Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ThaiFranchiseCenter
•
ติดตาม
14 ก.ค. เวลา 02:00 • ธุรกิจ
ค้าปลีกญี่ปุ่นไหว? DON DON DONKI เพิ่งกำไร หลังเข้าไทย 6 ปี
ร้านค้าปลีกญี่ปุ่น Don Quijote หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ Donki เริ่มทำกำไรได้เกือบ 22 ล้านบาทเป็นครั้งแรก หลังเข้ามาเปิดตลาดในไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าอาจเป็นสัญญาณของการตั้งหลักของร้านค้าปลีกญี่ปุ่นได้จริง
หรือเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการแข่งขัน ที่คาดว่าจะดุเดือดกว่าเดิมในตลาดค้าปลีกเมืองไทย ท่ามกลางสมรภูมิที่เต็มไปด้วยผู้เล่นยักษ์ใหญ่ ทั้งเซ็นทรัล โลตัส บิ๊กซี เซเว่นฯ และกลุ่มทุนจีน
ค้าปลีกญี่ปุ่น DONKI จะไปต่อไหวในตลาดเมืองไทย หลังเพิ่งทำกำไร หรืออาจเป็นบทพิสูจน์ใหม่ที่น่าจับตายิ่งกว่าเดิม
📌จุดเริ่มต้น DONKI
DON DON DONKI หรือ DON Quijote (ดองกิโฮเต้) ชื่อในญี่ปุ่น มีจุดเริ่มต้นในปี 2523 (1980) โดย ทาคาโอะ ยาสุดะ (Takao Yasuda) เป็นผู้ก่อตั้ง เดิมทีเป็นร้านค้าปลีกเล็กๆ ในโตเกียว ใช้ชื่อว่า Just Co. จนกระทั่งมาในปี 2532 (1989) ถึงได้มาใช้ชื่อ DON Quijote เปิดสาขาแรกในเมืองฟุชู โตเกียว
ความสำเร็จของ DONKI ในญี่ปุ่นส่าวนหนึ่งมาจากในร้านมีสินค้าขายหลายอย่าง ปิดร้านดึก ช่วงแรกๆ ที่เปิดให้บริการใหม่ๆ พนักงานมีไม่เพียงพอ ทำให้คุณ Takao ต้องมาดูแลจัดวางสินค้าในร้านเองในช่วงกลางคืนดึกๆ เป็นประจำ ในช่วงเวลานี้ร้านค้าอื่นๆ จะปิดให้บริการไปแล้ว
แต่ปรากฏว่ามีลูกค้าเข้ามาซื้อของในร้านของเขาเพราะนึกว่าร้านยังเปิดให้บริการอยู่ เพราะคุณ Takao จะเปิดไฟสว่างระหว่างจัดของภายในร้าน ทำให้ลูกค้าที่อยู่ข้างนอกมองเห็นว่าร้านยังไม่ได้ปิดให้บริการ
จากจุดตรงนี้ทำให้คุณ Takao มองเห็นโอกาสในการสร้างกำไรในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเหตุให้ร้าน Don Quijote เปิดให้บริการนานกว่าร้านอื่นๆ บางสาขาเปิดให้บริการนานถึงตี 3 ส่วนสาขาที่ตั้งอยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ต่างจากร้านค้าทั่วไปจะเปิดบริการ เพียงแค่ 2-3 ทุ่มเท่านั้น
นอกจากนี้ ร้าน Don Quijote ในประเทศญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบตรงที่แต่ส่ขาจะตั้งอยู๋ในทำเลที่ดี ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว ที่สำคัญก็คือ มีเวลาเปิดให้บริการนานกว่าร้านอื่นๆ ทำให้ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากกว่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
คอนเซ็ปต์ของร้าน DON Quijote เป็นร้านดิสเคาน์สโตร์ หรือร้านค้าลดราคา ขายสินค้าราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด-แปรรูป ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ชองใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์กีฬา สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเขียน ของเล่น และอื่นๆ
ปัจจุบันร้านค้าในเครือ DON Quijote (ดองกิโฮเต้) ทั่วโลก มีหลายรูปแบบทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ขนาดปกติ ซูเปอร์มาร์เก็ต กระจายสาขาในหลายประเทศ โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2568 (2025) มีจำนวนทั้งหมด 767 สาขา แบ่งออกเป็น
