9 ก.ค. เวลา 14:00 • ความคิดเห็น

ต้นทุนของการประกันชีวิต

โดยปกติ สินค้าหรือบริการทั่วไป จะมีต้นทุนจากการผลิตหรือให้บริการ เช่น เสื้อผ้า อาหาร การบริการล้างรถ ผู้ซื้อสามารถเห็นสินค้าหรือบริการนั้น และกำหนดว่าจะใช้เมื่อไหร่ได้ทันที แต่สินค้าของการประกันชีวิตนั้น ผู้ซื้อจะไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะรับผลประโยชน์ตามสัญญานั้นวันเวลาไหน การประกันชีวิตจึงเป็นการขายคำสัญญาว่าบริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ในอนาคตหากผู้ซื้อเสียชีวิต หรือมีชีวิตรอด แล้วใครจะไปรู้ว่าจะรอดหรือจะเสียชีวิตวันที่เท่าไหร่ ปีไหน
แบบนี้จะคิดต้นทุนของการประกันชีวิตได้อย่างไรล่ะ ?
จึงได้มีคนคิดอัตรามรณะ (Mortality rate) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่สนใจ อัตรานี้ความน่าจะเป็นที่จะเสียชีวิตหรือรอดชีวิต แยกตามอายุและเพศ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของการประกันชีวิตที่จะจ่ายก็ต่อเมื่อเสียชีวิตหรือรอดชีวิต นักคณิตศาสตร์จึงได้นำอัตรานี้ไปคำนวณจนได้ต้นทุนของการประกันชีวิตนั่นเอง
แล้วทำไมตามที่เห็นเบี้ยประกันภัยจึงไม่เท่ากันล่ะ??
แน่นอนว่าต้นทุนนี้มาจากอัตรามรณะเป็นสารตั้งต้น และจะแปรผันตามผลประโยชน์ที่จะได้รับตามแบบประกันที่ได้ทำไว้
- ประกันชีวิตตลอดชีพและสะสมทรัพย์ จะมีต้นทุนในส่วนของผลประโยชน์การเสียชีวิต และมีชีวิตรอด
- ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา จะมีต้นทุนในส่วนของผลประโยชน์การเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ บริษัทยังต้องเพิ่มในส่วนของค่าใช้จ่าย และกำไรที่บริษัทคาดหวังไว้ แต่ละบริษัทก็จะแตกต่างกัน รวมเป็นเบี้ยประกันภัยที่ออกมาให้ได้เห็นกันทั่วๆไป
หากใครต้องการเปรียบเทียบว่าเบี้ยประกันภัยของเจ้าไหนถูกแพงกว่ากัน ให้นำแบบประกันที่มีลักษณะผลประโยชน์เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมาดูว่าเบี้ยประกันแตกต่างมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อได้อีกทางหนึ่ง
โฆษณา