2 ก.ค. เวลา 01:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติ ปล่อย “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” พร้อมมาตรการใหม่ “จ่าย ตัด ต้น” รองรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

จากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่มีมากถึง 16 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบ 90% ของ GDP ประเทศไทย
จึงเป็นที่มาของโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" มาตรการชั่วคราวของรัฐบาลไทย ที่จัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สิน
ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศเปิดตัวโครงการในเฟสที่ 2 แล้ว
โครงการเราสู้ด้วยกัน ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของไทยได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โดยหากย้อนไปดู “คุณสู้ เราช่วย เฟส 1” จะมี 2 มาตรการเดิม คือ
1. จ่ายตรง คงทรัพย์ มาตรการที่รวมหลากหลายประเภทหนี้ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และธุรกิจ SMEs
1
มีหลักการง่าย ๆ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีหนี้ เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการ
โดยเป็นการชำระหนี้แบบลดค่างวด และพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี หรือก็คือ ค่างวดลดลง และชำระดอกเบี้ย 0% 3 ปี
และมีเงื่อนไขว่า ลูกหนี้ต้องไม่ไปก่อหนี้เพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเริ่มมาตรการ
ที่น่าสนใจคือ หากชำระเงินตรงเวลาตลอด 3 ปี
และไม่ก่อหนี้ใหม่ในปีแรก ดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้ง 3 ปีจะถูกยกเว้น และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยก้อนนั้นเลย
ซึ่งมาตรการนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องมากขึ้น ในระหว่างที่เข้าร่วมมาตรการ
รวมถึงเป็นการเคลียร์ ก้อนหนี้ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ให้เหลือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หากทำตามเงื่อนไขได้ตลอด 3 ปี
2. มาตรการที่ 2 คือ จ่าย ปิด จบ
เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยโฟกัสที่กลุ่มสินเชื่อ NPL ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน และมียอดหนี้ไม่สูง
โดยนำมาเข้าการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน ซึ่งเจาะไปถึงฐานลูกหนี้ของกลุ่ม Nonbank ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
มาตรการนี้จะเข้ามาช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ให้สามารถจัดการหนี้ได้ และป้องกันไม่ให้หลุดไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ
2
โดยผลลัพธ์คือการเปลี่ยนสถานะจาก หนี้เสีย เป็น ปิดจบหนี้ เพื่อเคลียร์ประวัติเครดิตและเริ่มต้นใหม่ในระบบการเงิน ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพอีกครั้ง
ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการในเฟส 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี
และพบว่าลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย รวมเป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท
ซึ่งโครงการมีส่วนช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะในสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงช่วยชะลอการยึดรถ และพยุงราคาของรถยนต์มือสอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกหนี้หลายรายที่ไม่เข้าคุณสมบัติของโครงการในเฟส 1 เช่น สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการชำระหนี้
3
จึงเป็นที่มาของการขยายระยะเวลาการสมัครเข้าร่วมโครงการ คุณสู้ เราช่วย ในเฟส 1 ไปจนถึง 30 กันยายน 2568
รวมถึงการเปิดตัวโครงการคุณสู้ เราช่วย เฟส 2 ซึ่งสิ่งที่เพิ่มมาก็คือ การขยายคุณสมบัติของมาตรการเดิมทั้ง 2 มาตรการ ในเฟส 1 ก็คือ
- มาตรการ จ่ายตรง คงทรัพย์ ขยายให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 ถึง 30 วัน
โดยที่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประเภทลูกหนี้และวิธีการให้ความช่วยเหลือยังเหมือนกับเฟส 1
- มาตรการ จ่าย ปิด จบ ขยายให้ครอบคลุมยอดหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
ซึ่งมาตรการช่วยเหลือยังเหมือนกับเฟส 1 คือ ลูกหนี้จ่ายเพียง 10% เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชีทันที
และอีกหนึ่งมาตรการใหม่ในเฟส 2 คือ จ่าย ตัด ต้น ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ NPL ที่มีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และมียอดหนี้คงไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี
โดยการปรับโครงสร้างหนี้ มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้เลยหากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี
จะเห็นว่า หลักการของโครงการคุณสู้ เราช่วย ก็คือ หากลูกหนี้พร้อมกัดฟันสู้ และตั้งใจชดใช้หนี้ในระยะเวลา 3 ปี
1
มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะช่วยซัปพอร์ต ทำให้การชำระหนี้เห็นผลมากขึ้น ยอดหนี้ลดลง ทำให้เมื่อชำระหนี้ครบ 3 ปี แล้วภาระหนี้ที่เคยหนักอึ้ง ก็จะเบาลงอย่างเห็นได้ชัด
อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เคลียร์ประวัติการชำระหนี้ที่เคยย่ำแย่ ไม่น่าเชื่อถือ ให้ดูดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระบบสถาบันการเงิน ป้องกันการหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกินสังคมไทยมายาวนาน
และหากมองในมุมของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินแล้ว หนี้เสียที่มีก็เหมือนต้นทุนของกิจการ
สถาบันการเงินเหล่านี้ ก็เต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อนำ NPL ที่มีอยู่ มาชำระล้าง และทำให้พอร์ตสินเชื่อโดยรวมของกิจการ มีคุณภาพดีขึ้นเช่นกัน..
โฆษณา