🇯🇵 ญี่ปุ่น 655 สาขา
🇺🇲 สหรัฐอเมริกา 67 สาขา
🇸🇬 สิงคโปร์ 14 สาขา
🇹🇭 ไทย 7 สาขา
🇭🇰 ฮ่องกง 10 สาขา
🇹🇼 ไต้หวัน 6 สาขา
🇲🇾 มาเลเซีย 3 สาขา
🇲🇴 มาเก๊า 2 สาขา
สำหรับรายได้บริษัทแม่ PPIH (Pan Pacific International Holdings ผู้บริหารร้าน Don Quijote) สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2567 (2024) มีรายได้รวมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศประมาณ 2.095 ล้านล้านเยน กำไร 140.2 พันล้านเยน โดยเฉพาะรายได้ร้านดิสเคาน์สโตร์ในญี่ปุ่น เช่น Don Quijote คิดเป็นสัดส่วน 84% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีรายได้อยู่ที่ 1.763 ล้านล้านเยน มีกำไร 136.7 พันล้านเยน
คาดว่าประมาณทั้งปี 2568 (2025) บริษัทฯ จะมีรายได้ 2.22 ล้านล้านเยน มีกำไร 155 พันล้านเยน
📌กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ DON Quijote
1. เปิดให้บริการยาวนานกว่าร้านค้าอื่นๆ
ความสำเร็จของ DON Quijote ทั้งยอดขายและความนิยมจากลูกค้า ก็คือ ทางร้านจะเปิดให้บริการยาวนานกว่าร้านค้าอื่น ปิดดึก บางสาขาปิดตี 3 และสาขาที่อยู่ย่านท่องเที่ยวเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ที่สำคัญร้านส่วนใหญ่อยู่ใกล้สถานัรถไฟ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสะดวกสบาย แม้จะเป็นตอนกลางคืนก็ตาม
2. ทางร้านมีเหรียญ 1 เยน ให้ลูกค้าแลกสำหรับจ่ายเงิน
กรณีที่ลูกค้าหลายคนค้นหาเศษเหรียญในกระเป๋ายาก หรือบางคนไม่มีเศษเหรียญ โดยทางร้านจะจัดวางเศษเหรียญ 1 เยนไว้บริเวณที่จ่ายเงิน สมมติถ้าลูกค้าตั้งแต่ 1,000 เยนขึ้นไป สามารถหยิบเศรษเหรียญ 1 เยน หรือหยิบได้มากสุด 4 เหรียญแบบฟรีๆ ให้พอดีกับเศษ เช่น ซื้อของราคา 1,804 เยน ถ้าลูกค้าเงินไป 2,000 เยน ก็สามารถหยิบเศษเหรียญได้ 4 เยน รวมเป็น 2,004 เยน ทางร้านจะต้องทอนเงินให้ 196 เยน เมื่อรวมกับกับ 4 เยน ลูกค้าจะได้รับเงินทอน 200 พอดี
3. ร้าน DON Quijote แต่ละสาขาจะเปิดเพลงประจำร้าน
เหมือนกรณีร้านไอติมจีน Mixue ที่เปิดเพลงประจำร้านให้ลูกค้าฟัง เพื่อความสนุกสนาน เมื่อลูกค้าเข้าไปใช้บริการในร้านพอฟังแล้วจะติดหู สร้างการจดจำในแบรนด์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในร้านยังมีมาสคอตที่คุ้นตาเพนกวินสีฟ้า ชื่อว่า Donpen สุดน่ารัก ทำให้ลูกค้าสนุกสนานเพลิดเพลินกับบรรยากาศภายในร้าน
📌DONKI บุกตลาดในไทย
DONKI เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2562 สาขาแรกอยู่ที่ห้าง DONKI Mall Thonglor ภายใต้การบริหารของบริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น
DONKI สาขาทองหล่อเป็นสาขาที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อนหน้านี้ DON Quijote เปิดให้บริการมาแล้ว 3 สาขาในสิงคโปร์ โดยจะให้บริการถายใต้แนวคิด Japan Brand Specialty Store ขายสินค้าหลากหลายประเภทประมาณ 10,000 SKU ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นถึง 70% ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน อาหารสด อาหารแปรรูป ขนม เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแฟชั่น ฯลฯ
จุดเด่นของ DONKI สาขาแรกในประเทศไทย คือ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยช่วงปีแรกที่เปิดให้บริการได้ตั้งเป้ามีลูกค้าไว้ที่ 2 ล้านคน จับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงคนไทยและชาวต่างชาติที่พักอาศัยในย่านเอกมัย - ทองหล่อ
DONKI สาขา 2-5 ในไทยเปิดให้บริการในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่เดอะมาร์เก็ดราชประสงค์, ซีคอนสแควร์, ซีคอนบางแค และเอ็มบีเค
สาขา 6-9 J-Park ศรีราชา, ธนิยะพลาซ่า, แฟชั่นไอส์แลนด์ และ เดอะมอลล์ บางกะปิ (ปิดบริการไปแล้วเมื่อ 13 พ.ค. 2568)
ปัจจุบัน DONKI ในประเทศไทย เหลือจำนวน 7 สาขาเท่านั้น
DONKI 6 ปีในไทย พึ่งเริ่มทำกำไร
📌รายได้...บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด
✅ปี 2563 รายได้ 727.8 ล้านบาท ขาดทุน -146.6 ล้านบาท
✅ปี 2564 รายได้ 1,067 ล้านบาท ขาดทุน -113 ล้านบาท
✅ปี 2565 รายได้ 1,614.8 ล้านบาท กำไร 2.6 ล้านบาท
✅ปี 2566 รายได้ 2,119 ล้านบาท ขาดทุน - 53 ล้านบาท
✅ปี 2567 รายได้ 2,171,7 ล้านบาท กำไร 21.7 ล้านบาท
📌ปัจจัยทำให้ DONKI พึ่งทำกำไร หลังเข้าไทย 6 ปี
1.ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง
แม้จะได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น แต่เข้ามาเปิดตลาดในไทยของ DONKI ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในตลาดเมืองไทยมีการแข่งขันสูง อีกทั้ง DONKI ต้องนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นหลายรายการ ทำให้มีต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์สูงในช่วงแรก ที่สำคัญเปิดสาขาในทำเลใจกลางเมืองทำให้มีต้นทุนค่าเช่าสูง เมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกอื่นๆ ในตลาดเมืองไทย
2. เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยช้า
ผู้บริโภคชาวไทยส่วนหนึ่งมองว่า สินค้าในร้าน DONKI ในช่วงแรกๆ จะมีความเป็นพรีเมียม และเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มเกินไป เช่น อาหารญี่ปุ่นมักมีราคาแพง คนไทยส่วนมากยังไม่ “เข้าใจ” Donki แบบที่คนญี่ปุ่นเข้าใจ ทำให้ทางแบรนด์ต้องใช้เวลาในการปรับตัวและค่อยๆ พยายามดึงดูดผู้บริโภคชาวไทยให้ลองมาซื้อก่อน เพื่อที่จะได้กลับมาซื้อซ้ำ
3. ราคาขายยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทย
ในยุคแรกราคาสินค้า Donki ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับร้านสะดวกซื้อหรือห้างที่มีสินค้าใกล้เคียง พอมาช่วงหลังเริ่มปรับกลยุทธ์ราคาลง เพื่อจับตลาดกลาง เช่น สินค้า 20–59 บาท, ขนมญี่ปุ่นราคาถูก, ผักผลไม้ญี่ปุ่นลดราคา อีกทั้งยังเพิ่มสินค้ากลุ่มที่ลูกค้าซื้อบ่อย” เช่น ข้าวญี่ปุ่น, ซอส, ปลากระป๋อง แทนสินค้าฟุ่มเฟือย
จะเห็นได้ว่า Donki อาจใช้เวลากว่า 6 ปี ในการพลิกฟื้นตัวเลขจากขาดทุนสู่กำไรในตลาดไทย แต่นั่นไม่ใช่ความล้มเหลวของค้าปลีกญี่ปุ่น แต่กลับสะท้อนความพยายามปรับตัว ทดลองโมเดลธุรกิจ และเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเมืองไทย
แหล่งข้อมูล
https://bit.ly/3TZ8XLn
https://bit.ly/3U6eAax
https://bit.ly/4komMO7
#DONDONDONKI #Donki #ร้านค้าปลีกญี่ปุ่น #จุดเริ่มต้นDONKI #ค้าปลีกญี่ปุ่น #ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ #Thaifranchisecenter
1 บันทึก
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย