9 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ

3 ทางเลือกทบทวนลดค่าไฟงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 68 อยู่ที่ 3.98-5.10 บาท/หน่วย

กกพ. เคาะ 3 ทางเลือกทบทวนลดค่าไฟงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 68 อยู่ที่ 3.98-5.10 บาท/หน่วย จากปัจจัยต้นทุนค่าไฟลด
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 26/2568 (ครั้งที่ 968) เมื่อวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับงวด ก.ย. - ธ.ค. 2568 เป็น 3 กรณี ตั้งแต่เรียกเก็บต่ำสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วยจนถึงสูงสุดที่ 5.10 บาทต่อหน่วย
กกพ. เคาะ 3 ทางเลือกทบทวนลดค่าไฟงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 68 อยู่ที่ 3.98-5.10 บาท/หน่วย จากปัจจัยต้นทุนค่าไฟลด
โดยปัจจัยบวกหลักๆ ที่ส่งผลดีต่อค่าเอฟทีและแนวโน้มค่าไฟที่ลดลงในงวด ก.ย. - ธ.ค. 2568 มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง เข้าสู่ภาวะปกติ
แต่สาเหตุที่ กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีและค่าไฟได้ทันที ก็เพราะว่ายังคงมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจัดเก็บค่าไฟฟ้าเพื่อลดหนี้ กฟผ. ในช่วงต้นปีก็ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ 8,295 ล้านบาท
โดยภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนคงค้างลง 13,142 ล้านบาท แต่ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจริงสูงกว่าการคาดการณ์ ทำให้สามารถลดต้นทุนคงค้างจริงได้เพียง 4,847 ล้านบาท ซึ่งภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเอฟทีต่อไปจนกว่าจะหมดภาระ
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากงวดก่อนหน้า 1.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวด พ.ค. - ส.ค. 68) เป็น 32.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยตามราคาในตลาดโลกมาอยู่ที่ 13.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 26/2568 (ครั้งที่ 968) เมื่อวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้
  • กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 131.94 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.10 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
  • กรณีที่ 2: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) เมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.87 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซ ธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 22.85 สตางค์ต่อหน่วย)
  • กรณีที่ 3: กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ทำให้เมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 3.98 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปัจจุบัน
โดย กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17 - 28 กรกฎาคม 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
รอบนี้ถือว่าเป็นรอบที่เรามีข่าวดีในหลายๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องของเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มถูกลง โดยเฉพาะสปอต LNG ที่ลดเหลือประมาณ 13 เหรียญ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ช่วยลดต้นทุนการนำเข้า และยังมีพลังงานน้ำจากลาวที่ต้นทุนต่ำ ทำให้เราสามารถตรึงค่าไฟได้ในระดับที่เหมาะสม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีโอกาสที่ค่าไฟในงวดถัดไปจะลดลงกว่านี้หรือไม่ ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า ต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคา LNG ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าอย่างน้อย 36% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด หากราคาตลาดโลกทรงตัวในระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้าน BTU และไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะลดลง
ขณะที่แนวโน้มการใช้ไฟช่วงปลายปี คาดว่าจะลดลงจากอุณหภูมิที่เย็นลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟในประเทศไทยลดลงตามไปด้วย แต่ประเทศในเขตเมืองหนาวอาจมีการใช้แก๊สเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังต้องจับตาต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า
สำหรับแนวนโยบายค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างราคาอัตราค่าไฟให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและต้นทุนพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทั้งหมดจะต้องนำเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา