4 ก.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แกะสูตรการลงทุน Yale มหาวิทยาลัยเจ้าของพอร์ตการลงทุน 1,000,000 ล้านบาท

คำว่า “มหาวิทยาลัย” กับ “พอร์ตการลงทุน” ดูจะเป็น 2 คำศัพท์ที่ไม่น่ามาอยู่ด้วยกันได้
แต่รู้ไหมว่า มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยในไทยเอง ต่างก็มีพอร์ตการลงทุนด้วยกันทั้งสิ้น
โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องว่ามีฝีมือการบริหารพอร์ตการลงทุนได้ดีไม่แพ้สถาบันการเงินใหญ่ ๆ ก็คือ มหาวิทยาลัย Yale
เพราะนับตั้งแต่ปี 1985-2021 กองทุนของมหาวิทยาลัย Yale สร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ย 13.7% ต่อปี
มากกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ทำได้เพียง 10.3% เท่านั้น และชนะดัชนี S&P 500 ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 8.8% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย
แล้วอะไรคือเคล็ดลับการลงทุนของ Yale ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
มหาวิทยาลัย Yale ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1701 โดยบาทหลวงกลุ่มหนึ่ง ในรัฐคอนเนทิคัต สหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นไม่นาน กองทุนของ Yale ก็ถูกจัดตั้งขึ้น เมื่อคุณ James Fitch บริจาคที่ดินขนาด 637 เอเคอร์ หรือประมาณ 2.58 ตารางกิโลเมตร ให้แก่มหาวิทยาลัย
หลายคนอาจสงสัยว่าพื้นที่ขนาด 2.58 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่แค่ไหน ก็ให้ลองนึกภาพว่า พื้นที่ขนาดนี้สร้างสวนลุมพินีติดต่อกันประมาณ 4 สนามครึ่งได้เลย
นอกจากนี้ Yale ยังได้รับสิ่งของ และเงินทุนสนับสนุนมากมาย จากหลายแหล่ง
โดยในช่วงปี 1800 ผู้บริหารทรัพย์สินของ Yale นำเงินที่ได้รับบริจาคไปก่อตั้งธนาคารที่ชื่อว่า the Eagle Bank of New Haven
แต่พอถึงปี 1825 ธนาคารแห่งนี้ก็ล้มละลาย และเงินของกองทุนมหาวิทยาลัยกว่า 90% ก็หายวับไปภายในพริบตา
ในปี 1831 มหาวิทยาลัย Yale จึงต้องมีการเปิดระดมทุนขึ้นมาใหม่ จนสะสมเงินบริจาคได้ครบ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นประมาณ 119 ล้านบาทในปัจจุบัน)
ซึ่งต่อจากนั้น มหาวิทยาลัย Yale จึงเน้นลงทุนในพันธบัตรมากถึง 71% ส่วนอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 16% สุดท้ายก็คือหุ้น 13%
แต่สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกองทุน Yale ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 42% ในทศวรรษ 1920 ก่อนที่จะเกิด Great Depression ในปี 1929 และกองทุน Yale ก็ขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนในหุ้นอีกครั้ง
การขาดทุนใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในอีก 30 ปีต่อมา Yale ต้องกลับไปเน้นลงทุนในพันธบัตรประมาณ 66% ซึ่งถือว่าเป็นการจัดพอร์ตแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ข้อเสียคือผลตอบแทนก็จะต่ำตามไปด้วย
จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญตอนที่คุณ Harry Markowitz นำเสนอทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ในปี 1952
ทำให้รูปแบบการจัดพอร์ตแบบ 60/40 หรือ 60% ลงทุนในหุ้น อีก 40% ลงทุนในพันธบัตร ได้รับความนิยมอย่างมาก
ไม่เว้นแม้แต่ Yale ที่ขยาดจากการลงทุนในหุ้นมานาน ก็เริ่มกลับมาให้น้ำหนักกับหุ้นอีกครั้ง
แต่ดูเหมือนว่า Yale จะไม่ถูกโฉลกกับการลงทุนในหุ้นจริง ๆ เพราะนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ Yale ต้องขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น
จนมีพระเอกขี่ม้าขาวที่ชื่อว่าคุณ David Swensen เข้ามาช่วยพลิกสถานการณ์
โดยคุณ David เรียนจบเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Wisconsin ในปี 1975 และต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Yale ในสาขาเดียวกัน
เมื่อเรียนจบ คุณ David ก็เริ่มงานที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่ชื่อ Salomon Brothers ก่อนที่จะถูก Yale ดึงตัวมาให้ช่วยบริหารพอร์ตการลงทุนของมหาวิทยาลัย
ที่น่าสนใจก็คือตอนนั้นคุณ David ยอมละทิ้งรายได้ต่อปีที่สูงถึง 33 ล้านบาท มารับเงินเดือนที่ต่ำกว่ากับมหาวิทยาลัย Yale
ซึ่งเหตุผลที่คุณ David ตอบรับข้อเสนอของ Yale ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า การทำงานใน Wall Street ไม่ได้สร้างความสุขทางใจให้เขาเท่าไรนัก แต่เขากลับมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสถาบันการศึกษามากกว่า
อย่างไรก็ตามกองทุนมหาวิทยาลัย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากกองทุนอื่น ๆ ตรงที่ต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่าย ที่กองทุนต้องจ่ายในทุก ๆ ปีด้วย
เช่น เงินอุดหนุนการศึกษา หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของกองทุนในระยะยาวด้วย
ซึ่งคำว่าระยะยาว ในความหมายของ Yale ไม่ใช่ 5 ปี 10 ปี หรือเพียงแค่ชั่วอายุคนเท่านั้น แต่คือการสร้างพอร์ตการลงทุนที่เป็นอมตะ เพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ตราบเท่าที่มหาวิทยาลัยยังคงอยู่
การบริหารพอร์ตการลงทุนของมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าการบริหารกองทุนรวมทั่วไป เพราะถ้ากองทุนทำผลตอบแทนได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแต่ละปี ในอนาคตกองทุนจะไม่มีเงินเหลืออยู่เลย
ซึ่งปกติแล้ว กองทุนมหาวิทยาลัยจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีอยู่ที่ 4-5% ของทรัพย์สินในกองทุนทั้งหมด
ด้วยอัตราค่าใช้จ่ายเท่านี้ ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของ Yale ก็เคยคาดการณ์กันว่า หากไม่นำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน เงินของกองทุนจะหมดลงภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี
และเพื่อป้องกันไม่ให้เงินของกองทุนร่อยหรอ ผู้จัดการกองทุนจึงต้องทำผลตอบแทนให้ได้ไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ย 4% และอัตราค่าใช้จ่ายต่อทรัพย์สินรวมเฉลี่ย 5% รวมกันไม่ต่ำกว่า 9%
ในปี 1985 กองทุนของ Yale ได้เลิกยึดติดกับทฤษฎี MPT และค่อย ๆ ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงทีละน้อย จนเหลือแค่ 14% ในปี 2000
แล้วหันไปให้ความสำคัญกับ Real Assets เช่น สินค้าโภคภัณฑ์, ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ และ Alternative Assets เช่น กองทุน Private Equity, กองทุน Hedge Fund จนมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 14.9% และ 25% ตามลำดับ
จากเดิมในปี 1985 ที่มีน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้แค่ 8.5% และ 3.2% ตามลำดับ
การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนไปที่สินทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหุ้น อย่างเช่น Real Assets และ Alternative Assets นี่เอง ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กองทุนของ Yale สร้างผลตอบแทนได้เหนือกว่าตลาด
จนมีคนขนานนามกลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ว่า “Yale Model” ซึ่งต่อมาจะกลายมาเป็นต้นแบบให้สถาบันการเงินใหญ่ ๆ จัดพอร์ตการลงทุนโดยให้ความสำคัญกับสินทรัพย์นอกตลาดมากขึ้น
และอย่างที่กล่าวไปตอนต้นบทความว่า พอร์ตการลงทุนของมหาวิทยาลัย Yale นั้น สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 13.7% ต่อปี
ถ้าหากเรานำไปเทียบกับผลตอบแทนขั้นต่ำ ที่ผู้จัดการกองทุนของมหาวิทยาลัย Yale จะต้องทำได้ ซึ่งอยู่ที่ 9% เพื่อไม่ให้เงินในพอร์ตการลงทุนหมดไปเสียก่อน
1
ก็คงต้องบอกว่ากองทุนของ Yale น่าจะกลายเป็นกองทุนอมตะ ได้สมกับความตั้งใจของคุณ David Swensen เลย
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่า Yale เป็นนักลงทุนรายแรก ๆ ของ Google ผ่านการลงทุนใน Private Equity Fund ก่อนที่ Google จะเข้าตลาดหุ้น
โดยว่ากันว่าเงินลงทุนของ Yale ประมาณ 10 ล้านบาทที่ลงทุนใน Google ได้เติบโตจนกลายเป็นเงิน 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 240 เท่า..
References
-หนังสือ The Ivy Portfolio : How to Invest Like the Top Endowments and Avoid Bear Markets โดย Mebane T. Faber และ Eric W. Richardson
-The Evolution of the Yale Model for Institutional Investing
1
โฆษณา