Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
วันนี้ เวลา 09:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กระตุกให้คิด (อีกที) จาก “ภาษีทรัมป์”
ผมว่าวันนี้ เราอาจจะกังวลว่าภาษีศุลกากรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเก็บกับเรานั้นจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ และแต่ละอัตรานั้นผลกระทบเป็นเท่าไร ใครได้ใครเสีย
แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านี้ที่อาจเป็น Wake-up call ที่ชัดและดังให้เรานั้นคือ การเปลี่ยนมุมมองเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราต้องวางยุทธศาสตร์ประเทศใหม่ ในบริบทใหม่ และมีทิศทางใหม่ ซึ่งการวางแผนในอนาคตกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์กับคนที่เราคิดว่าเป็น “มหามิตร” และ “คู่แข่ง” แต่ละรายนั้นเป็นเช่นใด
และประสบการณ์ที่เราเจอในวันนี้ ทำให้เราได้มุมมองใหม่ เพื่อให้เราปรับวิธีคิดในการกำหนดความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ใหม่ ในบริษทที่ซับซ้อนและที่ทุกเรื่อง ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ ถูกมัดรวมเข้าด้วยกัน เพื่อแสวงหาประโยชน์และความได้เปรียบจากประเทศอื่นได้มากที่สุด ไม่มีมิตรหรือศัตรู มีแต่ประเทศเราและประเทศอื่นเท่านั้น และผลประโยชน์ของประเทศเราต้องมาก่อน โดยไม่สนวิธีการ
ในมุมมองของผม หากมองเรื่องราวในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ผมว่าคงต้องกลับมาตั้งหลัก จัดระเบียบวิธีคิดเราใหม่ เพื่อให้เราอยู่รอด และรักษาความเป็นเอกราช อย่างน้อยทางธุรกิจไว้ได้ ผมขอมองกว้างๆ เป็นประเด็นดังนี้
1.สามมัญสำนึก และจิตวิญญาณของยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคอื่นๆนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากยุคล่าอาณานิคม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการควบคุมใหม่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพยายามออกแบบกติกาต่าง ๆ เพื่อที่จะคุมส่วนต่าง ๆ ของโลกให้อยู่ในอำนาจให้ได้ และสำนึกของการเป็นผู้เผด็จการยังคงอยู่
รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้กำลังที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหาร หรือทางด้านเศรษฐกิจ จากคนที่อ่อนด้อยกว่ายังคงมีให้เห็น และคราวนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา วิธีการที่เอาประโยชน์กดขี่นั้นอาจทำแบบเนียน ๆ ผ่านความคิด ความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งออกมาเป็นมาตรการต่าง ๆ ทั้งทางด้านมาตรฐาน ด้านมนุษยธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความโปร่งใส
ซึ่งตอนนี้ประเทศต่าง ๆ ก็พัฒนาตนเองจนข้ามมาตรการกดขี่นี้ได้ จนมาถึงตรงนี้สหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ลึก ๆ ในสามัญสำนึกดิบ ๆ ข้างในออกมาให้เห็นว่าต้องการหาผลประโยชน์ให้ตนเอง โดยลืมกติกา มาตรฐาน และความเชื่อที่ตนเองกรอกหูคนทั้งโลกมาตลอด ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ ถึงเวลาที่เราจะต้อง “ตื่น” เลิกคิดว่าเรามีมหามิตรในเวทีโลก ต่อไปนี้มีแค่ประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น
เราต้องวางกลยุทธ์ดีๆ ในการต่อสู้และหามิตรกับทุกประเทศไม่ว่าหน้าไหน เพื่อที่จะช่วยให้เรา Balance อำนาจของแต่ละประเทศอย่างไร ถ้าย้อนไปอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ ตอนนี้เราคงเข้าใจดีว่าในยุครัชกาลที่ 5 ทำไมฝรั่งเศสกับอังกฤษถึงเอาเรือรบมาปิดอ่าวไทย และทำไมพระองค์ท่านต้องเสด็จประพาสรัสเซีย
