Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
19 ก.ค. เวลา 03:00 • อสังหาริมทรัพย์
สนามบินอู่ตะเภา-ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ยื้อยาว ลุ้นปิดจ๊อบรัฐบาลอิ๊งค์
2 บิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี ยังเคลียร์ไม่จบ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เจรจาปรับสัญญาลดสเกลการลงทุนเฟส 1 ยังไม่ได้ข้อสรุป หลัง UTA เสนอขอลดการรองรับผู้โดยสารเหลือ 3 ล้านคน ภายใต้เงื่อนไขให้สร้างไปก่อนไม่ต้องรอรถไฟความเร็วสูง ขณะที่ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ยังไม่เข้าบอร์ดรฟท.เผยอัยการสูงสุดยังตรวจสอบร่างแก้ไขสัญญาไม่เสร็จ แต่ยันจะเร่งปิดจ๊อบทันรัฐบาลอิ๊งค์1/2
■
สนามบินอู่ตะเภา-ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ ยื้อยาว
ความล่าช้าในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ทำให้จนถึงวันนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ยังไม่สามารถออก Notice to Proceed หรือ NTP ซึ่งเป็นเอกสารที่จะออกให้แก่ผู้รับเหมา เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอย่างเป็นทางการให้กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) ได้ แม้จะผ่านมา 5 ปีแล้ว
ขณะนี้แม้ UTA ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานในโครงการนี้ จะออกมาประกาศแล้วว่า จะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่การเจรจาระหว่าง UTA และอีอีซี ภายใต้เงื่อนไขให้ก่อสร้างไปก่อน โดยที่ยังไม่มีไฮสปีดเทรน 3 สนามบินก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ที่ผ่านมามีการเลื่อนออก NTP มาเป็นระยะ จากเดิมวางไว้ว่าจะเป็นวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา จนล่าสุดวางไว้เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2568 ก็ยังไม่สามารถออก NTP ได้ ต้องขยายกำหนดออกไปอีก ทั้งๆตามสัญญากำหนดไว้ว่าหลังลงนามสัญญาจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 5 ปี
■
สนามบินอู่ตะเภา เจรจาปรับสัญญาลดสเกลการลงทุนเฟส 1 เหลือ 3 ล้านคน ยังไม่ได้ข้อสรุป
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีซีซี กล่าวว่า การเจรจากับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานฯ ในเงื่อนไขให้ก่อสร้างไปก่อน บนสมมุติฐานที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงยังไม่จบ เนื่องจากติดปัญหาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน) เบื้องต้นอีอีซีอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน เพื่อปรับสัญญา โดยให้ UTA สามารถเดินหน้าลงทุนต่อได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไขสัญญาสัมปทาน
เนื่องจากสัญญานี้สามารถแก้ไขข้อความในสัญญาเพิ่มเติมได้ โดยสิทธิประโยชน์ในการลงทุนโครงการฯยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ก่อนหน้านี้มีการเจรจาปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จาก 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ แล้ว แต่เมื่อยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง UTA จึงมีการเสนอที่จะปรับแผนการลงทุนในระยะที่ 1 ลงเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบัน เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ในเฟส 1 ที่เจรจากำหนดที่ 6 -8 ล้านคน ก็อาจจะเริ่มต้นที่ 3 ล้านคนก่อน
ซึ่งจะทำให้ค่าบำรุงรักษาลดลงด้วย แล้วค่อยพัฒนาให้เต็มเฟสเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามา และเมื่อมีผู้โดยสารใช้บริการถึงระดับ 80% ของขีดความสามารถระยะแรก หรือมีจำนวน 2.4 ล้านคน จึงดำเนินการพัฒนาในระยะที่ 2 และเฟสต่อๆไป จนรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนตามเป้าหมาย
ทั้งนี้เป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพราะหากไม่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผู้โดยสารก็จะไม่เป็นไปตามคาดหมาย ขณะที่การพัฒนาสนามบิน กรณีทำเล็กเกินไป ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจจะไม่ดึงดูดให้สายการบินและผู้โดยสารมาใช้บริการได้เช่นกัน จึงต้องคิดในหลายๆ มุม ซึ่งการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ในส่วนของเอกชน มีการลงทุนหลายส่วน ไม่ใช่แค่อาคารผู้โดยสาร แต่ยังมีเมืองการบิน ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีก เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศอีกแห่งของกรุงเทพอีกด้วย
■
ให้สิทธิประโยชน์หนุนเมืองการบินอู่ตะเภา
ขณะที่แผนพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา สกพอ.ได้เตรียมจัดสรรสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่ให้กับ UTA รวมไปถึงผู้ประกอบการรายกิจการที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการในพื้นที่เมืองการบิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอากร โดย สกพอ.กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นรับการพิจารณาสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และสิทธิได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เกิน 50% ของอัตราปกติสูงสุด 10 ปี
นอกจากนี้ยังได้สิทธิในการยกเว้น/ลดหย่อนจากการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตประกอบการเสรี รวมทั้งถึงสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร และสิทธิในการได้รับ Work Permit เป็นต้น
“สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและส่งเสริมการลงทุนนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังออกกฎหมายเพื่อให้อีอีซีสามารถดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้ แต่เบื้องต้นทาง UTA สามารถไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนด้วยเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เหล่านี้ และมายื่นเพื่อเตรียมขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ ซึ่งอีอีซีจะพิจารณาเป็นแพ็คเกจภาพรวมในเมืองการบิน พร้อมทั้งพิจารณาเป็นรายกิจการที่อาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม”
นายจุฬา กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 หรือรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือ (ทร.) ได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 หรือ รันเวย์ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญากับผู้รับจ้างก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างภายในเดือนกรกฏาคมนี้
■
หารือการบินไทย-บางกอกแอร์ ชวนลงทุน MRO อู่ตะเภา
สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่เปิดให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงทุน(PPP)ในโครงการนี้ เนื่องจากพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ MRO ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ ปรับมาเป็นเปิดให้เช่าพื้นที่ 210 ไร่ เป็นเวลา 50 ปี เพื่อลงทุนแทน
เบื้องต้นอีอีซีจะนำที่ดินในโครงการดังกล่าวประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ขณะเดียวกันอีอีซีได้หารือร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA จะเชิญมาลงทุนด้วย ซึ่งให้สิทธินักลงทุนในไทยก่อน
โดยจากการที่หารือร่วมกับการบินไทยพบว่าทางเอกชนมีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO อู่ตะเภา ซึ่งมีการเตรียมเงินลงทุนไว้แล้ว ซึ่งการเดินหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO อู่ตะเภา ถือเป็นโครงการที่จะสร้างรายได้ให้แก่ภาคการบิน
“ผมมั่นใจว่าทำได้จริง เพราะการยกเลิกมติครม.เดิมถือเป็นการปลดล็อคให้การบินไทย เพราะรันเวย์มาแน่ๆ รวมถึงอาคารผู้โดยสารของ UTA คาดว่าจะได้เห็นการก่อสร้างภายในปีนี้ ซึ่งตามสัญญากำหนดไว้ว่าหลังลงนามสัญญาจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 5 ปี เราพยายามผลักดันให้ศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO อู่ตะเภาเดินหน้าไปพร้อมกัน เพราะทั้ง 3 โครงการจะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดภาคการบิน” นายจุฬา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยมีความพร้อมในการลงทุนศูนย์ซ่อม (Maintenance, Repair and Operating : MRO) และเป็นแผนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่มีการเพิ่มทุนด้วย เบื้องต้นมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยร่วมกับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งการบินไทยมีการศึกษาเดิมอยู่บางส่วนแล้ว ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture : JV)
โดยการบินไทยจะเป็นฝ่ายถือหุ้นใหญ่ ส่วนสัดส่วนที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา ซึ่งการบินไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่เราจึงต้องหาพันธมิตร และที่สำคัญการบินไทยมีฝูงบินจำนวนมาก เฉพาะของการบินไทยคาดว่าปี 2576 เราจะมีฝูงบิน 150 ลำ หากรวมกับบางกอกแอร์เวย์ส จะมีเกือบ 200 ลำ ที่เป็นลูกค้า MRO ในช่วงเริ่มต้น ส่วนพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึงจากต่างประเทศยังอยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มเติม เพราะโครงการนี้มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอากาศยานในหลายกิจกรรม
■
ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ลุ้นเร่งปิดจ๊อบทันรัฐบาลอิ๊งค์
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม3สนามบิน ( ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง220 กิโลเมตร วงเงิน224,544 ล้านบาท หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพีคู่สัญญา
ปัจจุบันผ่านมา 3 รัฐบาล ยังมีความล่าช้า อย่างไรก็ตามฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ โครงการ เดินหน้าก่อสร้างทันภายในปลายปี2568นี้ และเปิดให้บริการปี2572 หลังจากร่างแก้ไขร่างสัญญาได้ข้อยุติ มีเป้าหมายนำไปสู่การลงนามในสัญญาครั้งใหม่กับเอกชนคู่สัญญา แต่ทั้งนี้ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ท่ามกลางความเปราะบางของรัฐบาล แพทองธาร 1/2 ว่าจะมีอุบัติเหตุให้ยุบสภาในปลายปีนี้หรือไม่
ย้อนไปก่อนหน้านี้ โครงการไฮสปีด เชื่อม3สนามบินเช็นสัญญา ประวัติศาสตร์ เมื่อ24 ตุลาคม 2562 ในสมัยรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้เวลา2ปี เพื่อรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง โดยมีกำหนดลงมือก่อสร้างในปี2564 เพื่อแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี2569 แต่โครงการ แทบสะดุดลงเนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ครั้งรุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสภาพคล่องทางการเงินลุกลามทั่วโลกรวมถึง เอกชนคู่สัญญา รัฐบาลในสมัยนั้นได้แก้ไขสัญญาตามข้อเสนอของเอกชน เพื่อผ่อนคลายให้โครงการเดินต่อได้
ไม่ว่าจะเป็น การผ่อนปรนการผ่อนชำระค่างวดบริหารสิทธิโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไฮสปีดเชื่อม3สนามบินกับ โครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ โดยให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน เป็นฝ่ายก่อสร้างแทนรฟท. รวมถึงการ “สร้างไปจ่ายไป” หรือรัฐเบิกจ่ายเงินค่างวดระหว่างก่อสร้าง จากเดิมโครงการต้องแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ เอกชนจึงจะได้รับการเบิกจ่าย ค่าลงทุนโครงการ
1
อย่างไรก็ตาม ตามไทม์ไลน์ โครงการไฮสปีดเชื่อม3 สนามบิน จะเข้าสู่การพิจารณา ในการประชุมคณะคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. นัดนี้ (วันที่17กรกฎาคม2568) แต่ มีรายงานจากรฟท.ว่ายังไม่นำโครงการเข้าสู่การพิจารณาเนื่องจาก อัยการสุงสุดยังตรวจร่างสัญญาไม่แล้วเสร็จ
ต่อเรื่องนี้นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ยังไม่มีการเสนอวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างแก้ไขสัญญาฯ หากมีความคิดเห็นที่ต้องแก้ไขในร่างสัญญาฯเพิ่มเติมจะต้องนำมาเสนอที่บอร์ดรฟท.รับทราบด้วย
ทั้งนี้คาดว่าอัยการสูงสุดจะส่งกลับมาที่รฟท. ภายในเดือนนี้ หากไม่มีการแก้ไขรายละเอียดร่างสัญญาฯ จะเสนอต่อคณะกรรมการกพอ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ พร้อมลงนามแก้ไขสัญญาฯภายในเดือนสิงหาคมและจะเริ่มออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป ตามแผนจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572
“ขณะนี้พบว่าการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานมีความล่าช้ามากแล้ว จากเดิมที่มีการลงนามสัญญาในเดือนตุลาคม2564 ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ” นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย