2 มี.ค. 2019 เวลา 03:40 • ธุรกิจ
วิเคราะห์โมเดลธุรกิจและอนาคตของ Blockdit
เมื่อวานนี้ผมได้โพสบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการสร้างรายได้ของนักเขียนเพจใน Blockdit ไปแล้วในลิงค์ด้านล่าง
วันนี้ผมขอวิเคราะห์โมเดลธุรกิจและอนาคตของ Blockdit บ้างครับ
ภาพ: flickr.com
อะไรทำให้ Blockdit เป็นที่นิยม?
ในมุมของ user ที่เป็นผู้อ่านทั่วไปที่อยากเสพอะไรดีๆ มันเกิดจากการเบื่อ facebook ที่มีแต่โฆษณาที่เราไม่อยากเห็นเต็มฟีด และเห็นเรื่องไร้สาระและคำหยาบต่างๆที่เพื่อนเราโพส หรือการ flood โพส (เพื่อนคนเดียวแต่โพสเรื่องไร้สาระรัวๆทุกๆชม.) หรือข่าวปลอมต่างๆที่แชร์ต่อกันมา (โดยที่ผู้แชร์ไม่คิดจะหาข้อมูลหรือตั้งสติก่อนแชร์แม้แต่น้อย)
สำหรับมุมมองของ user ที่เป็นผู้โพสเรื่องราวต่างๆบน facebook ตามธรรมชาติของมนุษย์ เราอยากเป็นจุดสนใจหรืออยากเป็น “Someone” หรืออยากให้โลกสนใจเราบ้าง
แต่หลังจาก facebook ปรับอัลกอริทึ่มให้คนมองเห็นโพสของเราลดลง มันกลายเป็นว่าบางโพสที่เราโพสนั้น แม้ว่าเราจะคิดว่ามันเป็นโพสที่ดี มีสาระ แต่โพสนั้นกลับไม่มีคนมาคลิก “Like” เลยหรือมีคนคลิก Like แค่คนสองคน มันทำให้บางคนรู้สึก “Fail” และเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่าจนบางคนกลับไปลบโพสนั้นทิ้งเลยก็มี
สำหรับมุมมองของคนทำเพจหรือทำธุรกิจใน facebook มันเกิดจาการที่ facebook ปรับอัลกอริทึ่มให้คนมองเห็นโพสที่เราโพสน้อยลง เพื่อให้เราจ่ายเงินโปรโมตโพสให้ facebook มากขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น จึงเกิดความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจตามมา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มเบื่อหน่าย facebook
พอ Blockdit เปิดตัวขึ้นมาเลยทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและมีความหวัง
มันเหมือนเวลาที่คนกำลังจะจมน้ำแล้วมีคนโยนวัตถุอะไรลงมาในน้ำ เราก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อนครับ
โมเดลธุรกิจของ Blockdit เป็นยังไง?
Blockdit นำเสนอเรื่องราวต่างๆในรูปแบบของกล่องหรือ “Block” ให้อ่านง่าย รวมถึงมีคอนเทนต์คุณภาพจากที่ต่างๆ
เราสามารถสร้างโพสต์ของตัวเองและแชร์โพสของเราให้โลกรู้ หากเพจของเรามีผู้ติดตามเกิน1,000คน เราสามารถที่จะสร้างรายได้ประมาณ 100บาทต่อ1โพสที่ได้ดาว
ผมวิเคราะห์ว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้ มีบางส่วนที่คล้ายกับ Uber ครับ
ในปีแรกที่ Uber เปิดตัว Uber ใช้วิธีการอัดฉีดเม็ดเงิน incentive ให้ Partner (คนขับรถทางบ้านที่มาบริการขับรถให้ Uber)
ซึ่งจำนวนเงิน incentive นี้จะคิดตามจำนวนเที่ยวที่ Partner ขับได้ใน 1อาทิตย์ เช่น ถ้าใน1อาทิตย์ ขับรถได้ถึง 40, 50, 60 เที่ยวจะได้เงินอัดฉีดเพิ่มเติมเป็นขั้นบันได
นอกจากนั้น ยังมีเงินอัดฉีดเพิ่มเติมในการขับรถแต่ละเที่ยวด้วย เช่น uber จะจ่ายให้ Partner 100บาทเพิ่มเติมจากค่าโดยสารรายเที่ยว
หากคุณขับรถกับ Uber ในช่วง 3เดือนแรกที่เปิดตัว ถ้าคุณขยัน คุณสามารถสร้างรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
ด้วย incentive ที่เป็นตัวอัดฉีดดังกล่าว จึงมี Partner เข้ามาร่วมขับรถให้ Uber เยอะขึ้นเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไป เม็ดเงินอัดฉีดดังกล่าวเริ่มร่อยหรอ จาก incentive ที่เคยให้เยอะ ก็ค่อยๆให้ล​ด​ลงเรื่อยๆ
จนสุดท้าย Partner จะได้แต่ค่าโดยสารในลักษณะที่ไม่ต่างกับ Taxi meter (คิดตามระยะทาง) เท่านั้น จนมี Partner หลายท่านเลิกขับรถให้ Uber ไป ต่อมาในภายหลัง Grab Car ก็เปิดตัวมาสู้ และซื้อกิจการของ Uber ในประเทศไทยไปเรียบร้อย
นอกจากนี้สิ่งที่ Blockdit เหมือนกับ Uber คือ Uber ใช้ดาวมาตัดสิน performance ของ partner หากใครได้ดาวไม่ถึงเกณฑ์ แม้ว่าจะทำจำนวนรอบได้ตามที่กำหนดไว้ ก็จะไม่ได้เงิน incentive นั้นครับ
กลับมาที่ Blockdit กันบ้างครับ
หลังจากที่ผมเกริ่นเรื่อง Uber มาซะยาว หาก Blockdit จะนำกรณีศึกษาดังกล่าวของ Uber มาปรับใช้กับธุรกิจตัวเอง คำถามที่สำคัญที่ Blockdit ต้องขบคิดอย่างจริงจังคือ “นักเขียนของ Blockdit จะมีรายได้ที่สม่ำเสมอ และเพียงพอได้อย่างไร?”
แน่นอนว่า Blockdit แบ่งพื้นที่ให้นักเขียนอย่างชัดเจน ระหว่างนักเขียนที่อยากจะเขียนด้วยใจ ไม่หวังผลตอบแทน สามารถสร้าง “บล็อกส่วนตัว” ขึ้นมา และนักเขียนที่อยากสร้างรายได้จากบทความสามารถสร้าง “เพจ” ขึ้นมาได้
แต่ดูเหมือนว่า ความนิยมของผู้อ่านจะเทไปในทาง “เพจ” มากกว่า “บล็อกส่วนตัว” ในอัตราส่วนที่มากถึง 80:20 เลยทีเดียว
นั่นหมายความว่า นักเขียนที่อยากสร้างรายได้กับ Blockdit มีจำนวนมากกว่านักเขียนที่ไม่หวังผลตอบแทนเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก
โอกาสที่นักเขียนเพจจะได้ดาวใน1วัน มีมากแค่ไหน?
ผมคงไม่อธิบายยืดยาวครับ ลองอ่านในลิงค์ด้านบนที่ผมแปะไว้ให้ดู แต่ผมสรุปว่า นักเขียนเพจจำนวน97%จากนักเขียนทั้งหมดใน Blockdit จะต้องลุ้นดาวรายวัน เพราะโอกาสที่จะได้ดาวนั้น “ต่ำมาก”
ดูเหมือนโมเดลธุรกิจของ Blockdit นั้นจะเน้นไปที่ “Performance Driven Culture” หมายความว่า นักเขียนเพจจะต้องแข่งขันกันเองเพื่อถีบตัวเองให้เป็นนักเขียนยอดฝีมือที่เป็น top3% ของสายอาชีพ เพื่อที่จะการันตีโอกาสการได้ดาวในทุกๆโพส
โมเดลนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะบริษัทที่พัฒนาแล้วต่างก็ใช้โมเดลลักษณะนี้กันทั้งนั้น หมายความว่า คนที่ Performance ไม่ดีก็จะโดนดอง แต่คนที่ Performance ดีก็จะได้รับการโปรโมต ในลักษณะที่อ่อนแอก็แพ้ไป
ผมสรุปว่า คุณไม่สามารถรวยได้จากเงินที่ Blockdit จ่ายให้เพจ หากคุณไม่ใช่นักเขียนยอดฝีมือที่เป็น top3%ของสายอาชีพใน Blockdit ครับ
แล้วนักเขียนเพจสามารถผลิตงานได้กี่ชิ้นต่อวัน?
ตรงนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่หากเป็นงานคุณภาพชิ้นโบแดงที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการค้นคว้า เรียบเรียง หรือแปลบทความต่างประเทศด้วยนั้น ผมคิดว่าน่าจะได้เพียง 1-2 ชิ้นต่อวันครับ ตรงนี้ผมไม่นับรวมเพจที่ copy and paste บทความของคนอื่นมาจากอินเตอร์เน็ตนะครับ (ถ้านับด้วยนี่วันนึงคุณสามารถผลิตบทความออกมาได้เป็นสิบๆบทความอย่างต่ำ)
คำถามถัดไปคือ “จำนวนเงิน100บาทต่อโพสที่ได้ดาว” เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่?
หากคุณตามไปอ่านลิงค์ที่ผมโพสด้านบน ผมตอบเลยว่าไม่พอครับ
แล้วทาง Blockdit จะมีโครงการร่วมมือกับนักเขียนเพื่อรวบรวมบทความไปตีพิมพ์เพื่อทำหนังสือขายเพื่อเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมหรือไม่?
1
ผมเดาว่าในอนาคตอาจจะมี แต่คุณต้องเป็นนักเขียนระดับ top3% ก่อนครับ ทาง Blockdit ถึงจะสนใจจีบคุณให้มาเข้าร่วมโครงการ
Blockdit จะมีรายได้จากช่องทางไหนเพื่อมา cover ต้นทุนเงินเดือนพนักงานและจ่ายให้นักเขียนเพจ?
คำตอบคือ ค่าโฆษณาครับ แต่อย่าลืมว่าคนส่วนหนึ่งหนีจาก facebook มาเพราะเกลียดโฆษณานะครับ คำถามที่น่าสนใจคือ Blockdit จะแทรกโฆษณาเข้าไปในบทความอย่างไรให้เนียน และ ต้องไม่ทำให้ user รำคาญด้วยอีกต่างหาก
สิ่งที่ผมเล่ามาจึงเป็นความท้าทายที่ทางทีมงาน Blockdit จะต้องพบเจอต่อไปในฐานะธุรกิจ start up ที่กำลังมาแรงในประเทศไทย
ผมยังไม่สรุปนะครับว่าธุรกิจนี้จะไปรอดหรือไม่ เพราะข้อมูลในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้
ติดตาม​ Netflix Addict จากช่องทางอื่นและแวะมาพูดคุยกันได้ที่​ Facebook: https://www.facebook.com/netflixaddict1
โฆษณา