16 ก.ค. เวลา 14:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ลุ้น “วิทัย รัตนกร” ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กู้เศรษฐกิจ ลดหนี้ครัวเรือน

รอเก้อไปอีกหนึ่งสัปดาห์กับประเด็นการแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติคนใหม่ แทน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2568 หลังจากได้รับการยืนยันว่า คัดเหลือชื่อ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเป็นคนสุดท้าย
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า ได้เสนอรายชื่อมายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ (15 ก.ค. 68) แล้ว แต่บรรจุเข้าวาระไม่ทัน เนื่องจากอาจจะเสนอชื่อช้าไป แต่จะเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้าแน่นอน พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไร โดยจะยังเป็นรายชื่อเดิมที่เสนอไปแล้ว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่า ในการเสนอรายชื่อผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ เข้ามาในครม.ครั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอเอกสารมาไม่ครบถ้วน เพราะมีเพียงแค่หนังสือกระทรวงการคลัง และประวัติของผู้ที่ได้รับการพิจารณาเท่านั้น โดยยังขาดเอกสารรับรองของหน่วยงานสำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสํานักงานศาลยุติธรรม
หลักการพิจารณาแต่งตั้งวาระดังกล่าว ถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่อย่างรอบคอบ ก่อนนำมาประกอบการพิจารณาของครม. เพราะเกรงว่า หากมีความไม่รอบคอบขึ้น อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องการมาตรฐานทางจริยธรรมได้
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่มีการเสนอรายชื่อเข้ามาให้เกิดความรอบคอบก่อน ทำให้ในการประชุมครม.วันนี้ จึงไม่ได้พิจารณาวาระดังกล่าวของกระทรวงการคลัง และกรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่การสกัดกั้นทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก่อนดร.เศรษฐพุฒิ จะครบวาระในวันที่ 30 ก.ย.2568”
แหล่งข่าวระดับสูงตลาดเงินตลาดทุนสะท้อนมุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บทบาทผู้ว่าแบงก์ชาติว่า ปัญหาของประเทศไทยเวลานี้ แบงก์ชาติต้องเป็นเสาหลัก เพราะจะไม่มีอะไรยืนได้ ประเทศไทยจะไปข้างหน้าได้ โดยที่ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านการเงินการคลังของโลกจะปั่นป่วนวุ่นวายมากไปอีก 2-3 ปี ดังนั้นผู้ว่าแบงก์ชาติต้องเป็นคนที่รู้จริง ไม่ใช่เวลาที่จะเอาคนที่ปฎิบัติ/สนองนโยบาย
ทางออกของแบงก์ชาติไม่ใช่เรื่องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต้องรื้อโครงสร้างของประเทศ ถ้าต้องการทำให้คนไทยพ้นจากสภาพหนี้ครัวเรือน และทำให้คนไทยมีรายได้พอกับค่าใช้จ่าย สิ่งที่ควรทำคือ นำบริษัทที่ดีเข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาคน โดยเฉพาะลูกหลานของคนที่เป็นหนี้ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อทำงานและสร้างรายได้ครัวเรือนมากขึ้น
ไม่ว่ารายได้จากคนไทยที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้นหรือ รายได้จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พอมีรายได้เข้ามาช่วยแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่ท่วมหัวอยู่ เพราะพ่อแม่แก้ไม่ได้แล้ว กรณีลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นการช่วยธุรกิจ แต่ไม่ทำให้ลูกจ้างหรือประชาชนมีรายได้ดีขึ้น อย่างที่บอกคนไทยมีหนี้ 60-70%
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองว่า นายวิทัยว่าที่ผู้ว่าธปท.คนใหม่ มีความยืดหยุ่นสามารถประสานฝั่งกระทรวงการคลังและภาคเอกชนได้ โดยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้หนี้ครัวเรือน เพื่อให้มีกำลังซื้อกลับเข้าสู่ตลาด
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
ภาคอสังหาฯ มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะถึงนี้ จะพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจและรับมือภาษีทรัมป์ แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวนจะช่วยได้เฉพาะช่วยลดภาระผู้กู้ลงเท่านั้น แต่ไม่ช่วยจูงใจหรือกระตุ้นการลงทุนเนื่องจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินดังกล่าว ภาคเอกชนเสนอนายวิทัย เจรจาธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนลดดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย MRR ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงผ่อนคลายพิจารณาสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อและตลอดอสังหาฯเดินต่อได้
นายเทียนประสิทธิ์  ไชยภัทรนันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)กล่าวว่า ข้อเสนอที่อยากฝากผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ อยากให้เข้ามาช่วยเรื่องกระแสเงินสดของผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยอยากให้มีแพ็คเกจซอฟต์โลนก้อนใหญ่ เพื่อสนับสนุนเงินหมุนเวียนสำหรับธุรกิจหรือ สนับสนุนกรณีดำเนินการเรื่องความยั่งยืน
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรนันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)
“ธุรกิจโรงแรมจะมีในเรื่องของหลักทรัพย์ ที่ผ่านมาก็มีการคืนหนี้เงินต้นให้กับธนาคารต่างๆ ซึ่งเงินต้นลดลงไปบ้างแล้ว แต่ยังมีช่องว่างในส่วนของวงเงินเดิมยังอยู่ ถ้าแบงก์ชาติสนับสนุนเงินใหม่เข้ามาก็จะช่วยผู้ประกอบการโรงแรมได้มากโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่นักท่องเที่ยวชลอตัว รวมทุนต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น”นายเทียนประสิทธิ์กล่าว
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากกับผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ คือ
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)
1. วางแผนดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งจนเกินไป สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกและตลาดการท่องเที่ยวโลกได้ดี
2. นโยบายดอกเบี้ย ที่จัดลำดับความสำคัญของ SMEs อยู่ในสถานะที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันมีปัญหาอย่างมาก
3. ออกมาตรการสนับสนุน แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว หรือ การใช้พลังงานสะอาด และ การลงทุนพื้นที่ห่างไกลของภาคเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าของรายได้กับคนเมือง
4. กองทุนที่มีกลไกรองรับภาวะฉุกเฉิน สามารถตอบสนอง การแก้ไขในภาวะวิกฤตผ่าน องค์กรการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนได้รวดเร็ว และแม่นยำ
นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทยกล่าวว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว SMEs และดิจิทัล ขอฝากผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่คือ
นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย
1. ออกนโยบายแก้หนี้ พักชำระหนี้ ยืดหนี้สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในปีนี้ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก SME e-Commerce และ Startup
2. ออกนโยบายส่งเสริม Smart Green Well ที่เข้าถึงง่ายขึ้น เพื่อดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นทั้งชุมชนและจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ยั่งยืน ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
3. ตั้งศูนย์ข้อมูล Smart Credit for SME, e-Commerce & Startup เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบใหม่ที่เข้าใจธุรกิจยุคใหม่ โดยใช้ AI / Big Data และรองรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
4. สนับสนุนสินเชื่อ และ VC ด้าน Tech/Smart Tourism / Wellness / eCommerce ที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่สร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่แม้ยังมีรายได้ไม่แน่นอน แต่มีศักยภาพสูง สามารถเติบโตได้
โฆษณา