16 เม.ย. 2019 เวลา 05:10 • สุขภาพ
รางจืด สมุนไพรล้างพิษ ติดยา-ติดเหล้า ก็เอาอยู่ !
รางจืด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thunbergia laurifolia) เป็นชื่อของพืชสมุนไพรประเภทไม้เลื้อยหรือไม้เถาในวงศ์เหงือกปลาหมอ มีลักษณะเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้ เถาจะมีลักษณะเป็นข้อปล้องกลมมีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ดอกจะเป็นสีม่วงอ่อนๆหรือสีคราม ออกดอกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ
รางจืดได้รับการขนานว่าเป็น "ราชาแห่งการถอนพิษ"
ใบรางจืด
มีสรรพคุณทางยาในด้านการถอนพิษต่างๆ หรือใช้เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้
รวมถึงใช้เป็นยารับประทานเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ
รางจืดมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ได้แก่
กำลังช้างเผือก เครือเขาเขียว ขอบชะนาง ยาเขียว (ภาคกลาง)
คาย รางเย็น (ยะลา)
จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ดุเหว่า (ปัตตานี)
ทิดพุด (นครศรีธรรมราช)
น้ำนอง (สระบุรี)
ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)
ราชาแห่งการ​ถอนพิษ​
แก้พิษแอลกอฮอล์
บรรเทาอาการเมาค้าง
บรรเทาอาการผื่นแพ้
ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่าจอลอดี่เดอตัดลำต้นเป็นชิ้นเล็กพกติดตัว เชื่อว่าป้องกันงูได้
สรรพคุณ​ของ​ รางจืด​ ดี๊ดี
1.​ แก้ไข้
รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีรสเย็น ตามตำรับยาสมุนไพรไทยใช้รางจืดปรุงเป็นยาเขียวแล้วดื่มเพื่อลดไข้
2. แก้ท้องเสีย ท้องร่วง
เนื่องจากสมุนไพรรางจืดมีฤทธิ์ถอนพิษผิดสำแดงหรือพิษอื่น ๆ จึงสามารถใช้รางจืดแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้
3. ถอนพิษแมงดาทะเล
ในแมงดาทะเลหรือปลาปักเป้าจะมีสารพิษที่ชื่อว่า เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin)
ซึ่งหากมนุษย์ได้รับสารพิษชนิดนี้จากการกินแมงดาทะเลหรือปลาปักเป้าอาจร้ายแรงถึงตายได้ แต่มีรายงานจากโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เผยว่า ผู้ป่วย 2 รายที่กินแมงดาทะเลและรับสารพิษชนิดนี้เข้าไปมีอาการดีขึ้นหลังได้รับรางจืดผ่านการกรอกทางสายยาง และรอดชีวิตได้ในที่สุด
4. บรรเทาพิษยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ
หมอพื้นบ้านมักจะนำรางจืดมาใช้ถอนพิษชาวบ้านที่ได้รับยาฆ่าแมลง ยาเบื่อชนิดต่าง ๆ
โดยนำใบรางจืดสดมาคั้นน้ำให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลงดื่มโดยเร็วที่สุด
เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล
สอดคล้องกับงานวิจัยในหนูทดลองที่พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านสารพิษพาราควอตได้ โดยทำให้อัตราการตายของหนูทดลองลดลง
5.​ รางจืดช่วยเลิกยาเสพติด
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดรางจืดต่อเซลล์สมองแล้วพบว่า รางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายกับสารเสพติดประเภทแอมเฟตามีนและโคเคน
โดยมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งสารโดพามีนเช่นเดียวกับการออกฤทธิ์ของยาเสพติดดังกล่าว
ฉะนั้นการให้ผู้ป่วยติดยาเสพติดได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากรางจืด
อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจเช่นเดียวกับการใช้สารเสพติด
ดังนั้นรางจืดอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาอาการติดยาเสพติดด้วยสมุนไพรไทย
6.​ ช่วยแก้เมา​ -​ เลิกเมาได้
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ
ซึ่งพบว่า สารสกัดด้วยน้ำของรางจืด ช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ในหลอดทดลองและในหนูทดลองที่ได้รับแอลกอฮอล์ โดยทำให้ค่า AST, ALT
ในพลาสมาและไตรกลีเซอร์ไรด์ในตับลดลง
และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางจุลพยาธิวิทยาของตับเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับแอลกอฮอล์อย่างเดียว
นอกจากนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้าพบว่า สารสกัดรางจืด ช่วยลดภาวะซึมเศร้าและมีส่วนทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
โดยไม่มีผลลดความวิตกกังวล ทว่าสารสกัดรางจืดช่วยลดการถูกทำลายของเซลล์ประสาทในหนูเนื่องจากขาดเหล้าได้
ขณะที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็เผยสรรพคุณของรางจืดที่ช่วยบำรุงดูแลตับและช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้
โดยจากการให้อาสาสมัครดื่มน้ำสกัดจากใบรางจืด 15 นาที ก่อนดื่มแอลกอฮอล์
พบว่า สารสกัดรางจืดช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ จากการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้รางจืดในการต้านพิษสุรา เช่น ช่วยลดอาการเมาเหล้า และช่วยลดอาการแฮงก์หลังดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
7. ต้านอาการอักเสบ
รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก มีรายงานว่า หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้รางจืดรักษาอาการผด ผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย
เริม งูสวัด และยังมีการศึกษาว่า รางจืดมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบได้ดีเท่ากับยาสเตียรอยด์อีกด้วย
8. แก้ปวดบวม
ตำรับยาพื้นบ้านนิยมนำใบรางจืดมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวดหรือบวม
โดยสารในใบรางจืดจะช่วยลดอาการอักเสบที่เป็นต้นเหตุของอาการปวด บวม รวมไปถึงอาการปวด บวมจากสัตว์มีพิษ ใบรางจืดก็จะช่วยถอนพิษร้ายให้
9. แก้ประจำเดือนไม่ปกติ
บำรุงสตรีหลังคลอดตำรับยาไทยใช้รางจืดแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และใช้บำรุงสตรีอยู่ไฟให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วย
10. แก้ร้อนในกระหายน้ำ​
ด้วยความที่เป็นสมุนไพรมีรสเย็น รางจืดจึงมีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำได้ด้วยนะคะ
รางจืดใช้อย่างไร
วิธีรับประทานรางจืดมีอยู่ 4 วิธีด้วยกันค่ะ
1. ต้ม
นำใบรางจืด 10-15 ใบ ใส่น้ำพอท่วม จากนั้นต้มไฟปานกลางจนน้ำเดือด ตั้งทิ้งไว้ 15 นาที แล้วปิดไฟ กรองเอาแต่น้ำมาจิบเป็นชา ดื่มวันละไม่เกิน 5 ครั้ง
2. กินสด
ล้างใบรางจืดให้สะอาดก่อนนำมาเคี้ยวสดครั้งละ 4-5 ใบ
3. ชนิดชง
สำหรับใบรางจืดชนิดชาชงให้ใช้รางจืดครั้งละ 2-3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ
4. ชนิดแคปซูล
รับประทานรางจืดชนิดแคปซูล 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
อย่างไรก็ดี การใช้สมุนไพรรางจืดก็มีข้อควรระวังเช่นกันนะคะ
ข้อควรระวังในการรับประทานรางจืด
ดอกรางจืด
* หากมีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาเป็นประจำทุกวัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินรางจืด
* ไม่ควรกินรางจืดติดต่อกันเกิน 30 วัน เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความเย็น มือเท้าชา เลือดลมเดินไม่สะดวก เนื่องจากรางจืดมีฤทธิ์เย็น ขณะเดียวกันบางงานวิจัยยังพบผลข้างเคียงจากการทานรางจืดในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ระบบเลือด ตับ ไตทำงานผิดปกติได้
* กรณีรับประทานเพื่อล้างพิษในร่างกาย อาจรับประทานเฉพาะเวลามีอาการ เมื่อหายแล้วจึงหยุด หรือรับประทานรางจืดสัปดาห์ละ 2 วัน ไม่ควรทานติดต่อกันทุกวัน
* ควรระวังในการใช้รางจืดในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตราย และมีอาการชาตามมือ-เท้า
* รับประทานรางจืดให้ห่างจากยารักษาโรคประจำตัวอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เนื่องจากรางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
สมุนไพรรางจืดมีทั้งประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย เราก็ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดเดิมซ้ำ ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และทางที่ดีควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงด้วยนะคะ
#นิสัยรักสุขภาพทำให้คนข้างๆสุขภาพดีไปด้วย
#นิสัยรักสุขภาพ​ เป็น​โรคติดต่อ​ ชนิดใหม่
ดูแลรักษา​สุขภาพ​ด้วยน่ะค่ะ​
ด้วยความ ปรารถนาดี​ จาก​ "มนุษย์​ขาดผัก"
โฆษณา