4 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ

เวียดนาม...ก้าวนี้อาจเป็นได้ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ

  • ข้อตกลงการค้าใหม่กำหนดให้เวียดนามถูกเก็บภาษี 40% สำหรับสินค้าที่ใช้เวียดนามเป็นทางผ่าน (Transshipping) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นสินค้าจากจีนที่ส่งไปยังสหรัฐ
  • เวียดนามตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากต้องพึ่งพิงวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานจากจีน เป็นอย่างมากเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ
  • การตัดสินใจของเวียดนามมีความเสี่ยงสูง หากเลือกเข้าข้างสหรัฐ อาจถูกจีนตอบโต้ทางการค้า แต่หากยังคงความสัมพันธ์กับจีน จะเสียเปรียบด้านภาษีกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้จากผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้ได้
เมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า ได้บรรลุข้อตกลงในเรื่องการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างสหรัฐฯ และ เวียดนาม โดยที่สินค้าของสหรัฐฯ สามารถขายในเวียดนามโดยไม่มีการเก็บภาษี (Zero Tariff)
ขณะที่เวียดนามจะจ่ายภาษีศุลกากร 20% ให้กับสหรัฐฯ สำหรับสินค้าทั้งหมดที่ส่งมายังสหรัฐฯ และภาษีศุลกากร 40% สำหรับสินค้าที่มีลักษณะเป็นการส่งต่อผ่านเวียดนาม (Transshipping) อีกทั้งเวียดนามจะเปิดตลาดให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ สินค้าอเมริกัน สามารถขายในเวียดนาม โดยไม่มีการเก็บภาษีเลย (Zero Tariff)
แปลตรงตัวง่ายๆ ก็คือ สินค้าที่เวียดนามจะจ่ายภาษีศุลกากร 20% จะต้องเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิด และผลิตในเวียดนามเท่านั้น แต่หากเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดมาจากที่อื่น แล้วใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งไปยังสหรัฐฯ สินค้าเหล่านั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 40% ซึ่งชัดเจนว่าสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่ประเทศจีน และสินค้าที่มาจากประเทศจีน ในลักษณะของการใช้เวียดนามเป็นเครื่องมือในการ “ปิดล้อมทางเศรษฐกิจ” โดยมีตลาดออกส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ เป็นตัวประกัน
อย่าได้ลืมไปว่า ถึงแม้ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะมีสูงถึงมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2024 เวียดนามเอง ก็มีการค้าขายกับจีนในมูลค่ารวมที่สูงถึง 2.05 แสนล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นสินค้าส่งออกจากเวียดนาม ไปยังประเทศจีน 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์
นขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าจากจีนมายังเวียดนาม มีมูลค่า 1.44 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นก็ทำให้ตีความได้ว่า... สินค้าส่วนใหญ่ของเวียดนาม ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีต้นทางมาจากประเทศจีนเป็นหลัก
ดังนั้น การตั้งกำแพงที่ว่า หากเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดมาจากที่อื่น แล้วใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งไปยังสหรัฐฯ สินค้าเหล่านั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 40% จึงมุ่งเป้าไปที่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดมาจากจีนอย่างชัดเจนนั่นเอง
แต่ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาที่คิดได้...เพราะจีนเองก็อ่านเกมอเมริกาออกเช่นกัน!!!
การแก้เกมปิดล้อมทางเศรษฐกิจของจีน กำลังมีความชัดเจนขึ้นเริ่มตั้งแต่จีนได้เรียกวิศวกร และ ช่างเทคนิคชาวจีนหลายร้อยคนกลับประเทศ พร้อมกันนี้จีนยังได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการให้บริษัทต่างๆ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล ให้หยุดการส่งออกอุปกรณ์ บุคลากร และองค์ความรู้สำคัญไปยังอินเดีย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นัยว่า เพื่อหยุดยั้งไม่ให้บริษัทข้ามชาติ เช่น แอปเปิล สามารถย้ายฐานการผลิตออกไปจากจีนได้อย่างรวดเร็วเกินไป
นอกจากนี้ จีนได้ “ประกาศตอบโต้” โดยระบุว่า ไม่ว่าประเทศใดก็ตามที่ตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อแลกกับการผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ “จีนจะไม่ยอมรับและตอบสนองอย่างเด็ดขาด” เพื่อปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน
ทั้งนี้ คำประกาศของจีนทำให้เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มอาเซียนที่ถูกประกาศว่า ได้บรรลุการเจรจาเรื่องภาษี ต้องอยู่ในสภาพที่ “กลืนไม่เข้าและคายไม่ออก” เพราะหากเวียดนามพยายามกอดภาษี 20% ด้วยการวิ่งตามสหรัฐฯ โดยตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯ จนทำให้จีนกำหนดมาตรการตอบโต้
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกำหนดอัตราภาษี หรือ การกำหนดประเภทสินค้าส่งออกจากจีนไปยังเวียดนาม ก็จะทำให้สินค้าที่เวียดนาม จะส่งไปยังสหรัฐ มีปัญหาทั้งในเรื่องของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ หรือ อาจจะถึงขั้นขาดแคลน จนไม่อาจส่งสินค้าได้ด้วยซ้ำไป
อย่าลืมว่า “หากไม่มีวัตถุดิบที่มีแหล่งกำเนิดตั้งต้นมาจากประเทศจีน” ก็จะส่งผลให้เวียดนามแทบจะไม่มีสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐฯ
ดังนั้น สถานะของเวียดนามในตอนนี้ เวียดนามจึงกำลังถูกประเทศอื่นๆ จับจ้องว่าจะเดินไปทางใด
ประมาณว่า “ถ้าตามอเมริกาก็จะเสียจีน หรือ ถ้ายังอยู่กับจีนก็จะเสียอเมริกา” ซึ่งนั้นก็ทำให้สิ่งที่หลายคนมองว่า การที่เวียดนามสามารถบรรลุข้อตกลงทางภาษีกับสหรัฐก่อนใคร ว่านั่นคือ “ชัยชนะ” ก็อาจจะต้องมองใหม่
ใครจะไปรู้ว่า ถ้าเวียดนามตัดสินใจเลือก หรือ ไม่เลือกใคร ระหว่าง สหรัฐฯ และ จีน ก็อาจเป็นการก้าวพลาด ประมาณว่าวางหมากพลาดตาเดียว ก็กลายเป็น “ผู้แพ้” ทั้งกระดานได้เช่นเดียวกันนะคะ
และแน่นอนว่า การเป็นคนก้าวเดินออกไปก่อน ก็จะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่กำลังเดินตามหลังได้ใช้เป็นบทเรียนด้วยเช่นเดียวกันเจ้าค่ะ อิอิอิ...
โฆษณา