14 ก.ค. เวลา 00:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ

MK กับการปรับตัวสู่โมเดลบุฟเฟต์ในชื่อ บริษัท "คุ้มคุ้ม"

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 บริษัท MK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เรื่องการจัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ "คุ้มคุ้ม" เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างชัดเจน
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2568 MK ได้เปิดตัวร้านอาหารใหม่ในชื่อ BONUS SUKI ภายใต้บริษัทคุ้มคุ้ม ซึ่ง MK ถือหุ้น 100% ชื่อBONUS SUKI เป็นร้านสุกี้สไตล์บุฟเฟต์ โดยสาขาแรกเปิดที่ โรบินสัน สระบุรี ให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 68 เวลา 12.00 – 05.00 น.
• ค่าบริการ 219 บาท (ยังไม่รวมเครื่องดื่มรีฟิล 39 บาท และ VAT 7%)
• คิดเป็นราคาสุทธิราว 276 บาท
• มีให้เลือกประมาณ 60 เมนู
ก่อนหน้านี้ MK ได้ทดลองเปิดบุฟเฟ่ต์สำหรับสาขา ที่อยู่ในบิ๊กซีและโลตัส ในช่วงเดือน มิ.ย.–ก.ค. 68 โดยตั้งราคาไว้ที่ 299 บาท แต่เมนูยังมีให้เลือกไม่มากนัก
ทำความเข้าใจธุรกิจของ MK (หุ้น M)
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ เช่น
• MK สุกี้
• ร้านอาหารญี่ปุ่น "ยาโยอิ" (แฟรนไชส์จากญี่ปุ่น)
• ฮากาตะ, มิยาซากิ (อาหารญี่ปุ่น)
• ณ สยาม, เลอสยาม (อาหารไทย)
• Le Petit (ร้านกาแฟ/เบเกอรี่)
สัดส่วนรายได้ของบริษัท:
• MK สุกี้ 71%
• ยาโยอิ 19%
• แหลมเจริญ 6%
• อื่นๆ 4%
รายได้หลัก 84% มาจากลูกค้าที่มานั่งทานที่ร้าน
มาดูภาพรวมงบการเงิน Q1/68 กันบ้าง
Q1/68 ของ M รายได้ - 10% แต่กำไรลดไปถึง -32%
ในงบการเงิน เราสามารถสรุปโครงสร้างคร่าวๆ ได้ดังนี้:
รายได้ – รายจ่าย = กำไรสุทธิ
โดยรายจ่ายจะแบ่งเป็น:
• ต้นทุนขาย: วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ
• ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร: พนักงาน ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ โฆษณา ฯลฯ
• ต้นทุนทางการเงิน: เช่น ดอกเบี้ย
• ภาษี
การดู “กำไรแต่ละขั้น”
• กำไรขั้นต้น = รายได้ – ต้นทุนขาย
• EBIT (กำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษี) = กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
• กำไรสุทธิ = EBIT – ต้นทุนทางการเงินและภาษี
เราสามารถดู “อัตรากำไร” ได้จากการนำกำไรแต่ละขั้นไปเทียบกับรายได้
อัตรากำไรของ M ใน Q1/68 เทียบกับ Q1/67
อัตรากำไรหุ้น M Q1/68
- อัตรากำไรขั้นต้น 66.45%
- EBIT margin 8.07%
- อัตรากำไรสุทธิ 6.46%
อัตรากำไรหุ้น M Q1/67
- อัตรากำไรขั้นต้น 67.6%
- EBIT margin 10.62%
- อัตรากำไรสุทธิ 8.68%
จะเห็นว่า อัตรากำไรลดลงทั้งสามระดับใน Q1/68 เมื่อเทียบกับปีก่อน และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะอัตรากำไรขั้นต้น 66% ลงมาเหลือเป็น EBIT margin 8%
ร้านอาหารมีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ค่อนข้างมาก เช่น ค่าเช่า และค่าจ้างพนักงาน
• ถ้ารายได้ต่ำกว่า “จุดคุ้มทุน” แม้จะลดลงไม่มาก แต่กำไรอาจหายไปเยอะ
• แต่ถ้าผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว รายได้ที่เพิ่มขึ้น จะกลายเป็นกำไรได้มากขึ้น
ยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG – Same Store Sales Growth)
การวัดประสิทธิภาพของสาขาที่เปิดมาแล้ว โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• Q1/68: -10.5%
• Q4/67: -10.7%
• Q3/67: -12.7%
ตัวเลขยังติดลบต่อเนื่อง สะท้อนว่าร้านสาขาเดิมอาจต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อดึงยอดขาย
ข้อมูล SSSG นี้สามารถดูได้จาก
• รายงานวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
• งาน “Opportunity Day”
• หรือสอบถามฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท
สรุป!
MK ปรับตัว “ทดลองขยายโมเดลใหม่” ผ่าน BONUS SUKI ภายใต้บริษัทย่อยคุ้มคุ้ม การเปิดบุฟเฟ่ต์ราคาเข้าถึงง่ายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย
คงต้องติดตามงบ Q2/68 และ Q3/68 ต่อไป ว่ารูปแบบใหม่นี้จะช่วยหนุนรายได้และกำไรได้แค่ไหน
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้นำเสนอเพื่อความเข้าใจในธุรกิจ ไม่ได้มีเจตนาแนะนำให้ซื้อหรือขายหุ้นใดๆ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #งบการเงิน #หุ้น #ลงทุนหุ้น #งบกำไรขาดทุน #อัตรากำไร #อัตรากำไรขั้นต้น #EBIT #อัตรากำไรสุทธิ #M #MKสุกี้
โฆษณา