22 พ.ค. 2019 เวลา 05:09 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ ตอนที่ 3
เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ในที่สุดเหรินเจิ้งเฟยก็รวมกลุ่มกับเพื่อนอีกห้าคน ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 1987 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น
ถึงแม้เขาจะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิตมามากจากสงครามกลางเมืองที่ประชาชนในประเทศสู้รบและข่มเหงกันเอง
แต่ด้วยเลือดรักชาติที่ได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวเขาจึงตั้งชื่อบริษัทว่า “หัวเว่ย” ซึ่งมาจากคำจีนว่า “จงหวาโหย่วเหวย” ซึ่งแปลว่า “จีนเลอเลิศ”
แต่เมื่อพ่อแม่ของเขารู้ข่าวนี้ก็ตกใจเป็นอย่างมาก รีบเก็บของจากกุ้ยโจว เดินทางมาหาเขาที่เซินเจิ้นทันที หัวเว่ยเริ่มต้นจากความยากลำบาก ทุกคนในครอบครัวของเหรินเจิ้งเฟยต้องเบียดเสียดกันอยู่ในห้องที่มีขนาดเพียงสิบกว่าตรารางเมตร
เพื่อช่วยลูกชายประหยัดค่าใช้จ่าย แม่ของเขาต้องไปหาซื้อผักราคาถูกที่เหลือจากการขายมาทำกับข้าวเลี้ยงทุกคน
และอย่าลืมว่าเหรินเจิ้งเฟยไม่มีความรู้ทางธุรกิจและไม่มีประสบการณ์ทางการค้า กิจการของเหรินเจิ้งเฟยในเวลานั้นจึงไร้ทิศทาง อะไรที่ทำเงินได้เขาทำทุกอย่าง เขาเคยขายแม้กระทั่งเครื่องส่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ และยาลดความอ้วน
จนกระทั่งวันหนึ่งมีเพื่อนแนะนำว่า ตอนนี้ธุรกิจต่าง ๆ ในจีนกำลังต้องการตู้สาขาโทรศัพท์ (PBX) เป็นจำนวนมาก เขาจึงพยายามหาข้อมูล และเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายตู้สาขาโทรศัพท์ยี่ห้อ HAX จากฮ่องกง
แม้ว่าขณะนั้นทั่วประเทศจีนจะมีกว่าสองร้อยบริษัทที่จำหน่ายตู้สาขาโทรศัพท์ แต่เนื่องจากความโดดเด่นด้านราคาและบริการหลังการขายจึงทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพียงปีเดียวก็ทำยอดขายทะลุหนึ่งร้อยล้านหยวน ด้วยจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยคน
นี่น่าจะเป็นตอนจบของ เหริน เจิ้งเฟย เนื่องจากเศรษฐีใหม่ในเซินเจิ้นมักจะขายกิจการทิ้งขณะมีกำไรแล้วเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ
1
แต่ เหริน เจิ้งเฟย ยามนี้กลับมองโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่กว่าเดิม เขาเสนอให้บริษัททำการวิจัยและพัฒนาตู้สาขาโทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมขึ้นมาเอง แต่ผู้ถือหุ้นหลายคนยับยั้งไว้
1
เนื่องจากเวลานั้นหัวเว่ยยังเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ที่ขายอุปกรณ์ทางด้านโทรคมนาคม ใครจะกล้ารับประกันว่าจะไม่ขาดทุนหากนำเงินที่หามาได้อย่างยากลำบากไปทุ่มให้กับการวิจัย
1
แต่เหริน เจิ้งเฟยในเวลานั้นเป็นเหมือนมังกรที่กำลังผยอง เขาตั้งเป้าหมายไว้ถึงขนาดต้องการเอาชนะบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคมในจีน อย่างเอ็นอีซีและฟูจิตสึของญี่ปุ่น ลูเซนท์ของอเมริกา ซีเมนส์ของเยอรมัน เบลล์ของเบลเยียม อิริคสันของสวีเดน และอัลคาเทลของฝรั่งเศส
เมื่อตั้งเป้าไว้สูงขนาดนี้แล้วจะทำอย่างไรให้ไปถึงฝั่งฝันได้ล่ะ อย่าลืมในร้อยกว่าปีที่ผ่านมาว่าจีนไม่เคยมีเทคโนโลยีขั้นสูงที่พัฒนาขึ้นมาเองเลย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุด เหริน เจิ้งเฟย จึงรีบนำเจ้าหน้าที่ของหัวเว่ยเดินทางไปเยือนอเมริกาทันทีในปี 1992 เพื่อดูว่าพวกเขายังห่างชั้นกับบริษัทระดับโลกแค่ไหน
ที่อเมริกาพวกเขาเดินทางด้วยรถโดยสารหลายพันกิโลเมตรเพื่อเยี่ยมชม เท็กซัสอินทรูเมนต์บริษัทไอทีที่แดลลัส สำนักงานใหญ่ของไอบีเอ็ม จากนั้นก็เดินทางเข้าชมความเจริญของนิวยอร์ก และจุดสุดท้ายที่พลาดไม่ได้ในการดูงานครั้งนี้คือ ย่านซิลิคอนวัลเลย์ ที่ซานตาคลารา
1
ซานตาคลาราเป็นเมืองหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทคเกือบทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาไว้ที่นี่ ด้วยการให้ความสำคัญกับงานวิจัยของอเมริกาเราจึงได้เห็นเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมายเกิดขึ้นในย่านซิลิคอนวัลเลย์แห่งนี้
การดูงานครั้งนี้ ทำให้แนวคิดเรื่องการพัฒนาชาติด้วยเทคโนโลยีของ เหริน เจิ้งเฟย เด่นชัดมากขึ้น เขาพบว่าการจะพัฒนาเทคโนโลยีของชาติได้ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา และในเวลานั้นกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนยังล้าหลังและห่างไกลจากอเมริกามาก
เขาจึงตัดสินใจซื้อสำนักงานในซิลิคอนวัลเลย์ทันที เพื่อตั้งศูนย์วิจัยสำหรับออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย จากนั้นจึงส่งกลับไปผลิตที่เซินเจิ้น
ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ เขาทุ่มเทกำลังทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อผลิตตู้สาขาโทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมให้ได้ด้วยตัวเอง จนทำให้กระแสเงินสดของหัวเว่ยติดขัดอย่างหนัก และธนาคารหลายแห่งในเซินเจิ้นก็ไม่มีใครยอมปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจที่ดูจะเพ้อฝันนี้
ขณะที่ชาวหัวเว่ยกำลังใจเสียกับเหตุการณ์นี้ สุดท้ายเหริน เจิ้งเฟย ก็แก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการถือหุ้นเพื่อแบ่งเบาภาระของบริษัท และให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับเงินกู้จำนวนเก้าร้อยล้านหยวนด้วยอัตราดอกเบี้ย 33 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมาต่อลมหายใจให้กับโครงการวิจัยของเขา
เพื่อกระตุ้นพนักงาน เหริน เจิ้งเฟย ถึงกับขึ้นไปยืนบนหน้าต่างของอาคารสำนักงานแล้วกล่าวว่า ถ้าการวิจัยครั้งนี้ล้มเหลวเขาจะกระโดดลงจากอาคาร ส่วนพนักงานสามารถหาทางออกอื่นได้ นี่เป็นการประกาศสู้แบบหนังชนฝาชนิดยอมทุบหม้อข้าวเลยทีเดียว
หลังจากผ่านความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน และหมดเงินไปหลายร้อยล้านหยวน ในที่สุดพวกเขาก็ผลิตตู้สาขาโทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมสำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
1
ในปี 1993 เมื่อขุนพลของหัวเว่ยขึ้นไปปักธงแห่งความสำเร็จนี้บนยอดเขา เหรินเจิ้งเฟยกลับพบว่ายอดเขาที่พวกเขาตะเกียกตะกายขึ้นไปเป็นเพียงเนินดินเตี้ย ๆ เท่านั้น จะมีลูกค้ากี่คนที่เชื่อถือสินค้าจีนที่ผลิตจากเซินเจิ้น
ตลอดทั้งปีพนักงานขายต้องแบกอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นมาเองนี้เดินทางไปทั่วประเทศ แต่กลับได้ใบสั่งซื้อเพียงเล็กน้อย ลูกค้ารู้จักแต่ลูเซนท์ อิริคสัน และซีเมนส์ ไม่มีใครรู้จักหัวเว่ย อีกทั้งยังไม่มีใครเชื่อว่าจีนจะสามารถผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมได้เอง
หัวเว่ยเข้าตาจนอีกครั้ง แต่ด้วยเลือดนักสู้ของชายชาติทหารอย่างเหรินเจิ้งเฟย ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจนำพาขุนพลของเขาเข้าไปกบดานตามตลาดในชนบทของจีน ที่ซึ่งบริษัทข้ามชาติพวกนั้นเข้าไปไม่ถึงเพื่อสร้างฐานลูกค้า จากนั้นจึงเปิดฉากยุทธการป่าล้อมเมือง
หลังจากซุ่มทำศึกอยู่ตามตลาดในชนบทเพียงหนึ่งปี ในปี 1994 หัวเว่ยกลับมาเปิดตัวในงานการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติปักกิ่ง และกลายเป็นบริษัทเดียวในงานที่ประดับบูธด้วยธงชาติดาวห้าดวงของจีน ท่ามกลางผู้ผลิตชั้นนำจากต่างชาติ
อีกยี่สิบปีให้หลังใครจะรู้ว่าหัวเว่ยบริษัทเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครรู้จักในงานการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติปักกิ่งครั้งนั้นจะกลายเป็นตัวป่วนที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากทั้งยุโรปและอเมริกาฆ่าไม่ตาย
ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เหริน เจิ้งเฟย ต้องฟันผ่าอะไรบ้าง
ติดตามได้ในซีรีย์
“หัวเว่ย ธุรกิจนี้เพื่อชาติ”
เรื่องเล่าในแบบ พอดี-พอดี
ในตอนต่อไปนะคะ
Ref. หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา