Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Cy3er9k Studio
•
ติดตาม
4 ก.ค. เวลา 15:39 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ไอเอิร์นโดม เดวิดส์สลิง ถึงขีปนาวุธ THAAD - ระบบป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอลมีอะไรบ้าง และทำงานอย่างไร
ในการผลัดกันยิงตอบโต้ทางอากาศ ก็ยังพบว่ามีขีปนาวุธบางส่วนทะลุผ่านเข้ามา ส่งผลให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บและสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน
ในอดีต อิสราเอลเคยถูกโจมตีโดยอิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในกาซา และกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน ดังนั้นระบบป้องกันของอิสราเอลจึงสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธในระดับความสูงและระยะทางที่หลากหลาย
ทว่าระบบป้องกันล้ำสมัยเหล่านี้คืออะไรบ้าง และมันทำงานอย่างไร ?
★
ไอเอิร์นโดม (Iron Dome)
ไอเอิร์นโดม (Iron Dome) คือระบบป้องกันขีปนาวุธที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด มันถูกออกแบบมาให้สกัดกั้นจรวดพิสัยใกล้ รวมถึงเป็นเกราะป้องกันกระสุนปืนใหญ่และปืนครกในระยะทางระหว่าง 4-70 กิโลเมตร จากเครื่องยิงขีปนาวุธ
มีฐานไอเอิร์นโดมกระจายอยู่ทั่วอิสราเอล แต่ละฐานมีเครื่องยิงสกัดกั้นขีปนาวุธ 3-4 เครื่อง ซึ่งแต่ละเครื่องบรรจุขีปนาวุธสกัดกั้น 20 ลูก
ไอเอิร์นโดมตรวจจับและติดตามจรวดที่พุ่งเข้ามาด้วยเรดาร์ จากนั้นจึงคำนวณว่าจรวดลูกใดจะตกลงในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ เพื่อยิงขีปนาวุธไปที่จรวดเหล่านี้ ขณะที่จรวดลูกอื่น ๆ ถูกปล่อยให้ตกลงสู่พื้นที่เปิดโล่ง
ก่อนหน้านี้ กองกำลังป้องกันประเทศของอิสราเอล (IDF) เคยอ้างว่าไอเอิร์นโดมทำลายจรวดเป้าหมายได้ถึง 90% โดยขีปนาวุธทามีร์ (Tamir) ที่ใช้ยิงสกัดกั้นมีราคาประมาณลูกละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.65 ล้านบาท)
ระบบนี้ถูกพัฒนาหลังเกิดสงครามฤดูร้อนในปี 2006 ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ ในตอนนั้นกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเลบานอนได้ยิงจรวดเกือบ 4,000 ลูก มายังอิสราเอล สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และคร่าชีวิตประชาชนหลายสิบคน
ไอเอิร์นโดมถูกระบุว่าเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธที่ผ่านการทดสอบระบบดีที่สุดในโลก
ระบบนี้ออกแบบโดยบริษัทของอิสราเอลที่มีชื่อว่า ราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนส์ ซิสเตมส์ (Rafael Advanced Defense Systems) และบริษัท อิสราเอล แอโรสเปซ อินดัสทรีส์ (Israel Aerospace Industries) โดยได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากสหรัฐอเมริกา และเริ่มใช้งานระบบดังกล่าวในปี 2011 ซึ่งมันถูกใช้สกัดกั้นจรวดที่ถูกยิงมาจากฉนวนกาซาในตอนนั้น
นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ระบบไอเอิร์นโดมสกัดกั้นจรวดที่กลุ่มฮามาส รวมถึงกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ยิงมาจากฉนวนกาซาได้นับแสนลูก
ขีปนาวุธของอิหร่านสร้างความเสียหายให้กับศูนย์การแพทย์โซโรคา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปในเมืองเบียร์ เชวา ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2025
★
เดวิดส์สลิง (David's Sling)
เดวิดส์สลิง (David's Sling) หรือที่เรียกกันในอีกชื่อว่า เมจิก แวนด์ (Magic Wand - ไม้กายสิทธิ์วิเศษ) ในภาษาฮีบรู สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธพิสัยไกลได้ถึง 300 กิโลเมตร
มันถูกพัฒนาโดยบริษัทราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนส์ ซิสเตมส์ ของอิสราเอล และบริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) ของสหรัฐฯ และเริ่มถูกนำมาใช้งานในปี 2017
เดวิดส์สลิงถูกออกแบบมาให้ยิงสกัดขีปนาวุธแบบทิ้งตัวที่ระดับความสูงต่ำ
เช่นเดียวกันกับไอเอิร์นโดม เดวิดส์สลิงสามารถระบุเป้าหมายขีปนาวุธที่เป็นภัยต่อบริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
ทั้งเดวิดส์สลิงและไอเอิร์นโดมถูกออกแบบมาให้สกัดกั้นเครื่องบิน โดรน และขีปนาวุธร่อน (cruise missile)
ขีปนาวุธที่ใช้กับเดวิดส์สลิงเรียกว่า "สตันเนอร์ (Stunner)" ซึ่งมีราคาอยู่ที่ลูกละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 33 ล้านบาท
★
ระบบแอร์โรว์ทูและแอร์โรว์ทรี
ระบบแอร์โรว์ทู (Arrow 2) ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายขีปนาวุธแบบทิ้งตัวพิสัยสั้นและพิสัยกลางในขณะที่มันบินผ่านชั้นบรรยากาศชั้นบนประมาณ 50 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก
ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นหลังเกิดสงครามอ่าวครั้งแรกในปี 1991 เมื่ออิรักยิงขีปนาวุธสคุด (Scud) ซึ่งผลิตโดยโซเวียตหลายสิบลูกมายังอิสราเอล และถูกนำมาใช้งานครั้งแรกในปี 2000
มันสามารถตรวจจับขีปนาวุธได้จากระยะ 500 กิโลเมตร และสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธพิสัยใกล้ในระยะ 100 กิโลเมตรจากฐานยิงได้ โดยขีปนาวุธของระบบแอร์โรว์ทูเดินทางด้วยความเร็วเหนือความเร็วเสียงถึง 9 เท่า และสามารถยิงเป้าหมายได้สูงสุดถึง 14 เป้าหมายพร้อมกัน
มีรายงานว่าระบบแอร์โรว์ทูปฏิบัติงานในสนามรบครั้งแรกเมื่อปี 2014 เพื่อยิงขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศของซีเรีย
ระบบ Arrow-2 ถูกออกแบบมาให้สกัดกั้นขีปนาวุธในชั้นบรรยากาศตอนบนของโลก
ระบบแอร์โรว์ทรี (Arrow 3) ถูกนำมาใช้งานครั้งแรกในปี 2017 และมันถูกออกแบบมาให้สกัดกั้นขีปนาวุธแบบทิ้งตัวพิสัยไกลในขณะที่ขีปนาวุธของศัตรูเดินทางมาถึงจุดสูงสุดของวิถีโค้ง นอกชั้นบรรยากาศของโลก ในระดับความสูงถึง 2,400 กิโลเมตร
มันถูกใช้ในการต่อสู้ครั้งแรกเมื่อปี 2023 เพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธแบบทิ้งตัวที่ทางกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนยิงไปยังเมืองเอลัต ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทางตอนใต้ของอิสราเอล
ระบบนี้ถูกพัฒนาโดยรัฐวิสาหกิจของอิสราเอล โดยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทโบอิง (Boeing) ของสหรัฐฯ
★
ระบบ THAAD ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิต
หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอลในเดือน ต.ค. 2024 สหรัฐฯ ได้ส่งชุดเครื่องยิงขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense) หรือ ธาด ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำสมัย
ระบบขีปนาวุธ THAAD ถูกออกแบบมาให้ทำงานลักษณะเดียวกันกับเดวิดส์สลิง โดยมันสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธของฝั่งตรงข้ามในช่วงระยะสุดท้ายของการบินที่ระยะ 150-200 กิโลเมตร
ระบบนี้สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธของศัตรูได้ทั้งภายในและภายนอกชั้นบรรยากาศของโลก
ขีปนาวุธ THAAD ถูกออกแบบมาให้โจมตีขีปนาวุธของศัตรูได้ทั้งในชั้นบรรยากาศของโลกและในอวกาศ
ชุดเครื่องยิงขีปนาวุธ THAAD โดยทั่วไป ประกอบด้วยเครื่องยิง 6 เครื่อง แต่ละเครื่องบรรจุขีปนาวุธ 8 ลูก
ทั้งนี้ ทางสหรัฐฯ ได้ส่งทหารไปปฏิบัติการในระบบขีปนาวุธ THAAD ของอิสราเอลด้วย
กองทัพสหรัฐฯ ใช้งานระบบนี้ตั้งแต่ปี 2015 และขายระบบดังกล่าวให้กับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย
อิสราเอล
ความรู้
อิหร่าน
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย