15 ก.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

Lateral Thinking กับการตัดเค้ก 8 ชิ้นโดยหั่น 3 ครั้ง

ถึงวันนี้มันอาจไม่ใช่คำถามใหม่แล้ว แต่นี่เคยเป็นโจทย์ในการศึกษาเรื่อง Lateral Thinking ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน
1
คำถาม : หั่นเค้กกลมหนึ่งลูกอย่างไรให้ได้เค้กแปดชิ้นเท่า ๆ กัน โดยการลงมีดตรง ๆ เพียงสามครั้ง?
วิธีตัดเค้กของคนทั่วไปคือหั่นทางตั้งจากด้านบนลงมา ชิ้นเค้กหน้าตาปกติคือทรงสามเหลี่ยม ปลายแหลม ก้นโค้ง แต่ด้วยวิธีนี้ การลงมีดสามครั้งจะได้เค้กเพียงหกชิ้น
วิธีคิดแบบ lateral thinking คือมองข้ามการตัดเค้กแบบปกติ เราอาจตัดครั้งที่หนึ่งหั่นทางตั้ง จะได้เค้กครึ่งวงกลมสองชิ้น ตัดครั้งที่สองทางตั้ง จะได้เค้กสี่ชิ้นเท่า ๆ กัน ตัดครั้งที่สาม ใช้มีดหั่นเค้กตรงกลางทางขวาง จะได้เค้กที่ความหนาเหลือครึ่งเดียว รวมแปดชิ้น หน้าตาเค้กต่างจากเดิม แต่ได้แปดชิ้นเท่า ๆ กัน
3
แต่นี่ก็มิใช่วิธีเดียวในการตอบโจทย์ ยังมีทางเลือกการตัดวิธีอื่น ๆ เช่น หั่นเค้กทางตั้งสองครั้งได้เค้กสี่ชิ้น นำทั้งสี่ชิ้นมาซ้อนกันแล้วหั่นอีกหนึ่งครั้ง ก็จะได้เค้กแปดชิ้น รูปร่างเค้กแต่ละชิ้นผอมไปหน่อย แต่ก็ได้แปดชิ้นเท่า ๆ กัน
อีกวิธีคือหั่นเค้กทางขวาง จะได้เค้กกลมสองชิ้น แยกเค้กกลมสองชิ้นออกมาวางชิดกัน หั่นครึ่งทางขวางอีกครั้งโดยให้มีดผ่านเค้กทั้งสองในทีเดียว จะได้เค้กกลมแบน ๆ สี่ชิ้น นำเค้กกลมแบนทั้งสี่ชิ้นมาซ้อนกัน หั่นทางตั้งหนึ่งครั้ง ก็จะได้เค้กครึ่งวงกลมแปดชิ้น
อะไรคือ Lateral Thinking?
เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ผู้เสนอเรื่อง Lateral Thinking มาตั้งแต่ปี 1967 (58 ปีมาแล้ว) บอกว่า lateral thinking ก็คือการมองต่างมุม โดยเปลี่ยน concept และ perception แบบที่เราคุ้นชิน
3
ในชีวิตเรา บางเรื่องมองด้วยมุมเดิมไม่ได้หรือไม่ชัด การมองนอกกรอบก็ทำให้เราใช้ชีวิตแบบเข้าใจสถานการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น เราเห็นคนขับรถที่แตะเบรกอยู่เรื่อยโดยไม่จำเป็น เราอาจคิดว่าเขาเป็นพวกมือใหม่หัดขับ แต่ lateral thinking ชี้ว่าอาจมีคำอธิบายอื่น ๆ อีก
เป็นไปได้ไหมว่าเขาเป็นโรคประสาทที่เท้า ทำให้กระตุกและเหยียบเบรกโดยคุมไม่ได้ เป็นไปได้ไหมว่าเบรกรถมีปัญหา เป็นไปได้ไหมว่ารองเท้าของเขามีตะปูตำ หรือกระทั่งเป็นเหตุผลที่เราคาดไม่ถึง คือเขาตั้งใจ!
