15 ม.ค. 2019 เวลา 05:24 • การศึกษา
Ray Kurzweil นักประดิษฐ์ AI ผู้หยั่งรู้อนาคต
…ในสหรัฐอเมริกา มันจะมีคำเรียกเหล่าผู้พยายามทำนายสภาพสังคมในอนาคตด้วยการคาดเดาผ่านข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ (คือไม่ได้ใช้โหราศาสตร์ หรือศาสตร์ลึกลับใดๆ) ว่า “นักอนาคตวิทยา” (Futurist) คนพวกนี้หลายๆ คนก็เขียนหนังสือยอดนิยมขายดีถล่มทลายกันมานักต่อนักแม้ว่าจะเดาอนาคตผิดบ้างถูกบ้าง มีน้อยคนนักที่จะเดาถูกไปเสียเกือบหมด และก็แทบจะไม่มีเลยที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่ตนทำนายเอาไว้
...Ray Kurzweil คือข้อยกเว้นที่สำคัญมาก และการที่ทาง Google ให้เขามาเป็นหัวหน้าคุมโครงการเกี่ยวกับ AI ดูจะเป็นความสำเร็จที่เล็กน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิต
ในวัยเด็ก
Kurzweil เกิดและโตมาในกรุงนิวยอร์ก พ่อแม่ของเขาเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากออสเตรียก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้นมา พ่อของเขาเป็นนักดนตรีและนักประพันธ์เพลง ส่วนแม่ของเขาเป็นนักวาดภาพ ซึ่งอิทธิพลของหน้าที่การงานของครอบครัวเขาก็น่าจะส่งผลไม่น้อย แต่ Kurzweil ในภายหลัง เขาใช้วัยเด็กในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยที่เขาก็รำลึกว่าเขาอยากเป็นนักประดิษฐ์มาตั้งแต่ตอนอายุ 5 ขวบแล้ว เขาก็ใช้ชีวิตวัยเด็กในการเก็บโน่นนี่มาประดิษฐ์สิ่งต่างๆ พร้อมเป็นแฟนตัวยงของนิยายวิทยาศาสตร์ และเขาก็น่าจะมีจินตนาการถึงโลกอนาคตที่อ่านออกไปตั้งแต่ตอนนั้น
1
Kurzweil สนใจในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่อายุ 12 ปี ซึ่งในยุคนั้นทั้งนิวยอร์คมีคอมพิวเตอร์อยู่เพียง 12 เครื่อง และเขาก็ได้รับการสนับสนุนและปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากลุงของเขาที่ทำงานอยู่ที่ห้องแล็บชื่อดังอย่าง Bell Labs แล้ว
ในปี 1963 ตอน Kurzweil อายุ 15 ปีเขาก็เขียนโปรแกรมโปรแกรมแรกของเขาสำเร็จ มันเป็นโปรแกรมที่ใช้หาแพตเทิร์นในเพลงคลาสสิคเพื่อจะนำแพตเทิร์นเหล่านั้นมาสร้างเป็นเพลงใหม่ขึ้น และนี่ก็น่าจะเป็นอิทธิพลมาจากพ่อเขาที่เป็นนักประพันธุ์เพลง แต่ Kurzweil ก็นำวิทยาการล่าสุดมาผสมผสาน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ Kurzweil ทำมาตลอดชีวิต ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาที่มนุษย์มีมาช้านานด้วยวิทยาการล่าสุด
Ray Kurzweil ในยุคปัจจุบัน
แน่นอนว่าโปรแกรมแรกที่เขาเขียนมันเป็นสิ่งที่ล้ำหน้าเกินยุคนั้นมาก ผลคือเขาก็ได้กวาดรางวัลด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติสารพัดมาได้เพียบ แต่ความสำเร็จตั้งแต่ยังเล็กก็ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกการเรียนหนังสือดังเช่นผู้ยิ่งใหญ่สายคอมพิวเตอร์จำนวนมากในยุคหลัง เพราะหลังจากจบมัธยม เขาก็มาเรียนปริญญาตรีต่อที่ MIT ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวรรณกรรม และเรียนจบในที่สุดในปี 1970
2
อาชีพนักประดิษฐ์ AI
แม้จะเรียนจบ Kurtweil ก็ไม่ได้ต่างจากผู้ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยุคนี้ เพราะระหว่างเรียนปริญญาตรีปี 2 เขาก็พัฒนาโปรแกรมเพื่อที่จะหามหาวิทยาที่เหมาะสมกับเด็กมัธยมที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปเรียนที่ไหนดีขึ้นมาภายใต้บริษัทของเขาเอง อย่างไรก็ดี สุดท้ายเขาก็ขายโปรแกรมบริษัทไปพร้อมรับเงินที่คิดเป็นมูลค่าเงินปัจจุบันก็ราวๆ 700,000 เหรียญสหรัฐ
