. รู้จักความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ใครหลายคนคงคิดว่าเป็น ‘หนี้’ มันไม่ดีไปทั้งหมด แต่เอาจริงๆ หนี้ที่ดีก็มี เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้บ้าน หรือการลงทุนในธุรกิจที่คุณเข้าใจความเสี่ยงและศึกษาข้อมูลมาอย่างดีแล้ว
แต่หนี้ที่เป็นปัญหาและบั่นทอนความมั่นคง ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นหนี้ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ฟุ้งเฟ้อ เช่น บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลจากการบริโภคเกินตัว ที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้จ่ายเพื่อสนอง “ความอยาก” มากกว่า “ความจำเป็น” เช่น การซื้อรถยนต์หรูเพราะเห็นว่าเพื่อนในกลุ่มเริ่มมี หรือการเลือกใช้ชีวิตหรูหราในคอนโดที่เกินกำลังรายได้
วิธีเข้าใจความต้องการที่แท้จริงทำได้ง่ายมาก แค่ลองตั้งคำถามง่าย ๆ กับตัวเองก่อนซื้อ
- สิ่งนี้จำเป็นจริงไหม?
- ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ชีวิตจะแย่ลงไหม?
บางครั้งเราอาจค้นพบว่า สิ่งที่เราคิดว่า “ต้องมี” อาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญขนาดนั้น
🎯 2. สร้างระบบการเงินที่มั่นคง
คนที่การเงินกำลังติดลบหรือเสี่ยงจะติดลบในเร็ว มักจะไม่รู้ว่าตัวเองติดลบอยู่เท่าไหร่ จึงทำให้ตั้งหลักไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ดังนั้นต้องวางแผนกันก่อน อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะการสู้หนี้โดยมีแผนย่อมดีกว่า
อันดับแรกให้เราตรวจสอบสภาพคล่อง คือการทำรายรับ-รายจ่าย โดยเขียนออกมาว่าในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าเราจะมี รายได้เท่าไหร่ / มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง / มีเงินคงเหลือเท่าไหร่ เพื่อให้เห็นว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ แล้วเราค่อยวางแผนจัดการทีละเดือนๆ
🎯 3. ออมก่อนสร้างหนี้ เพราะชีวิตต้องใช้อีกยาว
การใช้หนี้บัตรเครดิต หรือการใช้สิน ด้วยการเริ่มต้นจากการคิดว่า “เดี๋ยวก็มีเงินมาจ่าย” แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามคืออัตราดอกเบี้ยที่พอกพูนและทำให้หนี้บานปลาย ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้อย่าใช้เงินในอนาคตเพื่อตอบสนองความสุขชั่วคราว
แล้ว #ทำไมต้องออม ข้อมูลจากสภาพัฒน์ระบุว่า คนไทยในเขตเมืองต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท และคนไทยในชนบทต้องมีเงินออม 2.8 ล้านบาท จึงจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้หลังเกษียณ แต่ในความเป็นจริงแล้วตัวเลขนี้อาจไม่เพียงพอด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับว่าเราจะมีเงินใช้เฉลี่ยเดือนละ 11,000 บาทเท่านั้น ยังไม่นับรวมว่าหากเราเจ็บป่วยก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นอีก
ดังนั้น ถ้าเรารู้จักวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ สร้างความมั่งคั่งให้ดูแลตัวเองได้ในวันเกษียณจึงเป็นร่มกันฝนชั้นดี และจงจำไว้ว่า “หนี้สร้างแรงกดดัน แต่การออมสร้างอิสรภาพ” การเริ่มต้นวันนี้อาจช่วยให้คุณไม่ต้องพึ่งพาหนี้สินในวันข้างหน้า และมั่นใจได้ว่าชีวิตหลังเกษียณจะไม่เป็นภาระของใคร
🎯 4. ทำความเข้าใจความรู้ทางด้านการเงินเรียนรู้เรื่องดอกเบี้ยและภาระผ่อน
"หนี้สนทนาฉบับกูรู" ระหว่าง โค้ชหนุ่ม กับ รองผู้ว่าการ ธปท. ได้พูดถึงประเด็น #อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยเป็น “ลูกหนี้เรื้อรัง” โดยสาเหตุหลักอันดับต้นๆ เลยก็คือ
คนขาดทักษะและความรู้ทางด้านการเงิน & ไม่เข้าใจต้นทุนที่แท้จริงของหนี้
คนเป็นหนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ คนที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อ คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่วางแผนทางการเงินมาเป็นอย่างดี มีความระมัดระวัง มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นหนี้เพื่ออะไร มั่นใจว่าผ่อนไหว
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ไม่เห็นต้นทุนที่แท้จริงของหนี้เพราะขาดทักษะและความรู้ทางด้านการเงิน มักจะเป็นคนที่วางแผนการเงินไม่ดีนักหรือมีปัญหาต้องการใช้เงินเร่งด่วน เช่น เห็นโฆษณาดอกเบี้ย 6 บาทต่อวัน ก็คิดว่าดอกเบี้ยถูก ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เกิดการกู้เกินศักยภาพในการผ่อนชำระ ทำให้ตัดยอดไปไม่ถึงเงินต้นสักที เพราะจ่ายได้แต่ดอกเบี้ย จนกลายเป็น “ลูกหนี้เรื้อรัง” ในที่สุด
🎯 5. หาทางเพิ่มรายได้ ลดการพึ่งพาหนี้
ในบางครั้ง การลดรายจ่ายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ลองหาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น งานเสริม ขายของออนไลน์ หรือการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพ
[ 🫥แล้วถ้าเป็นหนี้ไปแล้วจะทำยังไงดี? ]
หากคุณเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ อย่าหนีหนี้หรือเพิกเฉย รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
เพราะหัวใจสำคัญที่สุด คือการเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ โดยแสดงความบริสุทธิ์ใจ แจ้งเจตนาว่าเรายังต้องการชำระหนี้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ทำให้เราจ่ายไม่ไหวจริงๆ ซึ่งบางคนอาจจะกลัว ไม่กล้าคุยกับเจ้าหนี้ แต่อย่าลืมว่าถ้าไม่เจรจาเลย เราก็ต้องอยู่ในสภาพเดิมต่อไป วิธีการเจรจาหนี้มีดังนี้
👉ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเอง
ขั้นตอนนี้ คนที่ยังไม่เป็นหนี้ก็ควรทำ ขั้นตอนนี้สำคัญมากการทำบัญชีจะช่วยให้เห็นภาพรวมการเงินของตัวเองอย่างชัดเจน รู้ว่ารายได้เท่าไร รายจ่ายส่วนไหนลดได้บ้าง และจะสามารถวางแผนใช้หนี้อย่างไรให้มีตัวเองยังพออยู่ได้และเจ้าหนี้มั่นใจได้ว่าเราจะใช้หนี้ได้มากขึ้น
👉ขอพักชำระหนี้
ต่อมาหากเป็นไปได้ ลองเจรจาขอพักชำระหนี้ทั้งก้อน คือหยุดจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า การพักชำระหนี้ดอกเบี้ยยังเดินอยู่เหมือนเดิม ซึ่งเราจะต้องไปจ่ายตอนหลัง แต่ข้อดีของมันคือหากเรามีหนี้หลายตัว หากเราขอพักชำระหนี้บางตัวไปได้ ก็จะทำให้มีเงินเหลือไปปิดหนี้ก้อนอื่นๆ
👉ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย
แต่ถ้าขอพักชำระหนี้ไม่ได้ แทนที่จะจ่ายค่างวดเต็มทุกเดือน ก็ลองขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย แต่ถ้าดอกเบี้ยและค่างวดใกล้เคียงกันมาก ก็อาจจะใช้วิธีถัดไปแทน
👉ขอลดค่างวด หรือขอลดดอกเบี้ย
ใช้ในกรณีที่ค่างวดและดอกเบี้ย มีจำนวนใกล้เคียงกันมากๆ ให้เราขอลดอย่างใดอย่างหนึ่งดูครับ ว่าสามารถทำได้ไหม และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรบ้าง
👉ยืดระยะเวลาผ่อน (เจรจา+รีไฟแนนซ์)
ถ้าขอใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้จริงๆ ลองเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้ออกไป เช่น เปลี่ยนจากหนี้บัตรเครดิตทั้งก้อน เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 48 เดือน เพื่อให้เราหายใจคล่องขึ้น หรือขอรีไฟแนนซ์ ย้ายหนี้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งดอกเบี้ยใหม่ควรต่ำกว่าดอกเบี้ยเดิมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
แต่สิ่งสำคัญในการเจรจาเรื่องหนี้สิน คือ ระยะเวลา เราไม่ควรเดินไปบอกเจ้าหนี้ว่า “จ่ายไม่ไหวแล้ว ขอหยุดพัก” แต่ควรมีกรอบระยะเวลาแจ้งกับเจ้าหนี้ด้วย เช่น ภายใน 3 เดือนหรือ 6 เดือน เป็นต้น
สรุป: เราเข้าใจดีว่าการหลุดพ้นจากหนี้หรือการไม่สร้างหนี้ตั้งแต่แรกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ทำได้หากมีวินัย และการวางแผนที่ดี เพราะสุดท้ายแล้ว การที่คุณไม่ต้องเข้าไปใน “Squid Game ชีวิตจริง” คือการมีอิสรภาพทางการเงินที่ไม่ต้องแลกมาด้วยอะไรทั้งสิ้น
เขียนและเรียบเรียงโดย กนกจันทร์ เรืองวัฒนานนท์ (Content Creator, aomMONEY)
ที่มา:
https://www.blockdit.com/posts/612db5082c174c041f2854f1
https://www.facebook.com/share/p/187nD7Atxv/
https://www.bot.or.th/.../mpr-box/MPR_2566_Q4_BOX4.pdf
https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/237318
#aomMONEY #SquidGame #ปลดหนี้ #จัดการหนี้ #ก่อนเป็นหนี้ต้องรู้ #การเงินส่วนบุคคล
1 บันทึก
5
1
1
5
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย