เมื่อวาน เวลา 13:30 • ธุรกิจ

ต้นทุนธุรกิจไม่ได้มีแค่เงิน: ต้นทุน 5 อย่างที่ธุรกิจขาดไม่ได้ถ้าอยากชนะในโลกธุรกิจ

ถ้าลองถามคนที่เคยเปิดร้านกาแฟแล้วเจ๊งว่าทำไมถึงไปไม่รอด?
บางทีคำตอบที่ได้มักวนเวียนอยู่แค่ “ทุนไม่พอ” หรือ “คู่แข่งขายถูกเกินไป แข่งไม่ได้”
แต่ถ้าลองไปถามคนที่เคยทำธุรกิจแล้วผ่านพ้นช่วงเวลาที่ลำบากมาหลายปี ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โรคระบาดใหญ่ หรือการเมืองไม่นิ่ง ฯลฯ เราอาจจะได้คำตอบอีกแบบ
เพราะแน่นอนแหละว่า เงินทุนก็สำคัญ เพียงแต่ว่าสิ่งที่กัดกร่อนและทำให้ธุรกิจมากมายล้มหายตายจากกันไปอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องนั้นเพียงอย่างเดียว เพราะที่จริงแล้วมันยังมี ‘ต้นทุน’ อีกหลายอย่างมากที่ต้องใช้สำหรับการปลุกปั้นให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดได้
คุณปิ๊ก-ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์​ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์ อะไรเอ่ย ทายาทรุ่นที่ 2 ของแบรนด์เครื่องหนัง VIERA by Ragazze และที่ปรึกษาทางธุรกิจและนักเขียนเจ้าของหนังสือ "#วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน" บอกว่าที่จริงแล้วต้นทุนทางธุรกิจนั้นมีอยู่ 5 อย่าง แต่ละอย่างจะถูกใช้มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงของการทำธุรกิจนัน ประเภทของธุรกิจ และเวลาที่เราท
“คำว่า ‘ต้นทุน’ เป็นสิ่งที่มีได้และหมดไปได้ แต่ความต่างของการมีต้นทุนของแต่ละคนคือ บางคนมีแต่ใช้หมดแล้วหมดเลย บางคนหมดแล้วเติมได้ไม่รู้จักหมด ไม่รู้หามาจากไหน ซึ่งความต่างนี้เองที่ทำให้ธุรกิจแต่ละอย่างประสบสำเร็จไม่เท่ากัน แม้จะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน”
💡 [ 1. ต้นทุนทาง “ความคิด” ]
ไอเดียไม่ใช่ประกายวาบเดียวที่มาครั้งเดียวแล้วหายไปเลย แต่คือเปลวไฟที่ต้องเติมเชื้อทุกวัน
ตัวอย่างคลาสสิกคือเวลาคนอยากเริ่มทำธุรกิจคือ ‘ร้านกาแฟ’ ชิลๆ สักร้านหนึ่ง ประกายในหัวอาจจะเป็น ‘เราชอบดื่มกาแฟ อยากมีร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง ชิล จิบกาแฟ อ่านหนังสือ’
ปัญหาคือ...ทุกคนที่ทำร้านกาแฟก็คงคิดประมาณนี้แหละ พอมีสามสี่ร้านเปิดในย่านหนึ่ง คนเริ่มสงสัยว่ามันต่างจากร้านที่ 5 ตรงไหน
ต้นทุนทางความคิด 4 อย่างที่ต้องมี 1) คิดไอเดีย 2) คิดพัฒนา 3) คิดเรื่องการวิเคราะห์และแก้ปัญหาทุกวัน และ 4) คิดเรื่องการตลาดและรักษาลูกค้า
เทคนิคที่อาจจะพอช่วยได้เพื่อเพิ่มต้นทุนทางความคิดมาจากงานวิจัยของ Leslie A. Perlow ที่พบว่าเมื่อทีมจัดสรร “Quiet Time” ให้สมาชิกคิดโดยลำพังสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 3.5 ชั่วโมง เช่น 8:00–11:30 น. อังคาร–พฤหัส–ศุกร์ (ไร้การประชุม/โทรฯ/อีเมล) จะช่วยสร้างความโปรดักทีฟและความคิดสร้างสรรค์ของทีมได้มากกว่าทีมที่ประชุมถี่ยิบถึง 65 %
💰 [ 2. ต้นทุนทาง “การเงิน” ]
เงินคือออกซิเจน และธุรกิจมากมายทั้งล้มตายและ “เกือบตาย” เพราะกระแสเงินสดขาดช่วง
บางทีธุรกิจดีมาก แต่หมุนเงินไม่ทันก็ไปไม่รอดได้เช่นกัน
คนที่มีเงินน้อยไม่จำเป็นต้องถอยหรือไม่ทำอะไรเลย
“ผมเองก็เชื่อว่าความคิดนี้มีส่วนถูกอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเรา จัดการกับมันไม่ได้ เงินทุนน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาไปทำธุรกิจอะไร และเราเข้าใจธุรกิจนั้นดีแค่ไหนมากกว่า” คุณปิ๊กกล่าว
เริ่มในขนาดเล็กที่สุดเท่าที่ลูกค้าจริงยอมรับได้ เช่น ร้านเบเกอรี่บางแห่งทำแค่ “เคาน์เตอร์ป๊อป-อัพ” ในคาเฟ่ของคนอื่น ขายหมดค่อยขยาย
การยืดเกมให้ “เงินหายใจได้ทัน” คือกุญแจสำคัญ
เงินสดช่วยให้คุณยืดหยุ่นได้
มีเงินเท่าไรไม่สำคัญเท่าคุณมีมันเมื่อต้องใช้หรือเปล่า
เมื่อแข่งขันรุนแรง สิ่งแรกที่จะทำให้ธุรกิจตายไม่ใช่กำไรน้อยหรือขายไม่ดีแต่คือ ‘สภาพคล่อง’
🧠 [ 3. ต้นทุนทาง “ความรู้ – ความสามารถ – ประสบการณ์” ]
ลองเปรียบธุรกิจเป็นเกมหมากรุก ความรู้เปรียบเหมือนคุณท่องตำราหมากรุกมาเป๊ะ แต่ประสบการณ์จะช่วยให้คุณพอจะมองกระดานแล้วคาดเดาอีก 3 ตาเดินข้างหน้าได้ และรู้ว่าคู่ต่อสู้คนนี้ชอบวางหมากมุมไหนมาก่อนบ้าง
มีเรื่องเล่าหนึ่งเกี่ยวกับช่างทำกุญแจที่เชี่ยวชาญและทำงานมานานหลายปี เขาไปปลดล็อกประตูบ้านให้ลูกค้าที่ลืมกุญแจไว้ในบ้าน ใช้เวลาปลดล็อกไม่ถึงนาที แต่เก็บเงินแพงกว่าเจ้าอื่นๆ พอลูกค้าบ่นเรื่องค่าแรง เขาบอกว่า ‘ที่คุณจ่ายคือค่าประสบการณ์ผมไม่ใช่ชั่วโมงที่ทำงาน’
เหมือนกันครับ ต้นทุนของความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เปรียบเหมือน “ความได้เปรียบเชิงข้อมูล” (Informational Edge) บริษัทวิศวกรรมที่สร้างสะพานมาแล้ว 100 แห่ง ย่อมมีโอกาสรู้ว่าอุปกรณ์ชิ้นไหนพังบ่อยกว่าคู่แข่งที่สร้างมาแค่ 10 แห่ง ตั้งแต่ต้นปีพวกเขาเลยสต็อกอะไหล่ล่วงหน้า ลดต้นทุนหยุดงานซ่อมบำรุงไปหลายล้าน
คุณปิ๊กบอกว่า “นักธุรกิจมากมายไม่ได้เรียนสูง แต่ขยัน ค้าขายตั้งแต่เด็ก สิ่งที่นักธุรกิจเหล่านี้มีคือความรู้นอกตำรา ความสามารถ และประสบการณ์จริง ส่วนตัวแล้วผมให้ความสำคัญกับต้นทุนอันนี้มากที่สุด เพราะถ้ามีติดตัวเยอะ จะนำมาพลิกแพลงปรับใช้กับทุกธุรกิจได้ทุกช่วงอยู่แล้วตอนเริ่มธุรกิจก็ใช้ตอนแก้ปัญหาก็ใช้ตอนขยายธุรกิจยิ่งต้องใช้”
❤️‍🔥 [ 4. ต้นทุนทาง “แรงกาย – แรงใจ” (GRIT) ]
แองเจลา ดั๊กเวิร์ธ (Angela Duckworth) นักจิตวิทยาและนักเขียนหนังสือเล่มดัง 'GRIT' ที่ศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น เธอสรุปว่าคนที่ “กัดไม่ปล่อย” หรือมี ‘ความเพียรพยายามแบบไม่ยอมแพ้’ เป็นความพยายามที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่ (passion) ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลวง่าย ๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่คิดไว้ในระยะยาว
อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือกระทั่งเป็นปี สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้น คนคนนั้นไม่ได้หยุดพยายามเลย แต่พยายามสู้กับตัวเองอยู่ตลอด ทั้งสู้กับความไม่รู้ของตัวเอง สู้กับสายตาดูแคลนของคนอื่น และสู้กับเวลาที่ผ่านไปวันแล้ววันเล่า
“ต้นทุนนี้เป็นตัววัดความสำเร็จเลยว่าธุรกิจจะอยู่หรือไป โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นใหม่ ต้องเจอปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามาจากรอบด้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก
[...] ใครมีต้นทุนนี้ได้มากเท่าที่ต้องการได้ คือคนที่มีโอกาสสูงในการทำธุรกิจออกมาได้ดี เวลาเจอปัญหาก็ท้อ แต่ท้อแป๊บเดียวกำลังใจมา ออกไปทำงานต่อ เวลาทดลองทำอะไรใหม่แล้วเจ๊ง เสียหาย เหนื่อย เซ็ง นั่งพักนอนพักไม่กี่ชั่วโมง ออกไปทำงานต่อได้เหมือนเดิม
ใครมีแรงกายแรงใจให้ตัวเองได้ทุกวัน บอกเลยว่าคุณเป็นคนโชคดีและได้เปรียบมาก”
คนที่มี GRIT จะมองว่า “นี่แค่ค่าเล่าเรียน” แล้วลุกขึ้นต่อได้เร็วกว่าที่คู่แข่งคาด
⏱️ [ 5. ต้นทุนทาง “เวลา” ]
ทุกคนได้วันละ 24 ชั่วโมง แต่วิธีใช้ต่างกัน
“เป็นต้นทุนที่ใช้แล้วหมดไป หยุดไม่ได้ เก็บไว้กับตัวก็ไม่ได้ต้นทุนด้านเวลาจึงเป็นเหมือนตัวบีบหรือเร่งให้เราจัดการทุกอย่างให้ได้เท่าที่เรามีเวลาจัดการกับมัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ ซึ่งต้องการเวลาจากเจ้าของมาก” คุณปิ๊กกล่าวเสริม “ใครทำธุรกิจแล้วไม่มีเวลาดูแลใกล้ชิด แนะนำว่าอย่าเพิ่งทำเลย เก็บเงินไว้ก่อนดีกว่า”
เวลาเป็นต้นทุนเดียวที่สร้างเพิ่มไม่ได้ คุณจึงต้องเป็นนักลงทุนที่ดีพอ เอามันไปซื้อสิ่งที่ทวีคูณ (การเรียนรู้, ระบบ, สุขภาพ) ไม่ใช่สิ่งที่หมดค่าเร็ว (ดราม่ารายวัน, งานเอกสารที่แจกจ่ายให้คนอื่นทำได้)
สุดท้ายแล้ว ความสำเร็จทางธุรกิจจึงไม่ได้วัดที่ “ใครมีมากกว่า” แต่ที่ “ใครจัดการดีกว่า”
ถ้าเปรียบเป็นเกม ปัจจัยไม่ได้มีแค่เงินสด แต่มันคือ ความคิด + เงิน + ความรู้ + แรงใจ + เวลา ในปริมาณที่แตกต่างกัน
คุณอาจเริ่มด้วยเงินน้อย แต่มี GRIT สูงลิบ และรู้จักเกมดีกว่าคนที่มีทุนหนาแต่ขี้เบื่อ โอกาสชนะในระยะยาวจึงกลับหัวได้เสมอ
เพราะฉะนั้นจง มองต้นทุนให้ครบทั้งห้า อย่าหลงคิดแค่ว่ามีเงินพอแล้วจบ จับจังหวะใช้ทุนให้ถูกต้อง ลองหา “Product / Market Fit” ให้ชัดก่อนจะลุยจริงจัง สะสมต้นทุนที่เติมเองได้ เช่นความรู้และแรงใจ ที่เราค่อยๆ สร้างได้ และสุดท้ายคือจัดการเวลาให้มีค่ามากที่สุด ทุกนาทีที่เสียไปกับงานไม่จำเป็น คือดอกเบี้ยทบต้นที่คุณจ่ายแบบไม่รู้ตัว
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงิน #การเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง #แนวทางความคิด
โฆษณา