Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
วันนี้ เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
David Einhorn จากเซียนโป๊กเกอร์ สู่นักลงทุน สายชอร์ตเซล ในตำนาน
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำเตือนว่า
อย่าไปยุ่งกับหุ้นเลย เล่นหุ้นก็เหมือนเล่นพนัน
แต่ก็มีนักลงทุนระดับเซียนหลายคนแย้งว่า
จริง ๆ แล้ว การลงทุนกับการพนันไม่เหมือนกัน
เพียงแต่มีเส้นบาง ๆ คั่นอยู่
หนึ่งในคนที่เข้าใจเรื่องนี้ดี คือ คุณ David Einhorn
เซียนโป๊กเกอร์ ที่เคยคว้าอันดับที่ 13 ในปี 2024 จากรายการแข่งขันโป๊กเกอร์ระดับโลกอย่าง WSOP Paradise
แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง เขาคือผู้บริหารกองทุน Greenlight Capital ที่เคยบริหารสินทรัพย์กว่า 391,400 ล้านบาท และสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ 15.4% ตั้งแต่ปี 1996
และตลอดอาชีพการลงทุน คุณ Einhorn มีชื่อเสียงจากการชอร์ตเซลสินทรัพย์ และเป็นที่มาของคำเรียกใหม่เวลาหุ้นตกว่า Einhorn Effect
แต่สุดท้าย ชื่อเสียงด้านการชอร์ตหุ้นของเขา ก็สะดุดลง เมื่อเขาเลือกแทงสวนบริษัทระดับโลกที่ชื่อว่า Tesla..
เรื่องราวของคุณ Einhorn น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในมุมมองการลงทุน คุณ Einhorn เคยเปรียบเทียบว่า การลงทุนก็เหมือนการเล่นโป๊กเกอร์ เพราะทั้งสองอย่างนี้ ต้องตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
เขาบอกว่า ในเกมโป๊กเกอร์มีข้อมูลอยู่ 3 แบบ
1. ไพ่ในมือเรา คือ สิ่งที่เรารู้
2. ไพ่ของคู่แข่ง คือ สิ่งที่เราคาดเดาได้
3. ไพ่กองกลาง คือ สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ในอนาคต
การลงทุนก็เป็นแบบเดียวกัน
เรารู้ข้อมูลบางอย่าง เช่น งบการเงินของบริษัท
เดาบางอย่าง เช่น พฤติกรรมของตลาด
และต้องรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึงและควบคุมไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ในอนาคต หรือภัยพิบัติต่าง ๆ
สำหรับชื่อเสียงด้านการลงทุนนั้น คุณ Einhorn ก่อตั้งกองทุนของตัวเองชื่อ Greenlight Capital ในปี 1996 ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุแค่ 27 ปี และมีประสบการณ์จากการทำงานด้านสายการเงินและการลงทุนมาตั้งแต่เรียนจบ
โดยตอนนั้น เขาก่อตั้งกองทุนด้วยเงินทุนเริ่มต้นไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินของครอบครัว และหุ้นส่วนของเขา
ในปีแรก กองทุนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 37% และปีถัดไปก็สูงกว่า 50%
กลยุทธ์ของคุณ Einhorn เน้นการซื้อหุ้นที่เขาประเมินแล้วว่ามีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง และชอร์ตในหุ้นที่คิดว่า มีราคาสูงเกินไป เพื่อทำกำไรในขาลง
นอกจากนี้เขายังชอร์ตในตราสารหนี้ที่เขามองว่ามีความเสี่ยงสูง
หรือลงทุนในบริษัทที่กำลังล้มละลายด้วย เนื่องจากราคาสินทรัพย์ มักถูกขายในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะความกลัว แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็มักจะได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก และคุ้มค่ากับความเสี่ยง
มูฟต่อมาที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง เกิดขึ้นในปี 2002 ตอนนั้นคุณ Einhorn ได้เปิดโปง และชอร์ตหุ้น Allied Capital บริษัทการเงินที่เขาเชื่อว่ามีปัญหาด้านบัญชี และความโปร่งใส
โดยเขาพบว่าบริษัทใช้วิธีประเมินมูลค่าสินทรัพย์เกินจริง และบิดเบือนข้อมูลการปล่อยกู้ เพื่อให้ดูว่ากำไรดี ทั้งที่ในความเป็นจริง พอร์ตสินเชื่อของบริษัทมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูง
หลังการเปิดโปงปัญหานี้ในปี 2002 ทำให้ราคาหุ้นร่วงหนักทันที และเป็นหนึ่งในดีลที่สร้างชื่อเสียงให้เขา
รวมถึงในปี 2007 เขาได้เปิดโปงความผิดปกติของ Lehman Brothers หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในขณะนั้น
ซึ่งมีประเด็น เรื่องการซ่อนหนี้ในงบดุล เพื่อสร้างภาพว่าบริษัทยังแข็งแรง ทั้งที่ความจริงซ่อนหนี้สินไว้เป็นจำนวนมาก จนท้ายที่สุดบริษัทล้มละลายในปี 2008 ลุกลามเกิดเป็นวิกฤติการเงินโลก