2.ต่อไปนี้ คติ “my country First” จะกลายเป็นมาตรการทางการค้าที่สำคัญของทุกประเทศ คำว่า win-win เป็นเพียงคำหวานที่หลอกลวง แม้ว่าจะมีทฤษฎีมากมายทางด้านเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่บอกว่า Win-Win เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ Free trade
หลังจากที่ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ หว่านล้อมให้ประเทศที่ตนเองต้องการหาผลประโยชน์เปิดประเทศทำการค้าอย่างเสรี พร้อมกติกาที่ดูเหมือนจะยุติธรรมภายใต้องค์กรระดับโลกเข้ามาดูแล จนกลายเป็น Soft Power ทางความเชื่อว่า การค้าเสรีดีเลิศ แต่วันนี้กติกาเหล่านั้นไม่ได้สร้างความได้เปรียบกับตนเอง ก็หันมาใช้ Hard Power ทางเศรษฐกิจแทน เราก็เห็นมาบ้างแล้ว เช่นการบอยคอตรัสเซีย แซงชั่นอิหร่าน จำกัดการส่งออกชิปให้จีน หรือกดดันบราซิลเพราะดำเนินคดีอดีตประธานาธิบดีของตนเองที่เป็นสหายรักของทรัมป์ ฯลฯ
ทั้งหมดเป็นเรื่องอื่นที่มิใช่ทางการค้า ดังนั้นผมว่าเราต้องหันมามองนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของตนเองสำคัญเป็นอันดับแรก และประเทศไทยถึงเวลาที่จะจริงจังกับนโยบาย “Thailand First” อย่างจริงจัง เพราะวันนี้พอถึงทางปฏิบัติ กฎหมาย และกติกาเดิมยังทำให้การปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยและผู้ประกอบการไทยทำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และการใช้มาตรการป้องกันการทุ่มตลาดที่ใช้แบบเหนียม ๆ
3.กติกาโลกมี Double Standard เสมอ เราอย่าหลงคิดว่าโลกนี้มีความยุติธรรม เพราะเราจะเห็นการโจมตีของฉนวนกาซาที่พรากชีวิตของผู้คนหลายหมื่นคน กลับไม่ถูกประนามจากประเทศที่ได้ชื่อว่ารักมนุษยธรรม ความเป็นธรรม หรือองค์กร NGO ใด ๆ ที่จะเป็นจะตายตอนคราวที่ประเทศไทยส่งชาวอุยกูร์40 กว่าคนกลับประเทศ
แต่กลับเงียบกริบในกรณีของฉนวนกาซา ต่อไปนี้เราอาจต้องคิดใหม่กับเสียงของกลุ่มนี้ ว่าอาจจะเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี หรือกลุ่มผลประโยชน์ตนเอง ที่ต้องการกดดันประเทศของเราไม่ให้ขัดผลประโยชน์ของเขา ตอนนี้ถึงเวลาที่เราอาจจะต้องฉลาดพอที่จะฟัง ควบคุม และมีหลักปฏิบัติในการกำกับต่อความเห็นต่างในสังคม เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ และมองผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นหลัก และเรื่องภาษีของทรัมป์ครั้งนี้ ผมละอายแทน WTO จริง ๆ เงียบได้ใจจริง ๆ
4.เราเห็นความล้มเหลวของการเป็นรัฐบาลพรรคร่วม และการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงแบบดูถูกคนไทย เพราะที่ผ่านมาและตอนนี้ เราไม่มีใครมองภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ ปล่อยให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมองในบริบทของตัวเองนั้น ทำให้ขาดความเข้มแข็งในการพัฒนา และต่างคนต่างไปในทิศทางที่ตนเองคิดว่าใช่และสร้างคะแนนความนิยมตนเอง จนลืมเรื่องสำคัญของประเทศในด้านที่ตนเองดูแล
และกรณีการเจรจาวันนี้กับ Trump แสดงให้เห็นถึงบทบาทการตัดสินใจของผู้ที่คุมเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศว่าเราจะต้องได้อะไรเสียอะไร และต้องเตรียมการอย่างไรในการที่จะให้ส่วนที่เสียนั้นได้รับการดูแลและส่วนที่ได้นั้นต้องได้เยอะเพิ่มขึ้นในอนาคต
แต่วันนี้เรามีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ในการทำงานร่วมกันของกระทรวงที่ต่างพรรคกัน อย่าบอกผมว่ามีการหารือกันมีคณะทำงาน มีคณะกรรมการ มีคณะรัฐมนตรีดูแล เชื่อผมเถอะครับ ไม่เวิร์คด้วยประการทั้งปวงครับ ผมสนับสนุนให้พรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลคุมกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดเพื่อการตัดสินใจในภาพรวมของเศรษฐกิจได้ดี เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเกี่ยวข้องหลายกระทรวง ซึ่งงานต้องไปในทิศทางเดียวกัน สอดประสานกัน และงบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามงานที่มีอันดับสำคัญตามที่รัฐกำหนด
5.ถึงเวลาจริงๆครับในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในวันนี้ถ้าผมจะถามว่า วันนี้เรามีความแข็งแกร่งอะไร ในการแข่งขันในเวทีโลก สาขาสำคัญที่เราเก่งจนไม่กลัวใคร หรือลงไปในรายละเอียด เช่น สาขาอุตสาหกรรมอะไรที่เราครบเครื่องพร้อมลุย หรือสาขาเกษตรที่เราชำนาญ
มีพืชอะไรที่เราพร้อมสู้ทุกประเทสในโลก หรือเราเติบโตทุกวันนี้เพราะมาตรการปกป้อง สนับสนุน อุ้มชู จนไม่รู้ว่าตนเองแข็งแรงเพียงใด หรือสาขาบริการอะไร โรงพยาบาล หรือการเงิน ฯลฯ ถึงเวลาที่เราต้องลำดับความสำคัญ และมองภาพรวมเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ระยะยาว มาถึงตอนนี้ทำให้นึกถึง S-Curve แต่ตอนนี้เงียบได้ใจสุด ๆ
อีกนิดครับ หลายคนอาจจะบอกผมว่าตอนนี้เรากำหนด Soft Power เป็นหัวใจการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ผมมีความรู้น้อยในเรื่องนี้ ผมพยายามเอาใจไปใส่ผู้คนทั้งโลก แล้วคิดว่าอะไรคือ Soft Power ของประเทศไทย ยกตัวอย่างสิงคโปร์ ผมว่า Soft Power ของเขาคือ ระบบราชการที่โปร่งใส
ส่วนของเรานั้นผมต้องขออนุญาตรอฟังผู้เชี่ยวชาญบอกละครับ และเรารู้ชัดเจนแล้ว เราก็จะเอาใส่ไปในเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อหารายได้ เช่น ในการกีฬา ในการท่องเที่ยว ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือในด้านบริการ เพราะว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องเข้าใจในภาพรวมให้ได้ไม่เช่นนั้นเราจะจบด้วยการพูดเรื่องนี้กับการจัด Event แล้วก็จบนะครับ เพราะโลกในวันข้างหน้า เราจำเป็นต้องมีตัวตนในเวทีโลกโลกมองเห็นเราเป็นอะไรจาก Soft Power
และตัวตนนั้นจะต้องถูก Backup ด้วยความแข็งแกร่งทางด้านอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนทางด้านความมั่นคงนั้น ผมไม่แน่ใจว่าใครจะคิดอย่างไรแต่อย่างน้อยวันนี้ทุกประเทศเริ่มเห็นแล้วครับว่าเราไม่สามารถยืมจมูกใครหายใจและเชื่อใจใครได้จริง ๆ ไม่ว่ามิตรหรือศัตรู เพราะพฤติกรรมไม่ต่างกันเลย
จบด้วยคำถามว่าเราสามารถเจรจากับ Trump แล้วลดอัตราภาษีศุลกากรลงได้มากหรือไม่ ผมว่ายากครับ เพราะความยากอยู่ที่เงื่อนไขด้าน Non-Tariff เรื่องที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ที่เขาต้องการอสิระภาพเหนืออำนาจราชการไทย สมมตินะครับ ถ้าเขาบอกว่า เขาไม่เชื่อระบบศุลกากรของไทย ช้า ไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดคอร์รัปชั่น และต้นทุนกับสินค้าส่งออกของเขาที่มาไทย
ดังนั้นขอให้ผ่านเข้าประเทศโดยอัตโนมัติเลยหากมาถึงท่าเรือไทยแล้วสามวัน หรือเครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ นำเข้าจากสหรัฐฯ เมื่อได้มาตรฐานของสหรัฐฯ แล้วถือว่าผ่านมาตรฐานของไทยโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ในทางกลับกัน เขาไม่ให้สิทธิ์นี้กับผลิตภัณฑ์ของไทยส่งไปสหรัฐฯ เพราะเขาไม่เชื่อถือมาตรฐานของไทย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ ขอย้ำเป็นตัวอย่างที่ผมจินตนาการยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในประเด็นเนื้อหาการเจรจา ซึ่งสร้างความยุ่งยากใจของทีมเจรจาฯ มากกว่าเรื่องอัตราภาษีฯ ครับ
เอาใจช่วยครับ
thansettakij.com
กระตุกให้คิด (อีกที) จาก “ภาษีทรัมป์”
ผมว่าวันนี้ เราอาจจะกังวลว่าภาษีศุลกากรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเก็บกับเรานั้นจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ และแต่ละอัตรานั้นผลกระทบเป็นเท่าไร ใครได้ใครเสีย
3 บันทึก
6
2
3
3
6
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย