วันนี้ เวลา 06:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป 10 เรื่องที่คนไทยต้องรู้กรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าไทย 36%

จากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกชนิดจากไทยถึง 36% ภายใน 1 ส.ค. นี้ (เดิมเก็บภาษีอยู่ที่ 10%) ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้ให้มุมมองและข้อเสนอแนะที่สำคัญ ซึ่งสามารถสรุปเป็น 10 ประเด็นหลักที่คุณควรรู้และเตรียมรับมือได้ดังนี้
1. โรงงานอาจปิดตัว มีโอกาสตกงาน
การที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าไทยแพงขึ้นมาก จะทำให้สินค้าไทยขายยากขึ้นและแพงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ คู่แข่งจากประเทศอื่นอย่างเวียดนามหรือเม็กซิโกก็จะเข้ามาแทนที่ (เพราะถูกเก็บภาษีต่ำกว่า) ทำให้โรงงานที่พึ่งพิงตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ อาจ ลดกำลังผลิตหรือถึงขั้นปิดตัวลง ซึ่งนั่นหมายถึง ความเสี่ยงที่พนักงานจะถูกเลิกจ้าง หรือต้องหางานใหม่
2. สินค้าไทยจะขายได้ยากขึ้น
เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจต้อง เพิ่มราคาสินค้า เพื่อให้คุ้มทุน ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยขายได้ยากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ หรือบางบริษัทอาจเลือกที่จะ ลดการส่งออก ไปสหรัฐฯ เลยก็ได้ ทำให้คนอเมริกันเข้าถึงสินค้าไทยได้น้อยลงหรือต้องจ่ายแพงขึ้น
3. ต่างชาติอาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย
หากสร้างโรงงานในไทยแล้วต้องเสียภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ แพงกว่าคู่แข่ง นักลงทุนต่างชาติที่เคยสนใจมาลงทุนในไทยก็อาจ เปลี่ยนใจไปลงทุนในประเทศอื่น ที่มีต้นทุนภาษีถูกกว่า เช่น เวียดนาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสร้างงานและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบ้านเรา
4. เกษตรกรก็ไม่รอดจากผลกระทบ
เงื่อนไขหนึ่งที่สหรัฐฯ อาจขอคือให้ไทย เปิดตลาดมากขึ้น สำหรับสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนไม่มากใน GDP แต่มีการจ้างงานมหาศาล หากต้องเปิดตลาดอาจ กระทบต่อรายได้และชีวิตของเกษตรกร รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในวงกว้าง
5. การเมืองไม่นิ่ง จะส่งผลเสียต่อการเจรจา
การเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องทำงานประสานกัน เป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง พาณิชย์ หรือเกษตร หากการเมืองภายในไม่นิ่ง การตัดสินใจที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพก็ทำได้ยาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศในการเจรจา
6. ประเทศต้องยอมแลกบางอย่าง
สถานการณ์นี้เปรียบเหมือนการเจรจาที่ต้องมีฝ่ายหนึ่งยอมเสียสละบ้าง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์บางอย่างกลับคืนมา ไทยอาจต้องพิจารณา "ยอม" เปิดตลาดบางส่วน หรือปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่าง เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ลดภาษีลง และไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว
7. บริษัทต้องมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ
เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน ไทยจำเป็นต้อง เร่งมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ หรือใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่กับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียน หรือยุโรป เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ
8. ต้องยกระดับการแข่งขันของประเทศ
ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด รัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น EV, AI และพัฒนาทักษะแรงงานให้มีขีดความสามารถด้านดิจิทัลและหุ่นยนต์ เพื่อให้ไทยสามารถสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น และไม่ต้องพึ่งพิงการผลิตราคาถูกอีกต่อไป
9. ยังมีโอกาสเจรจาเพื่อลดผลกระทบ
แม้ว่าสถานการณ์จะดูตึงเครียด แต่กรณีของเวียดนามที่เคยถูกขู่ภาษี 46% แต่สามารถเจรจาต่อรองจนลดเหลือ 20% ได้ แสดงให้เห็นว่า ยังมีช่องทางให้ไทยสามารถเจรจาเพื่อลดผลกระทบ จากมาตรการภาษีนี้ได้ ทีมเจรจาของไทยจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักและเสนอข้อแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ พอใจ
10. ต้องเตรียมพร้อมเรื่องเงินรับความเสี่ยง
เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือมีคนตกงานมากขึ้น กำลังซื้อโดยรวมก็จะลดลงไปด้วย สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราต้อง เตรียมพร้อมเรื่องการเงินให้ดี มีเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับใช้จ่ายในยามจำเป็น เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น เช่น รายได้ลดลงหรือตกงาน
#aomMONEY #ภาษีทรัมป์ #ReciprocalTariffs #ไทย #ผลกระทบ
โฆษณา