สมมุติว่าใครคนหนึ่งถามเขาว่า “ทำไมคุณแตะเบรกบ่อย ทั้งที่ไม่จำเป็นเลย ไม่มีรถข้างหน้าคุณเลยนี่นา”
คนขับยิ้ม ตอบว่า “ถูกแล้ว ไม่มีรถข้างหน้า แต่มีรถข้างหลัง รถที่ตามหลังผมมาชอบขับมาจ่อใกล้ ๆ และชอบเบรกกะทันหัน คนขับยังพูดมือถือด้วย ขับแบบนี้อันตราย เขาอาจขับรถเสยท้ายผมได้ ผมจึงใช้แตะเบรกโดยไม่มีเหตุผล ทำไปสองสามครั้ง เพื่อให้เขาเชื่อว่าผมขับรถไม่เป็นและเป็นมือใหม่ เขาก็จะระวังขึ้น ไม่ขับมาจ่อท้ายผมอีก ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้คนขับมือใหม่”
6
ในการแก้ปัญหา วิธีคิดแบบ lateral thinking จะหาต้นเหตุของปัญหาและใช้ความคิดสร้างสรรค์หาทางเลือกมากทางที่สุดในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผลผลิตสินค้าของโรงงานลดลงจาก 1,000 ชิ้นต่อวันเป็น 700 ชิ้น การคิดแบบตรรกะจะบอกว่า ผู้บริหารจะต้องหาทางทำให้ตัวเลขกลับคืนมาเหมือนเดิม อาจโดยเพิ่มเวลาทำงาน เปลี่ยนคนงาน ฯลฯ
2
แต่ lateral thinking อาจมองปัญหาในมุมมองอื่นด้วย ท้ายที่สุดก็อาจไปแก้ปัญหาที่จุดอื่น ไม่ใช่ที่สายพานผลิตดังที่คิดไว้ล่วงหน้า (pre-conceived idea)​ เช่น เมื่อเราเห็นว่าผลผลิตลดลงเพราะพนักงานหญิงส่วนมากมาทำงานสาย เนื่องจากต้องดูแลเด็กอ่อน ทางแก้ก็อาจตั้งแผนกดูแลเด็กเล็กในโรงงาน พนักงานก็จะได้เวลามากขึ้น ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลผลิตก็กลับมาเป็น 1,000 ชิ้นต่อวันตามเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นด้วย
1
ในโจทย์ข้อเดียวกัน lateral thinking อาจทำให้พบว่า การลดการผลิตจาก 1,000 เป็น 700 ชิ้นต่อวันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะมันทำให้งานมีคุณภาพมากขึ้น ลูกค้าคืนสินค้าน้อยลง พนักงานมีความสุขขึ้น คนลาออกน้อยลง เสียเวลาไปกับการจ้างคนใหม่น้อยลงหรือไม่เสียเลย เสียเวลากับการรับสินค้าและคืนของใหม่ให้น้อยลงหรือไม่เสียเลย ในตอนท้ายผลตอบแทนของบริษัทก็สูงขึ้น มีกำไรมากขึ้น แม้ผลผลิตต่อวันจะลดลง
ความคิดสร้างสรรค์ก็ถูกใช้ในสนามรบเช่นกัน
1
ในสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินประจัญบานของสองฝ่ายยิงกันบนอากาศเป็นประจำ เครื่องบินลำใดถูกยิงหนัก ก็ร่วง นักบินมักเสียชีวิต แต่บางครั้งแม้เครื่องบินจะถูกข้าศึกยิงจนพรุน นักบินกลับสามารถพาเครื่องบินกลับฐานได้
ฝ่ายกองทัพอากาศของสัมพันธมิตรพยายามคิดหาวิธีเพิ่มสมรรถนะของเครื่องบิน เพื่อลดอัตราการถูกยิงตก พวกเขาขอให้นักคณิตศาสตร์อเมริกันนาม อับราฮัม วัลด์ (Abraham Wald) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ช่วยวิเคราะห์ปัญหาเครื่อง
ในสามัญสำนึกของคนทั่วไป จุดที่เครื่องบินถูกยิงมากที่สุดคือจุดเปราะบาง ควรเสริมเหล็กให้หนาขึ้น แต่วัลด์กลับมองต่างมุม เขาเห็นว่า ในเมื่อเครื่องบินถูกยิงจนพรุน แล้วยังสามารถบินกลับฐานได้ ก็แสดงว่าจุดที่ถูกยิงไม่ต้องเสริมอะไรอีก ตรงกันข้าม ส่วนใดไม่มีกระสุนให้เห็น อาจแปลว่ามันเป็นจุดที่ถูกยิงแล้วร่วง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องเสริมให้แข็งแรงขึ้นมากกว่า
การมองด้านข้างแบบนี้ถูกนำไปพัฒนาเครื่องบินรบในช่วงสงครามให้ทำงานดีขึ้น และมันเกิดจากการมองจุดที่ทุกคนมองข้าม เพราะเห็นว่าเป็นตรรกะ
1
ดังนั้นจะเห็นว่า แค่ละวางกรอบคิดและความเคยชินเดิมชั่วคราว ก็อาจเปิดหน้าต่างความคิด มองได้กว้างขึ้น และแก้ปัญหายาก ๆ ที่แก้ด้วยวิธีการเดิมไม่ได้
ลองคิดง่าย ๆ หากมีโจทย์ให้ออกแบบรถยนต์ คนส่วนใหญ่จะนึกว่าพาหนะที่มีสี่ล้อ ขับโดยมนุษย์ หรือโดยปัญญาประดิษฐ์
ยังไม่หนีจากกรอบคิดว่าพาหนะต้องมีสี่ล้อ
ถ้าก้าวพ้นกรอบคิด ก็จะเป็นอิสระในการคิดมากขึ้น เช่น ยานพาหนะที่ใช้แรงแม่เหล็กยกลอยขึ้น โดยไม่ต้องมีล้อ เป็นต้น
1
ไม่นานมานี้มีคนบอกผมว่า การแก้ปัญหาการเมืองไทยคือต้องปลดนักการเมืองเก่าทั้งหมด แล้วหานักการเมืองชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาแทน
แต่ Lateral Thinking บอกว่า นี่ก็ยังหนีไม่พ้นจากกรอบคิดว่า เราต้องมีนักการเมือง
3
จากหนังสือ ฆรีเอติวิถี โดย วินทร์ เลียววาริณ
เผยแพร่ในเว็บไซต์ winbookclub.com และ Line Today ช่วง พ.ศ. 2556-2565 รวมเล่มครั้งแรกเป็นอีบุ๊ค มีนาคม 2566
1
โฆษณา