18 พ.ค. 2019 เวลา 14:59 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์การบินโลก
ตอนที่ 9 เส้นทางสู่ดวงจันทร์ที่แลกมาด้วยชีวิต
อะพอลโล 1 การเสียสละของมนุษย์เพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
ด้วยความสำเร็จของบันไดขั้นแรก “โครงการเมอร์คิวรี” โครงการแรกที่ทดสอบว่ามนุษย์สามารถเดินทางไปสู่อวกาศได้
นักบินทั้ง 7 ของโครงการเมอร์คิวรี
ต่อด้วยบันไดขั้นที่สอง “โครงการเจมินี” ที่ได้ทำการทดสอบสิ่งต่างๆที่จำเป็นต่อการส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ และพาพวกเขากลับมาที่โลกได้อย่างปลอดภัยแล้ว
Project Gemini
สู่บันไดขั้นที่สาม นาซ่าจึงมีความมั่นใจว่า เส้นทางสู่ดวงจันทร์สำหรับภารกิจแรกพร้อมนักบินอวกาศใน”โครงการอะพอลโล”ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ยากเย็นนักเช่นกัน
อะพอลโล 1 มีแผนที่จะพาลูกเรือสามคน ได้แก่
กัส กริสซัม (Gus Grissom) เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งกริสซัมนั้นเคยขึ้นบินกับทั้งโครงการเมอร์คิวรีและเจมินีมาแล้ว
Gus Grissom
เอ็ด ไวท์ (Edward H. White) ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ออกไปทำ EVA นอกยานอวกาศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กับยานเจมินี 4
Edward White
และอีกคนก็คือโรเจอร์ แชฟฟี (Roger Chaffee) นักบินน้องใหม่ที่กำลังจะได้ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก
Roger Chaffee
โดยตามกำหนดการนั้น ยานอะพอลโล 1 จะเดินทางขึ้นสู่อวกาศจริงๆ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967
โดยเป็นภารกิจเพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพของทีมควบคุมและอุปกรณ์ต่างๆ
รวมทั้งความสามารถของจรวดแซทเทิน 1B กับยานบังคับการและยานบริการของอะพอลโลในสภาพแวดล้อมจริงๆ
Saturn 1B
เมื่อทาง North American Aviation ผู้ซึ่งประมูลงานสร้างยานอะพอลโล 1 และนาซ่าต้องแข่งกับเวลา เพราะสุนทรพจน์ของเคนเนดีที่ได้กำหนดเส้นตายไว้ และเส้นตายนี้เองคือสาเหตุที่พวกเขาต้องยอมเอาความปลอดภัยของลูกเรือเข้ามาเสี่ยง
North American Aviation
เมื่อถึงเวลาให้ลูกเรือมาตรวจดูสภาพของยานก่อนปล่อย ลูกเรือทั้งหมดต่างกังวลกับสภาพของยานที่เต็มไปด้วยวัตถุไวไฟ
แถมยังใช้แก๊สออกซิเจนแบบ 100% ซึ่งสามารถทำให้ประกายไฟลุกลามได้อย่างรวดเร็วและอันตรายเป็นอย่างมาก
และเมื่อผู้จัดการที่ดูแลการก่อสร้างยานอนุมัติให้ยานผ่านเกณฑ์ได้นั้น ลูกเรืออะพอลโล 1 ก็ได้ถ่ายภาพที่กำลังไหว้โมเดลจำลองของยาน และส่งมอบให้ถึงมือของเขา พร้อมกับคำบรรยายประกอบภาพว่า
“ไม่ใช่พวกเราไม่ไว้ใจคุณนะ แต่รอบนี้เราอาจต้องพึ่งพาอะไรที่เหนือกว่าคุณบ้างละ”
ภาพถ่ายที่ถูกส่งให้ผู้จัดการฝ่ายดูแลการก่อสร้างยาน
และนั่นก็เป็นความจริงที่ทางนาซ่าปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะทาง North American Aviation นั้นเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดจากทั้ง 5 เจ้าที่ยื่นซองประมูลเข้ามา
และในยามเย็นของวันที่ 27 มกราคม ปี ค.ศ. 1967 นั้น ถูกกำหนดให้เป็นเวลาสำหรับการทดสอบยานอะพอลโล 1
เป็นการทดสอบที่เรียกว่า Plug-out Test ซึ่งเป็นการทดสอบระบบพลังงานภายในของยานโดยทั้งหมด
นักบินทั้งสามนายกำลังเดินเข้าไปในยานอะพอลโล
นาซ่าประเมินว่าภารกิจนี้แทบจะไม่มีความเสี่ยงใดๆเลย เพราะไม่มีการเติมเชื้อเพลิงให้กับจรวดที่ติดตั้งอยู่ เป็นเพียงการทดสอบระบบไฟของยานควบคุมเท่านั้น
แต่เพียงแค่ไม่นานหลังจากเริ่มต้นทดสอบ ปัญหาแรกก็ได้เกิดขึ้น เมื่อลูกเรือได้กลิ่นเหมือนกับนมหมักเปรี้ยว
ทำให้ทีมภาคพื้นต้องมาเก็บตัวอย่างอากาศจากในยานไปตรวจสอบ แต่ก็ไม่พบสาเหตุว่ามีที่มาจากไหน การทดสอบจึงดำเนินต่อ
ภาพภายในยานควบคุม
ซึ่งในระหว่างการทดสอบก็มีปัญหาในการสื่อสารระหว่างลูกเรือกับศูนย์ควบคุม จนทำให้กริสซัมหัวเสียและพูดออกมาว่า
“เราจะไปดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าแค่ 2-3 ช่วงตึกก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่องเลย”
แต่ไม่มีใครรู้ว่าอีกไม่ถึงหนึ่งนาทีให้หลัง จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น
พวกเรากำลังถูกเผา...
“ไฟไหม้”
“มีไฟไหม้อยู่ในยาน”
“มีไฟไหม้รุนแรงข้างในนี้ รีบออกไปเร็ว พวกเรากำลังถูกเผา”
ตามมาด้วยเสียงกรีดร้องด้วยความทรมาน และมีคนที่ดูภาพสดในตอนนั้นเห็นมือของเอ็ด ไวท์ พยายามเอื้อมไปเปิดประตู ขณะที่เปลวเพลิงกำลังลุกไหม้จากซ้ายไปขวาอย่างรวดเร็ว
แผนการกู้ภัยในกรณีฉุกเฉินนั้นต้องการเวลาอย่างน้อย 90 วินาทีที่จะช่วยลูกเรือ
แต่เพียงแค่ 30 วินาทีเท่านั้น เปลวเพลิงก็ได้ปกคลุมไปทั่วทั้งยาน
ทีมที่ฐานปล่อยได้พยายามรีบนำอุปกรณ์ช่วยเหลือตรงดิ่งเข้าไปช่วยลูกเรืออย่างสุดความสามารถ
พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 5 นาทีเต็มๆ ในการเปิดประตูทั้งสามชั้นของยานออกมา ซึ่งในขณะนั้นพวกเขาก็แทบหาร่างของลูกเรือไม่เจอ เพราะมีควันหนาแน่นปกคลุมทั่วไปหมด
สภาพภายนอกของยานควบคุม
เมื่อควันสงบลง ทีมช่วยเหลือก็ได้พบร่างพวกเขาทั้งสาม ซึ่งเสียชีวิตอยู่ในชุดอวกาศที่ถูกหลอมออกไปบางส่วนแล้ว
สภาพบางส่วนของยานที่ถูกไฟไหม้
ถึงแม้การสูญเสียในครั้งนี้จะทำให้โครงการอะพอลโลต้องชะงักไปเกือบ 20 เดือน แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแทบทั้งหมด
โดยเฉพาะปัจจัยด้านความปลอดภัยที่ถูกปรับแบบแทบจะยกเครื่องเลยทีเดียว
คริสต์โตเฟอร์ คราฟต์ ผู้บริหารการปฏิบัติงานที่นาซ่าได้เคยกล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ทำให้การลงดวงจันทร์ของอะพอลโล 11 เกิดขึ้นจริงได้ เพราะก่อนหน้านั้นมันมีปัญหาทั้งตัวบุคลากร อุปกรณ์ และอีกหลาย ๆ อย่างที่อาจผิดพลาดได้
Christopher C. Kraft Jr.
เราต้องพลาดข้างล่างนี้ เพื่อจะไม่ไปพลาดบนนั้น
ไมเคิล คอลลินส์ นักบินยานควบคุมอะพอลโล 11 ได้กล่าวว่า การสูญเสียของพวกเขาเป็นเรื่องที่น่าโศกเศร้า แต่ฮีโร่ทั้งสามนี้ได้หล่อหลอมให้คนทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ในช่วงเวลาที่แบ่งแยกของประเทศ (สงครามเวียดนาม การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และการแข่งขันไปดวงจันทร์กับสหภาพโซเวียต) อเมริกันชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้
เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ยังได้เปลี่ยนวิธีการไปดวงจันทร์ของนาซ่าแบบใหม่หมด
จากหน่วยงานที่ประมาทและเน้นในเรื่องการประหยัดงบ มาเป็นหน่วยงานที่เอาจริงเอาจังกับการไปดวงจันทร์ และยอมที่จะจ่ายแพงกว่า ซึ่งคุ้มเมื่อพูดถึงชีวิตที่อยู่บนเส้นด้ายของนักบินอวกาศ
“ถ้าพวกเราต้องตาย พวกเราขอให้ผู้คนยอมรับมัน เราอยู่ในอาชีพที่เสี่ยง และหวังว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา มันจะไม่ทำให้โครงการนี้ล่าช้าไป ความสำเร็จในการสำรวจอวกาศนั้นมันคุ้มค่าพอที่จะเอาชีวิตเข้าแลก”
กัซ กริสซัม
AZ quotes
ในปี ค.ศ. 1968 นาซ่าได้สรุปการสืบสวนสาเหตุของเพลิงไหม้ยานอะพอลโล 1 ด้วยรายงาน 200 หน้า
ผลการสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของนักบินอวกาศทั้ง 3 นาย สรุปว่าเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดทำงานเนื่องจากการสูดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปจำนวนมาก
ส่งผลให้ทั้งสามไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตไปก่อนหน้าที่จะได้รับความทรมานจากการโดนไฟครอก
Time magazine
ภายหลังได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงผู้เสียสละชีวิตในโครงการ ตั้งอยู่ที่แหลมคานาเวอรอล รัฐฟลอริดา
Space mirror memorial สำหรับจารึกชื่อนักบินอวกาศนาซ่าผู้เสียชีวิตในหน้าที่
และในปี ค.ศ. 1971 นักบินอวกาศของยานอะพอลโล 15 ก็ได้แอบนำเอารูปปั้นนักบินอวกาศขนาดเล็ก และแผ่นจารึกชื่อนักบินที่เสียชีวิต ขึ้นไปวางไว้บนดวงจันทร์ เพื่อเป็นเกียรติและขอบคุณในการเสียสละชีวิตของพวกเขา ผู้ที่แผ้วถางเส้นทางให้กับนักบินอะพอลโลทั้งหลายได้ไปเยียนดวงจันทร์และกลับโลกได้อย่างสำเร็จและปลอดภัย
ติดตามตอนต่อไปเร็วๆนี้ครับ
โฆษณา