20 ก.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตีแตก 3 ธีมหุ้นไทย DEEP VALUE | GROWTH STOCK | DOMESTIC SUPERPOWER มีหุ้นอะไรบ้าง ?

“ตีแตกหุ้นไทย ON STAGE” SESSION สุดท้าย Stock Highlights วิเคราะห์หุ้นใน 3 ธีม
-Thai Deep Value กลุ่มบริษัทมูลค่าระดับต่ำ แต่ยังคงแข็งแกร่ง
-Growth Stock Comeback กลุ่มหุ้นเติบโตที่มีโอกาสกลับมาโตต่อได้
-Domestic Superpower หุ้นผู้ชนะในประเทศ
ท่านแรกคือ คุณปุ๋ย-จิตรา อมรธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
คุณปุ๋ยมองภาพรวมตลาดหุ้นไทย ปัญหาปัจจุบันเป็นเรื่องการเมืองและภาษีนำเข้าสหรัฐ ซึ่งในวันที่ตลาดหุ้นลงที่สุดคือ วันที่ทรัมป์ประกาศภาษีนำเข้าจากไทย 36% SET ลงไปถึง 1,056 จุด
แต่ถ้าเรามองว่าภาษีนำเข้า เราจะเจรจาได้ที่ 20%
EPS หรือกำไรตลาด อาจกลับไปที่ 87 - 88 บาท
โอกาสที่ดัชนีจะกลับไปที่ 1,200 - 1,300 จุด ก็เป็นไปได้
ในขณะที่ Valuation หุ้นไทยยังมองว่า “ไม่แพง” เมื่อเทียบกับตลาดอื่น และการเติบโตของกำไรปี 2026 กลุ่มที่กำไรเติบโตโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มก่อสร้าง สื่อสาร และปิโตรเคมี
โดยคุณปุ๋ยเลือกหุ้น CPN และ KTC สำหรับธีม Thai Deep Value และได้ให้เหตุผล สรุปไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN
- รายได้จากการให้เช่าพื้นที่เติบโตต่อเนื่อง คาดการณ์เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2025 ถึง 2027
- บริษัทมีแผนลงทุน 120,000 ล้านบาทใน 5 ปีในธุรกิจห้างในประเทศ และที่อยู่อาศัย
- โปรเจกต์เด่น คือ Dusit Central Park มูลค่าโครงการ 46,000 ล้านบาท
- Valuation ปัจจุบัน ซื้อขายต่ำกว่า P/E และ P/BV ย้อนหลัง
2. บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC
- ราคาหุ้นถูกเทจากกรณีผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดน FORCED SELL แต่พื้นฐานบริษัทยังไม่เปลี่ยน
- Loan Portfolio สัดส่วนสูงสุดเป็นบัตรเครดิต สัดส่วนราว 2 ใน 3
- NPL อยู่ในระดับต่ำ อยู่ที่ 2% เทียบกับอุตสาหกรรม 3%
- หนี้สูญ (Write-off) เพิ่มขึ้นแต่มีรายได้จากการติดตามหนี้สูงเช่นกัน แปลว่าตามเก็บหนี้เก่ง
ในขณะที่ธีม Growth Stocks Comeback หรือหุ้นเติบโต คุณปุ๋ยเลือก 2 บริษัท คือ
1. บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M
- Same-Store-Sales Growth กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง +15% ในเดือนมิ.ย. 2025
- อัตรากำไรสุทธิ มีแนวโน้มฟื้นตัวจาก 6% ไปสู่ 9% ในปีหน้า
- Valuation P/E และ P/BV ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง
- โบนัสสุกี้ เป็น Fighting Brand ที่สร้างความกลัวให้คู่แข่งได้เหมือนกัน และแม้ว่าปัจจุบัน ยังไม่เห็นแผนธุรกิจของโบนัสสุกี้ชัดเท่าไร แต่เชื่อว่าจากประสบการณ์หลายสิบปีของบริษัท น่าจะชนะคู่แข่งได้
2. บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH
- รายได้จากผู้ป่วยประกันสุขภาพเอกชน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 13% ในปี 2021 คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 26% ในปี 2026
- ไตรมาส 2 เป็นต้นไป มีแนวโน้มรายได้เติบโตขึ้น เพราะคนไข้ต่างชาติมามากขึ้นและยังมีโรงพยาบาลที่ต่างประเทศ
- ขยายโรงพยาบาล มีโครงการใหม่ 2 แห่งใน Pipeline
- Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทในอดีตมาก
ท่านต่อมาเป็น คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, กรรมการบริหาร, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด
เล่าถึงไฮไลต์ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ สรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
- กำไรไตรมาสแรกของตลาดหุ้นไทยเติบโต 79.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และ 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- กำไรทั้งตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความผันผวนและแนวโน้มทรงตัว
- 4 ปีหลังสุด แต่ละปีมีหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียง 100 - 200 บริษัท จาก 800 บริษัท
- สภาพคล่องลดลงต่อเนื่อง สะท้อนนักลงทุนลดกิจกรรม
- นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 8 ใน 10 ปี และสัดส่วน Robot Trade เพิ่มขึ้น
- เม็ดเงินไทยไหลออกไปลงทุนต่างประเทศผ่าน FCD สูงขึ้น
- เงินเข้าตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น ทำให้เงินเข้ามาในตลาดหุ้นไม่พอเกิด Stock Rotation
ซึ่ง 5 จุดเด่นหลัก ๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจในช่วงนี้ก็คือ
1.มูลค่าบริษัททั้งตลาดหุ้นไทย ต่อ GDP ประเทศไทย ต่ำกว่า 1 เท่า สะท้อน Valuation ที่ถูก
2.หุ้นใน SET มี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ถึง 467 บริษัท
3.โอกาสที่เราจะเจอ PBV ต่ำกว่า 1.1 เท่า ตามสถิติ น้อยมากในรอบ 25 ปี
4.บริษัทที่มีมูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ ซึ่งวัดจากสินทรัพย์หมุนเวียน หักออกด้วยหนี้สิน > 0 มีมากถึง 28 บริษัทในดัชนี SET100
5.SET Index มีอัตราปันผลเฉลี่ย 4.3% ต่อปี และหุ้นกว่า 272 ตัวมี Dividend Yield > 5% ต่อปี
และนี่คือรายชื่อหุ้นเด่นแนว Deep Value ที่คุณเทิดศักดิ์แนะนำ
- บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI
จ่ายปันผลสม่ำเสมอ ปีละ 2 ครั้ง ยอดจองหนาแน่น และ P/E ต่ำ เพียง 5 เท่า
- บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC
ธุรกิจพลังงานและบรรจุภัณฑ์เติบโต และ P/BV ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
- บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL
P/BV ต่ำสุดในกลุ่มธนาคารใหญ่อยู่ที่ 0.47 เท่า มีอัตราปันผลสูง และยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก
ในขณะที่อีกธีม ที่คุณเทิดศักดิ์ เลือกก็คือ Domestic Superpower เริ่มกันที่
- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
สาขาของ 7-Eleven ยังคงเปิด 170 - 180 ต่อไตรมาส บริษัทได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จากมาตรการไทยเที่ยวไทยคนละครึ่ง เรื่องนี้จะช่วยหนุนยอดขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว และมองว่าในไตรมาสถัดไป ยอดขายสาขาเดิมจะเติบโตได้โดดเด่น
- บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
พื้นฐานธุรกิจยังคงมั่นคง บริษัทได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงการรัฐจำนวนมาก มี Backlog อยู่ราว 2 แสนล้านบาท
- บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
บริษัทยังคงเติบโตได้ในธุรกิจพลังงาน และมองว่าธุรกิจ Data Center จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ช่วยให้เติบโตได้ในระยะยาว
- บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS
เติบโตจากฐานลูกค้าต่างชาติ เช่น ตะวันออกกลาง ที่ใช้บริการตรวจสุขภาพในไทย และมูลค่าบริษัท ณ ปัจจุบัน ยังต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินเอาไว้
มาต่อกันที่ท่านสุดท้าย คุณสุวัฒน์ สินสาฎก, กรรมการผู้จัดการ, บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เล่าว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะขึ้นไปได้บ้าง แต่จะมาจากการมองแบบ Bottom Up หรือการหาหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยลงมาจาก 1,700 มาอยู่ที่ราว 1,000 จุด ซึ่งไล่สาเหตุตามไทม์ไลน์หลัก ๆ ก็จะมาจาก
- สงครามยูเครน - รัสเซีย
- ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศทั่วโลกไหลเข้าสหรัฐ
- การทุจริตฉ้อโกง เสียหายกว่าแสนล้าน ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาด
- การเลือกตั้งในไทย ปี 2023
- การเปิดศักราช AI โลก
และล่าสุดในปี 2025 ดัชนี SET ปรับตัวลดลงกว่า 300 จุดภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน โดยมีปัจจัยกดดันหลักจาก
-การบังคับใช้ Global Minimum Tax
-ความกังวลเกี่ยวกับ Liberation Day
-ผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น..
และนี่คือ 5 หุ้นที่น่าสนใจในมุมมองของคุณสุวัฒน์ ในช่วงเวลานี้
1. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC
- กลุ่มซีเมนต์ไม่ต้องโฟกัสเลยเพราะสินค้าล้นตลาดมาหลายปี
แต่อีกมุมหนึ่งคือกลุ่มธุรกิจนี้อิ่มตัวมานาน และไม่น่าจะแย่ไปมากกว่านี้
- กลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มปิโตรเคมี และ กลุ่มปูนกระดาษ (Packaging)
- บริษัทฟื้นตัวหลังเผชิญวิกฤติ มีโครงการ LSP Ethane ต้นทุนต่ำ ปรับใช้ได้หลากหลาย และมีระยะเวลาคืนทุนไม่นาน โดยคาดว่าโครงการ LSP จะเริ่มผลิตได้ ภายในปลายปี 2027
- จุดเด่น คือ ต้นทุน Feedstock ต่ำ ความยืดหยุ่นของ Feedstock สูง และเป็น Game Changer สำคัญของบริษัท
2. บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
- อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ฟื้นตัวจากการบริหารต้นทุนได้ดี
- ประเทศอินโดนีเซีย มีบทบาทมากขึ้น โดยบริษัท Fajar เป็นผู้เล่นสำคัญ
- CAPEX หรือเงินลงทุนของบริษัท ปี 2025 - 2030 มุ่งเน้นลงทุนเพื่อเติบโต
- มีการกระจายความเสี่ยงจากตลาดสหรัฐ
3. บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG
- อยู่ในตลาดที่ตอนนี้กำลังเติบโต
- มุ่งเน้นตลาดระดับกลาง (Mid-tier market) ทั้งในและต่างประเทศ
- IMC (International Medical Center) มีสัดส่วนลูกค้าจากตะวันออกกลางถึง 50%
- มีแผนขยายเตียง จาก 900 เป็น 1,700 เตียงในช่วงปี 2025-2029
- รายได้จากประกันสังคม มีสัดส่วนสูงและเติบโตต่อเนื่อง
4. บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA
- ไม่ได้เก่งเรื่องสร้างชิป แต่เก่งในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนสำคัญใน AI Server
- ขายชิ้นส่วน Power Supply ที่ซับซ้อน ไม่ได้ผูกขาด แต่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
- รายได้ส่วนใหญ่จาก Power Electronics และ Infrastructure
- มีโรงงานกระจายอยู่ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน และไทย
- แนวโน้มอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีความเชื่อมโยงกับการเติบโตของ AI
5. บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG
- รายได้จากกลุ่มธุรกิจนอกสถานีเพิ่มขึ้น เช่น Punthai Coffee
- เน้นขยายเอง ไม่เน้น Franchise
- กำไรขั้นต้นหลักยังมาจากธุรกิจน้ำมันราว 67% แต่ธุรกิจอื่นเริ่มมีบทบาทมากขึ้น
- สัดส่วนการถือครองตลาดน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- PT Max Card ช่วยสร้าง Loyalty base เป็น MOAT ที่แข็งแกร่งในการดึงลูกค้าเก่า
สุดท้ายนี้ คุณสุวัฒน์มองว่าควรน้ำหนักกับ “Story” มากกว่า “Valuation” ในการเลือกหุ้น โดยมองหาหุ้นที่เติบโตไปกับเมกะเทรนด์ของโลก เช่น AI
และนี่ก็เป็นสรุปไฮไลต์สำคัญ ๆ จากมุมมองของทั้ง 3 หลักทรัพย์จากงานเสวนา “ตีแตกหุ้นไทย ON STAGE”
แล้วอิเวนต์ถัดไปของเรา จะเป็นงานอะไร
ติดตามได้ที่หน้าเพจ ลงทุนแมน เร็ว ๆ นี้..
#ตีแตกหุ้นไทยonstage
โฆษณา