เมื่อวาน เวลา 01:21 • ธุรกิจ

UTA เจรจาอีอีซีปรับสัญญาลดสเกลลงทุนขยายสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1 เหลือ 3 ล้านคน

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เจรจาปรับสัญญาลดสเกลการลงทุนเฟส 1 ยังไม่ได้ข้อสรุป UTA เสนอขอลดการรองรับผู้โดยสารเหลือ 3 ล้านคน ภายใต้เงื่อนไขให้สร้างไปก่อนไม่ต้องรอรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ความล่าช้าในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด(ซี.พี.) ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทำให้จนถึงวันนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็ยังไม่สามารถออก Notice to Proceed หรือ NTP ซึ่งเป็นเอกสารที่จะออกให้แก่ผู้รับเหมา เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอย่างเป็นทางการให้กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA)ได้ แม้จะผ่านมา 5 ปีแล้ว
ขณะนี้แม้ UTA ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานในโครงการนี้ จะออกมาประกาศแล้วว่า จะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่การเจรจาระหว่าง UTA และอีอีซี ภายใต้เงื่อนไขให้ก่อสร้างไปก่อน โดยที่ยังไม่มีไฮสปีดเทรน 3 สนามบินก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ที่ผ่านมามีการเลื่อนออก NTP มาเป็นระยะ จากเดิมวางไว้ว่าจะเป็นวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา จนล่าสุดวางไว้เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2568 ก็ยังไม่สามารถออก NTP ได้ ต้องขยายกำหนดออกไปอีก ทั้งๆตามสัญญากำหนดไว้ว่าหลังลงนามสัญญาจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 5 ปี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีซีซี กล่าวว่า การเจรจากับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานฯ ในเงื่อนไขให้ก่อสร้างไปก่อน บนสมมุติฐานที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงยังไม่จบ เนื่องจากติดปัญหาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน)
เบื้องต้นอีอีซีอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน เพื่อปรับสัญญา โดยให้ UTA สามารถเดินหน้าลงทุนต่อได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไขสัญญาสัมปทาน เนื่องจากสัญญานี้สามารถแก้ไขข้อความในสัญญาเพิ่มเติมได้ โดยสิทธิประโยชน์ในการลงทุนโครงการฯยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ก่อนหน้านี้มีการเจรจาปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จาก 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ แล้ว แต่เมื่อยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง UTA จึงมีการเสนอที่จะปรับแผนการลงทุนในระยะที่ 1 ลงเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบัน เช่น
การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ในเฟส 1 ที่เจรจากำหนดที่ 6 ล้านคน ก็อาจจะเริ่มต้นที่ 3 ล้านคนก่อน ซึ่งจะทำให้ค่าบำรุงรักษาลดลงด้วย แล้วค่อยพัฒนาให้เต็มเฟสเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามา และเมื่อมีผู้โดยสารใช้บริการถึงระดับ 80% ของขีดความสามารถระยะแรก หรือมีจำนวน 2.4 ล้านคน จึงดำเนินการพัฒนาในระยะที่ 2 และเฟสต่อๆไป จนรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนตามเป้าหมาย
ทั้งนี้เป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพราะหากไม่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผู้โดยสารก็จะไม่เป็นไปตามคาดหมาย ขณะที่การพัฒนาสนามบิน กรณีทำเล็กเกินไป ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจจะไม่ดึงดูดให้สายการบินและผู้โดยสารมาใช้บริการได้เช่นกัน จึงต้องคิดในหลายๆ มุม ซึ่งการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ในส่วนของเอกชน มีการลงทุนหลายส่วน ไม่ใช่แค่อาคารผู้โดยสาร แต่ยังมีเมืองการบิน ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีก เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศอีกแห่งของกรุงเทพอีกด้วย
ขณะที่แผนพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา สกพอ.ได้เตรียมจัดสรรสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่ให้กับ UTA รวมไปถึงผู้ประกอบการรายกิจการที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการในพื้นที่เมืองการบิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอากร โดย สกพอ.กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นรับการพิจารณาสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และสิทธิได้รับลดหย่อยภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เกิน 50% ของอัตราปกติสูงสุด 10 ปี
นอกจากนี้ยังได้สิทธิในการยกเว้น/ลดหย่อนจากการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตประกอบการเสรี รวมทั้งถึงสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร และสิทธิในการได้รับ Work Permit เป็นต้น
“สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและส่งเสริมการลงทุนนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังออกกฎหมายเพื่อให้อีอีซีสามารถดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้ แต่เบื้องต้นทาง UTA สามารถไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนด้วยเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เหล่านี้ และมายื่นเพื่อเตรียมขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ ซึ่งอีอีซีจะพิจารณาเป็นแพ็คเกจภาพรวมในเมืองการบิน พร้อมทั้งพิจารณาเป็นรายกิจการที่อาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม”
นายจุฬา กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 หรือรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือ (ทร.) ได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 หรือ รันเวย์ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญากับผู้รับจ้างก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างภายในเดือนกรกฏาคมนี้
ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ล่าสุด UTA เสนอไปยังอีอีซี ที่จะขอลดสเกลการลงทุนในเฟส 1 อยู่ที่ 3 ล้านคน เนื่องจากโครงการตอนนี้ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินเชื่อมเข้ามา การลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มเฟส ผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งไม่สอดรับการขยายตัวของผู้โดยสารที่ทำไว้แต่แรก
ดังนั้นเราจึงต้องปรับการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อรอผู้โดยสารให้ปรับตัวขึ้น โดยในเฟสแรกเรามองการลงทุนรับผู้โดยสารที่ 3 ล้านคนก่อน ซึ่งทางอีอีซีก็รับทราบแล้ว โดยเราคาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้าและจะทยอยก่อสร้างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนสุดท้ายที่จะทำให้สนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนภายใน 50 ปี รวมทั้งภายในสนามบินก็จะมีการสร้างอุโมงค์เพื่อรอรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในสนามบินตามแผนด้วย
โฆษณา