ในปี 1974 เขาก็ได้ตั้งบริษัท Kurzweil Computer Product ของตัวเองขึ้นและโปรแกรมแรกที่เขาพยายามจะพัฒนาก็คือ โปรแกรมเพื่ออ่านหนังสือออกเสียงให้กับคนตาบอด Kurzweil ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์ ดังนั้นตอนแรกเขาก็ติดขัดว่าโปรแกรมของเขาจะทำงานกับเครื่องอะไรดี แต่ก็เป็นโชคดีของเขาที่ตอนนั้นเทคโนโลยีการแสกน และเทคโนโลยีการสังเคราะห์เสียงพูดออกมาจากตัวหนังสือก็เกิดขึ้นพอดี โปรแกรมของเขาสุดท้ายจึงสำเร็จด้วยดี และ Kurzweil Reading Machine ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อเป็นเครื่องอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอกจึงถือกำเนิดขึ้น ทั้งนี้โปรแกรมที่ Kurzweil เขียนขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่นแรกของเทคโนโลยีที่ทุกวันนี้เรียกว่า OCR หรือ Optical Object Recognition
Kurzweil ในวัย 27 ปีเมื่อปี 1977 กับ Kurzweil Reading Machine เพื่อเล่นเปียโนเพลงที่ประพันธ์มาโดยคอมพิวเตอร์ให้ผู้ชมในห้องส่งชมกันสดๆ
…เครื่องอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอดเปิดตัวอย่างสวยงามโดยมีประธานสมาพันธ์คนตาบอดมาร่วมเปิดตัวด้วย แต่ศักยภาพของเทคโนโลยีก็ยังไม่จบแค่นั้น
ต่อมาในปี 1978 Kurzweil Computer Product ก็พัฒนาโปรแกรม “อ่านตัวหนังสือ” ในเชิงพาณิชย์ออกขาย ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่ออ่านหนังสือให้คนตาบอดฟังเท่านั้น แต่มันสามารถถูกนำไปใช้ในกระบวนการแปลงเอกสารกระดาษเป็นไฟล์เอกสารที่คอมพิวเตอร์อ่านได้อีกด้วย และไม่นานนัก Kurzweil ก็ขายบริษัทเขาไปอีก ให้บริษัทเบลเยี่ยม Lernout & Hauspie และเขาก็นั่งเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทที่เขาขายไปแล้วมายาวนานมาถึงปี 1995
เมื่อไม่มีบริษัทต้องให้บริหาร Kurzweil ก็เริ่มโปรเจคใหม่ได้แล้ว
ในปี 1982 Kurzweil ก็ได้พบกับนักดนตรีตาบอดชื่อดัง Stevie Wonders ทาง Wonders บ่นให้ Kurzweil ฟังว่าเสียงเครื่องดนตรีสังเคราะห์ในยุคนั้นมันแย่กว่าเสียงเครื่องดนตรีจริงๆ เหลือเกิน ตัว Kurtweil ก็เลยได้ไอเดียโปรเจคใหม่ และในปีเดียวกัน เขากับ Wonders ก็ได้ตั้ง Kurzweil Music Systems ขึ้นเพื่อจะสร้างเครื่องสังเคราะห์เสียงดนตรีแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมขึ้นมา
2
สองปีต่อมาในปี 1984 เครื่องดนตรีบอร์ดใหม่นามว่า Kurzweil K250 ก็ถือกำเนิดขึ้น และด้วยเครื่องนี้เอง คุณภาพเสียงสังเคราะห์ของแกรนด์เปียโนจากเครื่องก็ดีจนว่ากันว่าเอานักดนตรีมาทดสอบกี่คนก็แยกไม่ออก ว่าเป็นเสียงจากแกรนด์เปียโนจริงๆ หรือเสียงจากเครื่องสังเคราะห์เสียงนี่
Kurzweil Music Systems ได้ผลิตเครื่องดนตรีมาหลายต่อหลายรุ่น ก่อนที่บริษัทจะถูกขายไปให้ Young Chang บริษัทจากทางเกาหลีไป และ Kurzweil ก็ได้ติดกับบริษัทไปเป็นที่ปรึกษาเช่นเดิม จนทุกวันนี้แม้แต่หลังจากที่ Hyundai ไปเทคโอเวอร์ Young Chang แล้ว Kurzweil ก็ยังนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาอยู่
แต่แน่นอน คนอย่าง Kurzweil ก็ไม่ว่างเว้นโปรเจกต์ เขาได้ซุ่มทำโปรเจกต์ใหม่หลังจาก Kurzweil K250 เปิดตัวไป และเปิดตัวบริษัทใหม่ของเขา Kurzweil Applied Intelligence ในปี 1987 พร้อมกับโปรแกรมและระบบใหม่ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถจับเสียงของมนุษย์แปลงให้เป็นคำศัพท์ที่บันทึกลงในคอมพิวเตอร์ได้
...แต่นั่นก็เป็นแค่จุดเริ่มเท่านั้น เพราะ Kurzweil ผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกสารพัดออกมาในยุค 1990 ซึ่งคอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายแล้ว เขาผลิตทั้งโปรแกรมคนไข้จำลองให้หมอได้ฝึกพูดคุย โปรแกรมสร้างบทกวีอัตโนมัติ และในปี 1999 เขาก็ถึงกับตั้ง Hedge Fund ขึ้นโดยคนที่จะทำหน้าที่เทรดหุ้นสำหรับกองทุนนั้นไม่ใช่ผู้จัดการกองทุนแบบดั้งเดิม แต่เป็น AI แทน และนี่เป็น AI แบบที่สามารถจะเรียนรู้จับแพตเทิร์นการเทรดหุ้งเองไปเรื่อยๆ ได้ด้วย และนี่เป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ ในตอนนั้น (ทุกวันนี้สิ่งนี้เรียกว่า Algorithmic Trading เป็นสิ่งที่เริ่มมีการใช้กันแพร่หลายแล้ว)
เขาบอกว่าการที่เขาสร้าง AI มาทำงานแทนมนุษย์มั้นเป็นการย้ำเตือนจุดยืนของเขาที่เชื่อว่าสักวันปัญญาประดิษฐ์จะมีศักยภาพของการทำงานทางความคิดได้มากกว่ามนุษย์
ในฐานะนักอนาคตวิทยา
Kurzweil ไม่ใช่คนแรกๆ ที่จะพูดถึงการที่ “หุ่นยนต์จะครองโลก” แน่ๆ แต่เขาน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่พูดอะไรแบบนี้นอกบริบทนิยายวิทยาศาสตร์แล้วคนไม่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าขัน และเขาก็เริ่มเสนอความคิดแบบนี้สู่สาธารณะมาต้งแต่ปี 1990 เมื่อเขาในวัย 42 ปีได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก The Age of Intelligent Machine ออกมา และความคิดแบบนี้ก็เป็นธีมหลักของหนังสือของเขาทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Singularity is Near หรือเล่มล่าสุดของเขาอย่าง How to Create A Mind
และความน่าเชื่อของเขาก็เกิดจากการที่เขา “ทำนายอนาคตได้ถูก” เช่นในหนังสือเล่มแรกของปี 1990 เขาก็ได้ทำนายว่าในอนาคต คอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร้สายผ่านอินเทอร์เน็ต คนพิการจะสามารถเดินได้ด้วยการใส่ Exoskeleton การทดสอบยาจะสามารถทำได้โดยสภาพแวดล้อมที่เลียนแบบร่างกายมนุษย์ หรือในหนังสือปี 1999 ของเขา เขาก็ทำนายว่าในอนาคต มนุษย์แต่ละคนจะมี “คอมพิวเตอร์” มากกว่าหนึ่งเครื่อง” มนุษย์จะมีคอมพิวเตอร์ขนาดเท่าหนังสือ มนุษย์จะสวมใส่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อตรวจวัดข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้ กล้องขนาดเล็กจิ๋วจะมีอยู่เต็มไปหมด
...และนี่ก็เป็นคำทำนายบางส่วนของเขาที่เป็นจริงแล้วในปัจจุบันเท่านั้น และเขาก็ทำนายถึงความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมมนุษย์ยาวนานไปจนถึงสิ้นศตวรรษ
แน่นอนว่าคำทำนายของเขาไม่ได้ถูกต้องไปทั้งหมด และคำทำนายบางส่วนที่เกิดขึ้นจริงแล้วก็เกิดขึ้นภายหลังช่วงที่เขาคาดคะเนว่ามันจะเกิด แต่ความสามารถในการคาดเดาอนาคตของเทคโนโลยีก็ถือว่าหาตัวจับยากมากๆ ในยุคของเรา และ Google ก็ได้ว่าจ้างเขาไปเป็นผู้อำนาจการด้านวิศวกรรมในโครงการเกี่ยวกับ AI เรียบร้อยแล้ว
...ทุกวันนี้ Kurzweil กินอาหารเสริมสารพัดทุกวันรวมกันกว่าวันละ 150 เม็ด (ซึ่งลดมาจาก 250 เม็ดสมัยก่อนแล้ว) โดยที่เขาก็ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเป็นพิเศษ ชายวัย 69 ปีทำแบบนี้ก็เพื่อจะรักษาชีวิตของตนอยู่ให้ยาวที่สุดตามที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะอำนวยได้ เพื่อที่จะดูว่าโลกจะเป็นหรือไม่เป็นไปตามคำทำนายของเขาหรือไม่
ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเขาจะอยู่จนถึงยุคที่เขาทำนายว่า “ชีวิตอมตะ” จะเป็นเรื่องดาษดื่นที่ใครๆ ก็จะมีได้จากการทำงานประสานรวมกันของเทคโนโลยีสารพัดได้หรือไม่
1
โฆษณา