3
ชัยชนะครั้งนั้นไม่เพียงสร้างผลตอบแทนให้กับเขา แต่ยังยืนยันภาพลักษณ์ของคุณ Einhorn ในฐานะนักลงทุนเชิงรุกที่กล้าท้าทายความไม่โปร่งใสของตลาดทุน
อีกเคสหนึ่งก็คือในปี 2011
คุณ Einhorn ได้ชอร์ตหุ้น Green Mountain บริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายกาแฟแคปซูลที่ใช้กับเครื่องชงกาแฟ
หลังสงสัยว่าบริษัทรายงานกำไรเกินจริง เพราะสินค้าคงคลังเพิ่มเร็วเกินกว่าการขายจริง
ทำให้ตลาดสงสัยว่า บริษัทโตไม่จริง และผลประกอบการออกมาต่ำกว่าที่คาด จึงทำให้ราคาหุ้นร่วงหนักหลังจากนั้น และคุณ Einhorn ก็ได้กำไรจากการเปิดสถานะชอร์ตในดีลนี้
ด้วยชื่อเสียง และฝีมือการลงทุนของเขา นักลงทุนในตลาดจึงตั้งคำเรียกใหม่เวลาหุ้นตกว่า “Einhorn Effect”
เพราะเมื่อคุณ Einhorn ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หุ้นตัวไหน ตลาดก็มักจะตอบสนองแรง จนราคาหุ้นตัวนั้นร่วงลงทันที
Einhorn Effect จึงกลายเป็นคำที่สะท้อนพลังของความน่าเชื่อถือของคุณ Einhorn
ด้วยผลงานและชื่อเสียง ก็ทำให้กองทุน Greenlight Capital เติบโตขึ้นจนมีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) กว่า 391,400 ล้านบาท
แต่เส้นทางของคุณ Einhorn ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อเสียงด้านการชอร์ตของเขาต้องหมดมนตร์ขลัง นั่นคือ การเข้าชอร์ตหุ้น Tesla..
ช่วงปี 2013 ถึง 2020 คุณ Einhorn มองว่า Tesla คือบริษัทที่ไม่มีเสถียรภาพ
เขาไม่เชื่อว่าโมเดลธุรกิจจะไปได้ไกล อีกทั้งยังไม่มั่นใจว่า Tesla จะผลิตรถได้ตามแผน และยังมองว่าคุณ Elon Musk เป็นซีอีโอที่ขาดวินัยทางการเงิน
เขาจึงตัดสินใจเข้าชอร์ตหุ้น Tesla หรือพูดง่าย ๆ คือวางเดิมพันว่าหุ้นจะร่วง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงข้าม เพราะแทนที่ราคาหุ้นจะตกลงตามที่เขาคิด หุ้น Tesla กลับพุ่งขึ้นสวนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในปี 2020 ที่ราคาหุ้นทะยานขึ้นมากกว่า 7 เท่า
ทำให้กองทุน Greenlight Capital ของคุณ Einhorn ขาดทุนมหาศาล และถือเป็นหนึ่งในความผิดพลาดครั้งใหญ่ของเขา
เมื่อผลตอบแทนของกองทุน Greenlight Capital เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์ที่เคยมี ก็เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง มาอยู่ที่ราว ๆ 179,400 ล้านบาท ในปี 2018
และปัจจุบันเหลือเพียง 65,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากการชอร์ตเซลที่สร้างชื่อเสียงให้เขา
คุณ Einhorn ก็ยังยึดมั่นในกลยุทธ์เน้นหาหุ้นมูลค่าถูกมาโดยตลอด ขณะที่ตลาดในยุคนั้นให้ความสำคัญกับหุ้นเติบโตเร็ว เช่น Amazon, Netflix และ Tesla ที่ราคาพุ่งขึ้นสูง
แม้ผลตอบแทนจะตกต่ำ และมีเสียงวิจารณ์จากนักลงทุน แต่คุณ Einhorn ก็ยังยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง พร้อมบอกนักลงทุนในกองทุนว่า ผลตอบแทนจะกลับมาในระยะยาว
ปัจจุบันนี้ คุณ Einhorn ยังคงเป็นที่จับตามองในวงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
เขามักออกมาให้สัมภาษณ์ และแชร์แนวคิดการลงทุนผ่านสื่อหลายช่องทาง
เพื่อช่วยให้นักลงทุนรุ่นใหม่ และผู้สนใจ ได้เข้าใจวิธีคิด และมุมมองในการบริหารเงินอย่างรอบคอบ
นี่คือเหตุผลที่เขายังคงได้รับความนับถือ และเป็นแรงบันดาลใจในวงการการเงินจนถึงวันนี้
ถึงคุณ Einhorn จะเคยบอกไว้ว่า การลงทุนก็เหมือนการเล่นโป๊กเกอร์ เพราะทั้งสองอย่าง เราต้องตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
เรารู้บางอย่าง เดาบางอย่าง และต้องรับมือกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการลงทุนคือการพนัน
สิ่งที่แยกมันออกจากกัน คือ “การบริหารความเสี่ยง”
คุณ Einhorn ไม่ได้ทุ่มสุดตัวแบบไม่คิด
เขาวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน และเตรียมรับมือกับความผิดพลาด
แม้วันนี้กองทุน Greenlight Capital ของเขาจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต แต่เขาก็ยังคงโลดแล่น อยู่ในตลาดการลงทุนต่อไปได้ แม้จะเจ็บหนักจากการชอร์ต Tesla มาแล้วก็ตาม..
หุ้น
การลงทุน
4 บันทึก
21
2
4
21
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย