2 ก.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มอริเชียส มีรายได้เข้าประเทศ ปีละ 4,400 ล้านบาท จากการให้ประเทศอื่นเช่าเกาะ

ถ้าให้ลองหลับตานึกภาพว่า เราเป็นรัฐบาลของประเทศหมู่เกาะ ที่มีพื้นที่บนบกใกล้เคียงกับจังหวัดนครนายกของไทย และมีประชากรเพียง 1.2 ล้านคน
แต่ต้องอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ถึง 2,000 กิโลเมตร และไม่มีทรัพยากรมีค่าอะไรเลย
เราจะหารายได้เข้าประเทศ มาบริหารให้ประชาชนมีสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองอย่างไร ?
ถ้านึกไม่ออก เราลองมาดูวิธีการหารายได้เข้าประเทศ ของมอริเชียสกัน เพราะที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คือ ข้อจำกัดของประเทศมอริเชียส หนึ่งในประเทศที่รวยที่สุด และการเมืองมีเสถียรภาพมากที่สุดของทวีปแอฟริกา
แล้วมอริเชียสทำอย่างไร ถึงเอาชนะข้อจำกัดทั้งหมด และพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ถ้าหากเราเปิดดูแผนที่ ให้เลื่อนไปทางขวาของเกาะมาดากัสการ์ ที่อยู่ทางใต้ของแอฟริกาสักเล็กน้อย เราถึงจะเห็น มอริเชียส
ซึ่งแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ใกล้ประเทศแห่งนี้ที่สุดคือ แผ่นดินของทวีปแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2,000 กิโลเมตร
โดยมีเกาะมอริเชียส ชื่อเดียวกันกับชื่อประเทศ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด และเป็นที่ตั้งของเมือง Port Louis ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ
ประวัติศาสตร์ของประเทศแห่งนี้ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นานนัก เพราะหมู่เกาะแห่งนี้ เคยเป็นเกาะร้างที่ไม่เคยมีใครอาศัยอยู่เลย
จะมีก็เพียงแต่นักเดินเรือชาวอาหรับ ที่อาศัยจอดแวะพักเรือ หาของป่าเพื่อเติมเสบียงเท่านั้น
ต่อมาในยุคของการล่าอาณานิคม เกาะแห่งนี้ถูกยึดครองโดยมหาอำนาจในยุโรปหลายชาติ ถูกเปลี่ยนมือจากโปรตุเกสไปสู่ดัตช์ จากดัตช์สู่ฝรั่งเศส และจากฝรั่งเศสสู่เครือจักรภพอังกฤษในปี 1810
ในช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเกาะนี้ ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนดินแดนรกร้างไร้ผู้คนแห่งนี้ ให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และนำทาสจากแอฟริกาเข้ามาเป็นแรงงาน
พออังกฤษยึดครองเกาะนี้ได้สำเร็จ ก็เข้ามาสานต่อการผลิตน้ำตาล แต่แทนที่จะใช้คนแอฟริกาเหมือนฝรั่งเศส อังกฤษกลับนำคนอินเดีย เข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานน้ำตาล
ทำให้ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวมอริเชียส ก็ไม่ต้องแปลกใจเลย หากเดินผ่านคนท้องถิ่นสัก 10 คน เราจะเห็นคนประมาณ 6 คน หน้าเหมือนคนอินเดีย
และในปัจจุบัน การผลิตน้ำตาล ก็ยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจของมอริเชียส แม้ว่าจะได้รับเอกราชจากเครือจักรภพอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1968 แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลแล้ว ปัจจุบันมอริเชียสยังมีเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อยู่มากมาย
1
แม้หมู่เกาะมอริเชียสจะดูอันตราย ถ้าดูจากแหล่งกำเนิดของเกาะนี้ที่มาจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ท้องทะเล
แต่ภายใต้ความอันตราย และน่ากลัวนี้ มีความสวยงามของปะการังซ่อนอยู่ใต้ทะเลรอบชายฝั่งของเกาะแห่งนี้
ทำให้ “การท่องเที่ยว” เป็นอีกเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับมอริเชียส
แต่ทั้งการท่องเที่ยว และการผลิตน้ำตาล มีรายได้ที่ขึ้นลงตามฤดูกาล และสภาพอากาศ หากเกิดพายุ หรือภัยแล้ง รายได้จาก 2 ส่วนนี้ก็จะลดลง
รัฐบาลมอริเชียสจึงต้องมองหาแหล่งรายได้ที่ไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยอาศัยสิ่งที่ธรรมชาติให้มา นอกเหนือจากความสวยงามของภูมิประเทศ นั่นคือตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
จากที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าประเทศมอริเชียสตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของเส้นทางการเดินเรือโลก
การพัฒนาเมืองท่าปลอดภาษีแบบสิงคโปร์ จึงเป็นอีกต้นแบบที่มอริเชียสสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้
โดยการพัฒนาเมืองท่าปลอดภาษี เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลมอริเชียสที่เรียกว่า “The Ocean Economy”
หรือการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล ที่ครอบคลุมตั้งแต่การทำประมง, การท่องเที่ยว, การพัฒนาท่าเรือ และการค้นหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล
ซึ่งมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของมอริเชียสคิดเป็น 10% ของ GDP มอริเชียสเลยทีเดียว
อีกวิธีในการหารายได้ของมอริเชียส จากการใช้ความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ คือการปล่อยเช่าเกาะ ให้รัฐบาลต่างชาติใช้ตั้งฐานทัพ
1
เหนือเมืองหลวงมอริเชียสขึ้นไปอีก 2,000 กิโลเมตร คือเกาะดิเอโก การ์เซีย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของหมู่เกาะชากอส
1
เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะตั้งอยู่ในใจกลางมหาสมุทรอินเดีย เครื่องบินที่บินออกจากจุดนี้ สามารถไปได้ทั้งแอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันกลางทางเลย
เกาะดิเอโก การ์เซีย จึงเหมาะมากที่จะถูกใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศ ซึ่งประเทศมหาอำนาจมากมายต่างก็มองเห็นความได้เปรียบของเกาะแห่งนี้
1
อย่างไรก็ตามเกาะดิเอโก การ์เซีย อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมานาน ตั้งแต่ที่ประเทศมอริเชียสยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
จวบจนกระทั่งมอริเชียสได้รับเอกราชจากอังกฤษไปแล้ว เกาะดิเอโก การ์เซีย ก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเช่นเคย
เนื่องจากอังกฤษเห็นว่าเกาะแห่งนี้ เหมาะที่จะถูกใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพของตัวเอง จึงมีการก่อสร้างสนามบินทางทหาร และค่ายทหารขึ้นที่เกาะแห่งนี้ร่วมกับชาติพันธมิตรอย่าง สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 1970
จนล่าสุดเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา ทางอังกฤษตัดสินใจคืนเกาะแห่งนี้ให้กับมอริเชียส พร้อมกับทำสัญญาเช่าเกาะแห่งนี้ต่อไปอีก 99 ปี
พร้อมพ่วงสิทธิที่จะต่ออายุการเช่าพื้นที่ไปอีก 40 ปี แลกกับการที่รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินให้กับประเทศมอริเชียสปีละ 4,400 ล้านบาท
สัญญาเช่าเกาะที่มอริเชียสทำกับรัฐบาลอังกฤษฉบับนี้เอง ที่เหมือนเป็นเครื่องการันตีว่า ประเทศมอริเชียสจะมี Passive Income จากการให้เช่าเกาะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ปีละ 4,400 ล้านบาท ตลอด 99 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน
ไม่ต่างอะไรจากการที่คนทั่วไปปล่อยเช่าอะพาร์ตเมนต์ เพื่อเก็บค่าเช่าไปเรื่อย ๆ เลย
นอกจากนี้มอริเชียสยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของแอฟริกาอีกด้วย โดยมีสำนักงานของบริษัทต่างชาติมากมายที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจในแอฟริกา ตั้งอยู่ในเมือง Port Louis เมืองหลวงของมอริเชียส
จากการที่มอริเชียส เขียนกฎหมายให้เอื้อต่อความสะดวกในการเข้ามาจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติ
ผลจากการปฏิรูประบบกฎหมายให้มีความทันสมัย ก็ทำให้มอริเชียส ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีหลักกฎหมายดีที่สุดในกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้
และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้ประเทศมอริเชียส เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา อยู่ที่ 1,005,934 บาทต่อคนต่อปี
เรื่องราวการสร้างชาติของมอริเชียส คือเรื่องราวการสร้างประเทศที่มีต้นกำเนิดมาจากการกวาดต้อนผู้คนต่างถิ่น มาเป็นแรงงานสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศมหาอำนาจ ในดินแดนไกลบ้านของพวกเขา
จนดินแดนแห่งนี้ได้รับเอกราชจากประเทศมหาอำนาจ จึงเป็นหน้าที่ของผู้คนที่เคยถูกกวาดต้อนมา ต้องกำหนดอนาคตของดินแดนที่กำลังจะกลายเป็นบ้านของพวกเขาอย่างแท้จริง
ซึ่งถ้ามองจากปัจจุบัน ย้อนไปในอดีต ก็ต้องบอกว่าพวกเขาเหล่านั้นได้สร้างประเทศแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ได้ดี
แต่ถ้าให้มองออกไปในอนาคต ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตของประเทศแห่งนี้ จะยังคงสวยงามเหมือนแนวปะการังที่ล้อมรอบประเทศแห่งนี้ อยู่หรือไม่..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หนึ่งในธุรกิจไทย ที่ตอนนี้กำลังเข้าไปทำธุรกิจในมอริเชียสก็คือ ชาตรามือ โดยเป็นการส่งออกสินค้าของทางบริษัทไปขาย
#เศรษฐกิจ
#แอฟริกา
#มอริเชียส
โฆษณา