Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
16 ก.ค. เวลา 03:30 • ธุรกิจ
สรุปสูตรหา “มูลค่าเพิ่มของธุรกิจ” เครื่องมือตอกย้ำความแข็งแกร่ง ของกิจการ
ในการประเมินธุรกิจก่อนลงทุน “งบการเงิน” มักเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการวิเคราะห์ธุรกิจ
โดยตัวเลขต่าง ๆ ในงบการเงินนั้น นอกจากใช้ประเมินความสามารถในการทำกำไร การเติบโตของธุรกิจ ไปจนถึงมูลค่าความถูกแพงของราคาหุ้นแล้ว
อีกตัวแปรหนึ่งที่ตัวเลขเหล่านั้นสามารถบอกได้ ก็คือความสามารถในการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ของตัวธุรกิจ
มูลค่าเพิ่มของธุรกิจคืออะไร ? และเราจะประเมินความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เวลาเราอ่านงบการเงิน สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองหามักเป็น “การเติบโต” ของผลประกอบการ อย่างรายได้ และกำไร
คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำไรที่สร้างมานั้น เป็นกำไรที่มีคุณภาพจริง ๆ
ซึ่ง “มูลค่าเพิ่มของธุรกิจ” คือตัวชี้วัดที่จะตอบคำถามนี้ได้
โดยธุรกิจที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก จะเป็นการตอกย้ำว่ากำไรที่เติบโตมานั้น มีคุณภาพและยั่งยืน
แล้วเราจะวัดการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจได้อย่างไร ?
คำตอบคือเราสามารถวัดจาก “ผลตอบแทน” ที่บริษัททำได้ เมื่อเทียบกับ “ต้นทุนของเงินลงทุนนั้น”
ซึ่งถ้าหากว่าผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนของเงินลงทุน ก็แปลว่า ธุรกิจกำลังสร้างมูลค่าเพิ่ม
ในทางกลับกัน ถ้าหากผลตอบแทนต่ำกว่าต้นทุนของเงินลงทุน ก็แปลว่า ธุรกิจนั้นกำลังทำลายมูลค่าอยู่นั่นเอง
โดยในการคำนวณ จะมีตัวแปรหลักที่ใช้ทั้งหมด 3 อย่าง คือ
1. Net Operating Profit After Tax (NOPAT) หรือกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี
โดย NOPAT = กำไรจากการดำเนินงาน x (1 - อัตราภาษี)
2. Invested Capital (IC) หรือเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน
โดย IC = ส่วนผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีดอกเบี้ย - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
3. Weighted Average Cost of Capital (WACC) หรือต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกิจ
WACC = We x Ke + Wd x Kd x (1-T)
โดยที่
- We มาจาก ส่วนของผู้ถือหุ้น / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีดอกเบี้ย)
- Ke คือ ผลตอบแทนคาดหวังของผู้ถือหุ้น
- Wd มาจาก หนี้สินมีดอกเบี้ย / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีดอกเบี้ย)
- Kd คือ ต้นทุนหนี้สินจากการกู้ยืม (อัตราดอกเบี้ย)
- T คือ อัตราภาษีนิติบุคคล ซึ่งในกรณีของประเทศไทยจะอยู่ที่ 20%
มาถึงขั้นตอนการหามูลค่าเพิ่มของธุรกิจ
โดยเราสามารถหามูลค่าเพิ่มของธุรกิจได้ 2 วิธี
1. เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของเงินลงทุน (ROIC) ของกิจการ กับต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุน (WACC)
ซึ่งเราสามารถคำนวณ ROIC
โดย ROIC = NOPAT x 100 / Invested Capital
ก็จะได้ ROIC ในรูปแบบเปอร์เซ็นต์
ถ้าหาก ROIC > WACC ก็หมายความว่า บริษัทกำลังสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะผลตอบแทนที่ได้ มากกว่าต้นทุนของเงินทุนนั้น ๆ
แต่หาก ROIC < WACC ก็หมายความว่า บริษัทกำลังทำลายมูลค่า เพราะผลตอบแทนที่ได้ แพ้ต้นทุนที่ต้องแลก
ตัวอย่างเช่น ปีล่าสุด บริษัท A
- มีกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี (NOPAT) อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท
- มีส่วนของผู้ถือหุ้น 3,000 ล้านบาท
หนี้สินที่มีดอกเบี้ย 3,000 ล้านบาท
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 1,000 ล้านบาท
ทำให้มีเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน (IC) ราว ๆ 5,000 ล้านบาท
- คำนวณอัตราผลตอบแทนของเงินลงทุน (ROIC) ได้เท่ากับ 1,000 x 100 / 5,000 = 20%
- มีต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุน (WACC) = 10%
- สรุปแล้ว ROIC ที่ 20% มากกว่า WACC ที่ 10%
แสดงว่า บริษัท A กำลังดำเนินงาน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจอยู่นั่นเอง
2. เปรียบเทียบผลตอบแทนที่ธุรกิจทำได้ กับต้นทุนของเงินทุน หรือที่เรียกกันว่า Economic Value Added (EVA)
โดย EVA = NOPAT - (WACC x Invested Capital)
ถ้าหาก EVA > 0 หมายความว่า บริษัทกำลังสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะกำไรสูงกว่าต้นทุนของเงินทุน
ในทางกลับกัน หาก EVA < 0 ก็แปลว่า บริษัทกำลังทำลายมูลค่า เพราะกำไรที่ทำได้ ไม่สามารถชดเชยต้นทุนของเงินทุนได้นั่นเอง
จากทั้ง 2 วิธี จะเห็นว่า ถ้าผลตอบแทนที่ธุรกิจสามารถทำได้ สูงกว่าต้นทุนของเงินทุน ก็หมายความว่า บริษัทนั้น ๆ กำลังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นอยู่
ซึ่งการที่บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จะเป็นเครื่องตอกย้ำถึงคุณภาพและความยั่งยืนของ “กำไร” ที่บริษัททำได้
นอกจากนี้ นักลงทุนบางคนอาจใช้วิธีนี้ ในการพิสูจน์ถึงการมีป้อมปราการทางธุรกิจ หรือ Economic Moat ของบริษัทที่สนใจ กับบริษัทคู่แข่ง ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
โดยการนำ ROIC เทียบกับ WACC และ EVA ของบริษัทที่เราสนใจ ไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
ซึ่งถ้าหากบริษัทไหน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าคู่แข่ง ก็แปลว่า บริษัทนั้นมีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง และมักถูกประเมินมูลค่าบริษัท สูงกว่าคู่แข่งนั่นเอง..
ธุรกิจ
10 บันทึก
15
3
10
15
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย