21 พ.ค. 2019 เวลา 07:51 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ ตอนที่ 2
อย่างที่รู้กันอยู่ว่า หัวเว่ย เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคม ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ผู้ก่อตั้งคือ เหริน เจิ้งเฟย นายทหารปลดประจำการในวัย 44 ปี
บิดาของเขาคือเหรินโมซุ่น เกิดในตระกูลพ่อค้าแฮมผู้มีฐานะแห่งเมืองจินหัว แต่เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพราะบิดาเสียชีวิต จากนั้นก็มาทำงานเป็นครูบ้างเป็นทหารบ้างตามสถานะการทางการเมืองที่อ่อนไหวในขณะนั้น
ส่วนเฉิงหย่วนเจามารดาของเหริน เจิ้งเฟยนั้น แม้จะมีความรู้เพียงระดับมัธยมปลาย แต่ก็พยายามศึกษาเล่าเรียนด้วยตัวเองจนได้เป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมปลาย
เหริน เจิ้งเฟย เกิดในปี 1944 ที่เมืองกุ้ยโจว มณทลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยและยากจน
ประเทศจีนในเวลานั้นกำลังสับสนวุ่นวายจากการเปลี่ยนระบบการปกครอง ครอบครัวของเขาก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากชาวจีนคนอื่น ๆ และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่พ่อกับแม่ของเขากลับให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก
ทั้งพ่อแม่และน้องอีกหกคนยอมทำงานหนักเพื่อให้ เหริน เจิ้งเฟย มีโอกาสได้เรียนหนังสือด้วยความเชื่อที่ว่า “ความรู้คืออาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโชคชะตา”
ในปี 1963 เหริน เจิ้งเฟย สอบเข้าคณะวิศวกรรมก่อสร้าง มหาวิทยาลัยฉงซิ่ง ขณะเรียนปีสามก็เกิด “การปฏิวัติวัฒนธรรม” พ่อของเขาถูกกลุ่มกบฏทุบตีและทรมานต่าง ๆ นานา แต่เพื่อให้เขาตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่แม่ของเหริน เจิ้งเฟยจึงไม่เคยบอกข่าวนี้แก่เขาเลย
เมื่อได้รับรู้ชะตากรรมของพ่อจากการบอกเล่าของเพื่อนคนหนึ่งในมหาวิทยาลัย เขาจึงแอบขึ้นรถไฟกลับบ้านแต่เนื่องจากไม่มีเงินซื้อตั๋วจึงถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีและไล่ลงจากขบวนรถ เขาต้องเดินเท้าต่อไปตามทางรถไฟอีกหลายสิบกิโลเมตรกว่าจะถึงบ้าน
แต่เมื่อถึงบ้านพ่อกับแม่ก็รีบไล่เขากลับไปมหาวิทยาลัยทันทีเพราะกลัวกลุ่มปฏิวัติมาพบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตทางหน้าที่การงานของเขา และกำชับว่า ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และเมื่อเรียนจบให้เข้ารับราชการ วันหน้าถ้ามีกำลังต้องกลับมาช่วยน้อง ๆ
2
ตลอดเวลาแห่งความโหดร้ายในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ ครอบครัวของเหรินเจิ้งเฟยต้องอยู่กันอย่างยากลำบากยิ่งกว่าเดิม พ่อของเขาถูกคุมตัวไปทำงานหนักทุกวัน ส่วนน้อง ๆ และแม่ก็ต้องไปร่อนทรายในแม่น้ำที่เย็นจัดเพื่อช่วยสร้างทำนบและทางรถไฟ
2
จากสภาพครอบครัวที่ยากลำบาก เหริน เจิ้งเฟย แบกความหวังของครอบครัวกลับไปฉงชิ่ง พร้อมคำกำชับของพ่อที่ให้ใช้ความรู้เป็นอาวุธในการเปลี่ยนแปลงโชคชะตา เวลานั้นจึงไม่มีสิ่งใดมาละเขาออกจากความพยายามในการศึกษาเล่าเรียนได้
เหริน เจิ้งเฟย พยายามทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ ศึกษาแคลคูลัส ระบบอัตโนมัติและตรรกศาสตร์ รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้เขายังหาหนังสือเกี่ยวกับหลักปรัชญา และหนังสือเกี่ยวกับการทำสงครามของคาร์ล ฟอนเคลาเซวิตซ์มาอ่าน อีกทั้งยังพยายามศึกษาภาษาอื่นอีกหลายภาษาไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ และรัสเซีย
เมื่อเรียนจบ เหริน เจิ้งเฟย ก็เข้ารับราชการทหาร แต่ด้วยประวัติของพ่อที่เคยเป็นนายทุน จึงทำให้ชีวิตราชการทหารในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเขาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่หลายปีจึงสามารถเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้
เมื่อสงครามในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมสงบลง ประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงพยายามฟื้นฟูประเทศที่กำลังอ่อนแอและล้าหลังให้ทันกับการเปลี่ยนของชาติตะวันตก ช่วงนี้มีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์อันทันสมัยจากทั้งอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก
1
เหริน เจิ้งเฟย ซึ่งเรียนมาทางด้านวิศวกรรมและทำงานอยู่ในกองทัพจึงกลายเป็นนายทหารที่มีบทบาทในการปฏิรูปประเทศ แต่เนื่องจากเขาเป็นนายทหารช่าง จึงต้องย้ายไปตามไซต์งานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ลูก ๆ ของเขาไม่สามารถศึกษาเล่าเรียนเป็นหลักแหล่งได้
เมื่อกองทัพบรรลุภารกิจทางด้านวิศกรรมที่จี้หนาน เขาก็ต้องย้ายไปดูแลการสร้างอุโมงค์ที่เมืองอื่นในเขตภูเขาที่ทุรกันดารกว่าเดิม ทำให้ลูกที่ติดตามไปด้วยมีผลการเรียนตกต่ำลงอย่างมาก สำหรับ เหริน เจิ้งเฟย ที่บูชาความรู้และใช้ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงโชคชะตาจึงไม่อาจทนได้
เพื่ออนาคตของ เมิ่ง หวั่นโจ ลูกสาวคนโตที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย เหริน เจิ้งเฟย จึงตัดสินใจลาออกจากกองทัพในปี 1984 แล้วผันตัวเองไปเป็นผู้จัดการของบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง เพื่อให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน และลูกสาวได้เตรียมตัวอย่างเต็มที่เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
จากรั้วมหาวิทยาลัย สู่กองทัพ เหริน เจิ้งเฟย ไม่มีความรู้ทางด้านธุรกิจเลยแม้แต่น้อย เขาถูกบริษัทอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ตรายหนึ่งหลอกเงินไปกว่าสองล้านหยวน จึงต้องลาออกจากบริษัทและกลายเป็นคนตกงาน
ลูกก็ต้องเรียน งานก็ไม่มีแล้ว เหริน เจิ้งเฟย จะทำอย่างไร ฝากติดตามเรื่องราวของเขาในตอนต่อไปด้วยนะคะ
Reference:
หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา