15 พ.ค. 2019 เวลา 14:00 • บันเทิง
เรื่องเล่าชาวร็อค - ครบรอบ 25 ปี Superunknown อัลบัมมาสเตอร์พีซของ Soundgarden
​ตอนซาวนด์การ์เดนออกอัลบัมที่เต็มไปด้วยเพลงเยี่ยมๆ Superunknown มาในฤดูใบไม้ผลิของปี 1994 สรรพเสียงของดนตรีซีแอทเทิล ซาวนด์ถูกเรียกว่า ‘กรันจ์’ และแทบจะครองโลกด้วยซ้ำ
​ตอนนั้นวงสำคัญๆ ที่ได้เครดิทในการนำธงของดนตรีอัลเทอร์เนถีฟไปโบกสะบัดทั่วโลก ก็คงไม่พ้น Nirvana, Pearl Jam และ Alice in Chains ที่ต่างก็ทำยอดขายได้ในระดับแผ่นแพลตินัม แต่ซาวนด์การ์เดนกลับไม่สามารถก้าวข้ามกำแพงไปสู่ความสำเร็จแบบเดียวกันได้ จนมาถึง Superunknown อัลบัมชุดที่ 4 ที่วางจำหน่ายในวันที่ 8 มีนาคม 1994 วงของคริส คอร์เนลล์ (ร้องนำ/ กีตาร์), คิม ธายิล (กีตาร์ลีด), เบน เชพเฮิร์ด (เบส) และแม็ทท์ คาเมรอน (กลอง) ก็กลายเป็นศิลปินเจ้าของยอดขายระดับหลายแผ่นแพลตินัม และเป็นซูเปอร์สตาร์ทางเอ็มทีวี
​วงเริ่มต้นทำงานหลังจบการทัวร์ Lollapalooza ในปี 1982 โดยสมาชิกแต่ละคนจะแยกกันไปทำงานของตัวเองแล้วก็ทำออกมาเป็นเดโม เพื่อให้สมาชิกคนอื่นๆ ฟังแล้วจัดการเสริมเติมแต่งร่วมกัน คอร์เนลล์เล่าว่า พวกเขามีอิสระในการทำงานมากกว่าที่เคยเป็น ธายิลเสริมด้วยว่า ถึงแม้จะใช้เวลาในการแต่งเพลงและเรียบเรียงพอๆ กับที่ใช้ในอัลบัมก่อนๆ หน้า แต่ก็ใช้เวลาในการทำงานบันทึกเสียงมากกว่าเดิม
​ซาวนด์การ์เดนใช้เวลาไปกับเทอร์รี เดท ในตำแหน่งโปรดิวเซอร์อยู่สองเดือน ก่อนตัดสินใจแยกทางกัน “เราคิดว่า พวกเรากำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง” ธายิลเผย และก็ได้ไมเคิล บีนฮอร์นมาแทน เพราะ “ไม่มีซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่จะเข้ามาเกาะแกะกับซาวนด์ของวง” ซึ่งเป็นความคิดที่สมาชิกของวงเห็นพ้องต้องกัน
​การบันทึกเสียงเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 1993 และจบในเดือนกันยายนปีเดียวกันที่แบด แอนิมอลส์ สตูดิโอในซีแอทเทิล, วอชิงตัน “ในซีแอทเทิลไม่เคยมีสตูดิโอที่น่าใช้เลย แต่มีอยู่ที่หนึ่ง ที่มีแผงควบคุมของ นีฟ (Neve) ซึ่งดูเหมือนเราต้องใช้มัน” คอร์เนลล์พูดถึงการตัดสินใจใช้ห้องอัดที่นี่ การทำงานของบีนฮอร์นที่สนับสนุนให้วงใช้เวลาทำงานยาวๆ ทำให้ได้ทดลองซาวนด์กลองและกีตาร์ที่แตกต่างหลากหลาย รวมถึงเทคนิคต่างๆ เช่น การวางชั้นของเสียงเยอะๆ จนมีซาวนด์ที่ขยับขยายออกไปจากเดิม “ไมเคิลเน้นเรื่องซาวนด์มากๆ เขาแทบหมกมุ่นอยู่กับมันเลยก็ว่าได้ จนเรารู้สึกเสียเวลาอยู่หลายครั้ง เพราะพอได้ซาวนด์ที่ต้องการในเพลงแล้ว คุณก็เบื่อและเซ็งที่ต้องมาเล่นมันอีกใช่ไหมล่ะ” คอร์เนลล์เล่า บีนฮอร์นยังใส่ความโดดเด่นจากศิลปินที่เขาชอบเข้ามาในซาวนด์ของวงด้วย เช่นตอนก่อนจะอัดเสียงร้องเพลง "Black Hole Sun” เขาให้คอร์เนลล์ฟังเพลงของแฟรงค์ ซินาตรา
​เพลงใน Superunknown ยังคงมีอิทธิพลดนตรีเมทัลเหมือนงานชุดก่อนๆ หน้า แล้วก็มีสไตล์ใหม่ๆ ที่พวกเขาพัฒนากันขึ้นมา ซึ่งสตีฟ ฮิวอีย์แห่งออลมิวสิคบอกว่า “อิทธิพลของพังค์อย่างที่เคยได้ยินแทบจะหาไม่เจอ และถูกทดแทนด้วยสิ่งที่น่าประหลาดใจเช่น ทางของป็อปและไซคีดิลีคิค ที่ใส่เข้ามาได้อย่างลงตัว” คอร์เนลล์เองถึงกับสำทับว่า อัลบัมนี้มี “ความท้าทาย” และ “ปรับแต่ง” มากกว่างานชุดก่อนๆ ตัวเพลงมีการทดลองและความหลากหลายในการทำงานมากกว่าเดิม จนกลายเป็นอัลบัมที่เปรียบได้กับก้าวกระโดดของซาวนด์การ์เดน
​ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง กับโปรดัคชันที่ฟังเนี้ยบมากกว่า Screaming Life อีพีเปิดตัวเมื่อปี 1987 ที่เป็นงานโพสท์-ฮาร์ดคอร์แสนสมถะ แล้วไม่ต้องพูดถึง Badmotorfinger งานชุดก่อนหน้าที่ได้รับคำชื่นชม ซึ่งการมิกซ์เสียงแข็งแรงน้อยกว่าและมีความเป็นงานเมทัลในตัว
​โดยเนื้องานที่มีชั้นเชิงมากกว่าเดิม ก็ไม่ถึงกับเป็นการทำอะไรที่ท้าทายหรือแหกกรอบออกไปมากมายนัก จริงๆ แล้วสารพัดลูกเล่นในการบันทึกเสียงที่ฟังจัดจ้านมากขึ้น คือผลพลอยได้จากการใช้บีนฮอร์นเป็นโปรดิวเซอร์ อย่างที่ได้ยินในเพลง "Let Me Drown”, "My Wave" และ เพลงที่เป็นชื่อชุด ซึ่งการเรียบเรียงแปลกๆ หล่อหลอมเสียงริฟฟ์ฟังย้ำๆ เข้ากับเมโลดีที่พลิกผันไปมา และเนื้อหาที่ฟังคลุมเครือของคอร์เนลล์ แล้วยังมีการเล่นเลียนเสียงซีตาร์ของอินเดีย ที่ฟังแตกต่างใน "Half" รวมไปถึงงานแบบดูมที่ฟังทุ้มต่ำของ “Mailman", "4th of July" และ "Like Suicide" ซึ่งดูเหมือนเป็นการทำงานด้วยเหตุผลทางการขายแบบแบบง่ายๆ
​แต่กับการมองด้วยสายตาของศิลปิน มันคืองานคลาสสิคร็อค
​วงเลือกเบรนแดน โอ’เบรียนมามิกซ์เสียง โดยบีนฮอร์นให้เหตุผลว่า เขารู้สึกว่าวงต้องการ “หูที่สดใหม่” ซึ่งคนที่แนะนำโอ’เบรียนมาให้ก็คือสโตน กอสสาร์ด มือกีตาร์ของเพิร์ล กระบวนการมิกซ์ดำเนินไปโดย “ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ” ธายิลบอก ขณะที่เชพเฮิร์ดเสริมว่า เป็นการทำงานที่ “เร็วที่สุดของอัลบัมชุดนี้”
​หากลองเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าจะเป็นซิงเกิลเท่ๆ อย่าง เพลงเศร้าที่ฟังสวยงาม "Fell on Black Days”, เพลงที่ไม่ต่างไปจากการตบเกียร์ถอยหลัง "The Day I Tried to Live” และเพลงแปลกๆ ที่แสนมหัศจรรย์และยากที่จะปฏิเสธ "Spoonman" ทุกเพลงล้วนประสบความสำเร็จ จากความดื้อดึงของพวกเขา ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจตลอดการทำงานชุดนี้ กระทั่งเพลงฮิตที่สุดของอัลบัม "Black Hole Sun" ที่ฟังเหมือนเพลงรูปแบบทั่วๆ ไป เอาเข้าจริงๆ ซาวนด์การ์เดนกำลังล้อเลียนคอนเส็ปท์ของเพลงพาวเวอร์ บัลลาด พลิกอีกด้านออกมาให้เห็นด้วยการร่ายเรื่องราวหลอนๆ เหมือนเข้าถึงยาก และเมโลดี เข้ากับเสียงประสานที่ฟังงงๆ คล้ายว่าไม่ไปด้วยกัน แล้วก็เล่าผ่านภาพแบบฝันร้ายในสายตาที่เป็นบวกของมิวสิค วิดีโอสีสันฉูดฉาด และมีสเปเชียล เอ็ฟเฟ็คท์ที่ดูหวือหวา
​ท้ายที่สุด สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของ Superunknown ก็คือความยาวถึง 74 นาที ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายคนฟังเพลง ต่อให้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของซาวนด์การ์เดน ก็ต้องใช้เวลาซึมซับกับอัลบัมนี้ “เราไม่อยากเถียงกันว่า จะเอาเพลงไหนออกดี” คอร์เนลล์ เล่า แต่มันก็ขวางทางแฟนเพลงร่วมๆ 10 ล้านคนทั่วโลกในการหยิบซีดีชุดนี้ไม่สำเร็จ ส่งให้ซาวนด์การ์เดนโด่งดังเป็นพลุแตก โดยในสหรัฐอเมริกา
Superunknown ทำยอดขายได้ในระดับห้าแผ่นแพลตินัม เมื่อเปิดตัวด้วยอันดับ 1 บนชาร์ทอัลบัมของบิลล์บอร์ด ด้วยยอดขาย 310,000 ก็อปปีในสัปดาห์แรก งานชุดนี้ตัดซิงเกิลได้ถึง 5 เพลง "The Day I Tried to Live", "My Wave", "Fell on Black Days", “Spoonman" และ "Black Hole Sun” โดยสองเพลงหลังยังทำให้วงคว้ารางวัลแกรมมีมาครองอีกด้วย
​ไม่ต้องสงสัย หรือลังเลใจ นี่คืออัลบัมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของซาวนด์การ์เดนมาจนถึงทุกวันนี้
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ครบรอบ 25 ปี Superunknown อัลบัมมาสเตอร์พีซของ Soundgarden คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ - HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ 13 พฤษภาคม 2562
อ่านวิจารณ์ In Stereo งานอัลบัมใหม่ของ Bananarama ได้ที่นี่ > https://www.blockdit.com/articles/5cd3239bc41f081ed42d6320
อ่านเแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด่วยกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา