10 ก.ค. เวลา 01:40 • ข่าวรอบโลก

ทำไมคนตะวันออกออมทองคำโดยไม่สนผลตอบแทน แต่คนตะวันตกอยากได้ดอกเบี้ย?

มีใครเคยสังเกตมั้ยว่า… พฤติกรรมการเก็บเงินของคนแต่ละมุมโลกมันไม่เหมือนกันเลย โดยเฉพาะเวลาพูดถึง “การออม” หรือ “การลงทุน” เนี่ย คนฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเขาคิดกันคนละขั้วเลยจริง ๆ
ลองนึกถึงบ้านเรากับประเทศเพื่อนบ้านดูสิ อย่างไทย จีน เวียดนาม อินเดีย พอพูดถึง “ออม” ปุ๊บ ภาพในหัวคือ “ทองคำ” ขึ้นมาก่อนเลย ส่วนฝรั่งอย่างอเมริกัน แคนาเดี้ยน อังกฤษ หรือเยอรมัน มักจะคิดถึงกองทุน หุ้น พันธบัตร อสังหาฯ แล้วก็พูดประโยคฮิตว่า “ต้องให้เงินทำเงิน”
แล้วทำไมมันถึงต่างกันขนาดนั้น?
ตะวันออก: เก็บทองคำไว้ ไม่ต้องทำอะไรก็รู้สึกมั่นคง
ฝั่งตะวันออก—โดยเฉพาะในเอเชีย—จะมองทองคำว่าเป็นของมีค่าที่ ถือไว้เฉย ๆ ก็อุ่นใจ ไม่จำเป็นต้องได้ดอกเบี้ย ไม่ต้องโตไว ไม่ต้องมีปันผล ขอแค่ปลอดภัย ไม่หาย ไม่เน่า ไม่เจ๊ง ไม่ผันผวนแรง ๆ เหมือนหุ้นหรือค่าเงินก็พอแล้ว
บ้านเราก็ใช่ ไทยนี่ชัดเจนเลย คนแก่ คนรุ่นพ่อแม่เราจะชอบเก็บทองใส่ตู้เก็บเล็ก ๆ แอบไว้ในบ้าน หรือไม่ก็เก็บทองรูปพรรณไว้ใส่ออกงาน ที่สำคัญคือ เก็บไว้เพื่ออนาคต ไม่ได้เก็งกำไร แต่เก็บให้ลูกให้หลาน ให้เป็นมรดก
แต่จีนกับอินเดีย ....หนักกว่าอีก
• จีน: คนชั้นกลางสะสมทองคำแท่ง หรือซื้อผ่านแอปเพื่อถือยาว
• อินเดีย: ทองเป็นทั้งของขวัญงานแต่ง + ทุนสำรองยามฉุกเฉินของผู้หญิง
บางทีมันอาจเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา และความมั่นคงทางใจ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน
พูดง่าย ๆ ทองคำสำหรับชาวตะวันออก คือความอุ่นใจและความมั่นคง
ตะวันตก: ถ้าไม่สร้างรายได้ ก็อย่าเรียกว่าออม
แนวคิดเค้าคือ “เงินทุกเซนต์ต้องทำงาน” คือถ้ามีเงินอยู่ในมือ แล้วปล่อยมันอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่สร้างรายได้ เค้าจะรู้สึกว่าเจ้าของนี่ คงบ้าไปแล้ว
เพราะงั้นเวลาคิดจะออม เค้าจะคิดถึงสินทรัพย์ที่ “มีผลตอบแทนระหว่างกาล” เช่น
• หุ้น = ได้ปันผล
• พันธบัตร = ได้ดอกเบี้ย
• อสังหา = ได้ค่าเช่า
ทองคำในสายตาฝรั่งจำนวนมาก จึงไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้น ๆ เพราะมัน ไม่มีรายได้ระหว่างถือ ถ้าจะซื้อก็เพื่อ “เก็งกำไรเป็นรอบ” มากกว่า ถือไว้ยาว ๆ
บางคนที่ลงทุนทองคำก็จะเข้าไปเล่นพวก ETF หรือซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่ต้องถือทองคำจริงให้เมื่อยมือ เพราะอยากได้ความคล่องตัว และสามารถขายทำกำไรได้เร็ว ๆ
ความคิดที่สวนทาง
ฝั่งตะวันออกเน้น “ปลอดภัยก่อน รวยทีหลัง”
ฝั่งตะวันตกเน้น “เงินต้องงอก ต้องรวยให้ได้ทุกนาที”
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
เรื่องนี้มันมีหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมหรือความเชื่อเฉย ๆ
1. ประสบการณ์จากอดีต
หลายประเทศในเอเชียเคยเจอวิกฤตค่าเงิน วิกฤตเศรษฐกิจ หรือแม้แต่สงคราม
ทองคำคือสิ่งเดียวที่ ...“ไม่กลายเป็นศูนย์” และ ...“รัฐไม่สามารถลดค่าได้"
ตัวอย่าง:
• ไทยเคยเจอฟองสบู่ปี 40 ค่าเงินบาทหล่นฮวบ
• เวียดนามผ่านสงครามและเงินเฟ้อแบบรุนแรง
• จีนเคยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจหลายรอบ
ใครถือทองคำไว้ก็รอดมากกว่าคนที่ถือเงินสด
2. ความเชื่อมั่นต่อระบบ
ฝั่งตะวันออกบางประเทศ ประชาชนยังไม่ไว้ใจธนาคารหรือภาครัฐแบบ 100%
เลยหันไปพึ่งของที่ “จับต้องได้” มากกว่า เช่น ทองคำ
ขณะที่ฝั่งตะวันตก ระบบธนาคารแข็งแรงมานาน มีระบบค้ำประกัน มีรัฐหนุนหลัง คนจึงไว้ใจว่าถ้าเงินอยู่ในบัญชี หรือไปอยู่ในหุ้น ก็ยังปลอดภัย
3. การเรียนรู้ทางการเงิน
ฝั่งตะวันตกสอนเรื่องการลงทุนตั้งแต่ระดับบุคคล พอคนเข้าใจเรื่องผลตอบแทน ความเสี่ยง กระแสเงินสด ก็เลยอยากลงทุนมากกว่าเก็บเงินเฉย ๆ
ในเอเชีย แม้หลายประเทศพัฒนาแล้ว แต่การสอนการเงินส่วนบุคคลยังตามหลังอยู่บ้าง คนจึงยังชอบของที่เข้าใจง่าย เช่น ทองคำ ...(ยกเว้นคนรุ่นใหม่ที่เรียนจากตำราตะวันตก)
สุดท้าย ทองคำก็ยังเป็นทองคำ
ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนของโลก
“ทองคำ” ก็ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนถือไว้เสมอ ยิ่งในยุคที่เงินเฟ้อแรง สงครามเกิดขึ้นบ่อย ระบบธนาคารสั่นคลอน
ฝรั่งบางส่วนก็เริ่มหันกลับมาหาทองคำมากขึ้นเหมือนกัน
สมัยก่อนมันคือของสำหรับคนขี้ระแวง
ตอนนี้มันกลายเป็นของสำหรับคนที่เข้าใจ real money
สำหรับ FC ทุกท่าน สามารถฟังเวอร์ชั่น เสียง ได้นะคะ
เครดิต : สายัณห์ รุจิรโมรา
โฆษณา