25 พ.ค. 2019 เวลา 05:02 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ
ตอนที่ 7
ด้วยความที่หัวเว่ยเน้นหนักไปที่งานวิจัยและพัฒนา ผู้บริหารส่วนใหญ่ล้วนจบจากสายวิทยาศาสตร์ ส่วนทีมวิจัยของหัวเว่ยมักจะมีอายุน้อยกล้าคิดกล้าทำ จึงทำให้สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็เป็นจุดอ่อนอีกเช่นกัน
เนื่องจากความที่มีอายุน้อยจึงขาดประสบการณ์ ด้วยความรวดเร็วจึงขาดความรอบคอบ ทีมนักวิจัยมักเน้นที่เทคโนโลยีแต่ไม่เน้นคุณภาพ เมื่อผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดจึงมีปัญหาตามมาให้แก้ไขตลอดเวลา
เมื่ออุปกรณ์มีปัญหาฝ่ายบริการก็ต้องบินว่อนไปทั่วประเทศเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ผลกำไรที่ได้จึงละลายหายไปกับค่าใช้จ่ายด้านนี้ ทั้งค่าที่พักค่าเดินทาง
ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ก็เกิดจากความไม่ละเอียดรอบคอบในด้านการผลิต ทำให้จุดเชื่อมต่อบางจุดมีปัญหา นอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยอีกด้วย
เหริน เจิ้งเฟย พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการเดินทางไปเยือนประเทศชั้นนำต่าง ๆ หลายครั้งเพื่อศึกษาเคล็ดวิชา และทำให้ทราบว่าไม่เพียงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้นที่หัวเว่ยยังห่างชั้นกับบริษัทระดับโลก
แต่การผลิตและบริหารงานก็ยังไม่ได้มาตรฐาน ส่วนจิตวิญญาณที่ทุ่มเทในการทำงานของพนักงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำ
หลังจากศึกษาดูงานจากต่างประเทศแล้ว เหรินเจิ้งเฟยยกย่องในจิตวิญญาณการสร้างนวัตกรรมของชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก
รวมถึงความละเอียดรอบคอบรัดกุมของชาวเยอรมัน และที่สำคัญคือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของชาวญี่ปุ่น ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่แทบจะไม่มีทรัพยากรที่สำคัญอย่าง น้ำมัน ถ่านหิน และแร่เหล็ก
แต่ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของประชาชน จึงทำให้ญี่ปุ่นใช้เวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่สิบปีพัฒนาชาติขึ้นมาได้จากซากปรักหักพังหลังสงครามโลก
1
“ หยั่งเท้าบนความฝันที่รุ่งเรืองของบรรพชน
แบกความหวังความก้าวหน้าของชนชาติไว้บนบ่า
เราซื่อสัตย์จริงใจใฝ่ก้าวหน้า
เรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัยของอเมริกา
ซึมซับการบริหารชั้นยอดจากญี่ปุ่น
แม่นยำหมดจดดุจชาวเยอรมัน
ทุกฝีก้าวบ่ยั่น หยั่งไปอย่างมั่นคง...”
นี่จึงเป็นบทเพลงแห่งจิตวิญญาณของชาวหัวเว่ย ที่เหรินเจิ้งเฟยแต่งขึ้นมาเพื่อปลุกระดมขุนพลของเขาให้ตระหนักในหน้าที่ของตนเองหลังจากรอนแรมไปศึกษาดูงานมาหลายประเทศ
ถึงแม้จะทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างดีขึ้น แต่ที่ยังแก้ไม่ตกคือการบริหารจัดการ อย่างที่รู้กันอยู่คือจีนยังไม่เคยมีบริษัทข้ามชาติระดับโลกทางด้านเทคโนโลยี
แม้จะมีจุดแข็งด้านแรงงานที่มีราคาถูก แต่ขาดเรื่องการบริหารจัดการที่ดี จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ในระดับต่ำ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
อีกทั้งระยะหลังบริษัทข้ามชาติต่างพากันมาตั้งฐานการผลิตที่จีน ความได้เปรียบด้านต้นทุนราคาของหัวเว่ยจึงไม่แตกต่างกับคู่แข่งมากนัก
1
ระหว่างนั้นไอบีเอ็มซึ่งกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดหลังจากมีปัญหาและแยกทางกับไมโครซอฟต์ ในการพัฒนา OS/2
การเงินของไอบีเอ็มมีปัญหา ระบบปฏิบัติการและคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ไม่ได้รับการตอบรับ ผลประกอบการขาดทุนจนทำให้เกือบล้มละลาย
แต่โชคดีได้ซีอีโอคนใหม่อย่าง เกิร์สเนอร์ มากอบกู้สถานการณ์ และทำให้ไอบีเอ็มฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกครั้ง
เหริน เจิ้งเฟย ซึ่งเคยไปดูงานที่ไอบีเอ็มหลายครั้ง และได้เห็นการทำงานที่ได้มาตรฐานในแบบของไอบีเอ็ม ยอมทุ่มทุนสองพันล้านหยวนอย่างไม่เสียดายนำเข้าระบบบริหารจัดการของไอบีเอ็มมาช่วยแก้ปัญหาที่หัวเว่ยกำลังเผชิญ
1
เพราะคิดว่านี่เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้หัวเว่ยเติบโตอย่างเป็นระบบและกลายเป็นบริษัทชั้นนำระดับสากล
ไอบีเอ็มส่งทีมงานคุณภาพกว่าเจ็ดสิบคนเข้ามาประจำการที่หัวเว่ย เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไข โดยสัญญาว่าจะแปลงโฉมหัวเว่ย ชนิดผลัดเอ็นเปลี่ยนกระดูกเลยทีเดียว
1
ด้วยความเป็นมืออาชีพและมีการทำงานที่ได้มาตรฐานของไอบีเอ็ม ถึงกับทำให้เหล่าขุนพลของหัวเว่ยอึ้งไปตาม ๆ กัน และแน่นอนอยู่แล้วที่ต้องมีคนไม่เห็นด้วยและต่อต้าน
แต่เหรินเจิ้งเฟยก็ขอร้องให้ทุกคนยอมรับความเจ็บปวดและยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง อีกทั้งยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไอบีเอ็มจะมาเป็นปรมาจารย์ของชาวหัวเว่ยและช่วยให้กองทัพของหัวเว่ยก้าวไปได้อย่างมั่นคง ถ้าใครไม่เห็นด้วยหรือลำบากใจก็เชิญออกไปได้อย่าอยู่เพื่อถ่วงองค์กร
1
ไอบีเอ็มร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าขุนพลของหัวเว่ยเป็นเวลาถึงสิบปีนับตั้งแต่ปี 1998 ถึงปี 2008
1
และยังแนะนำหัวเว่ยอีกว่าเทคโนโลยีระดับหัวใจ หัวเว่ยควรทำเอง แต่เทคโนโลยีที่ตนเองไม่ถนัดหรือล้าหลังควรให้บริษัทอื่นทำ ไม่ว่าจะซื้อจากคนในวงการ หรือซื้อสิทธิบัตรมาทำ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสนองความต้องการของตลาดและทำกำไรให้เร็วที่สุด
แม้ไอบีเอ็มจะเป็นเพียงที่ปรึกษาทางธุรกิจ แต่สำหรับหัวเว่ยแล้วไอบีเอ็มถือเป็นปรมาจารย์ผู้ชี้แนะแนวทางให้แก่พวกเขาเพื่อก้าวเป็นกองทัพระดับสากลที่เกรียงไกร
ยิ่งถ้าผ่านมรสุมที่เลวร้ายในช่วงนี้ไปได้ ต่อไปพวกเขาคงได้เป็นยักษ์ใหญ่สีแดงในตำนาน เคียงคู่กับยักษ์ใหญ่สีฟ้าอย่างไอบีเอ็ม และยักษ์สีเขียวอย่างไมโครซอฟต์ที่เติบโตมาได้จากการมีพี่เลี้ยงเป็นไอบีเอ็มเช่นกัน
เรื่องราวของเหรินเจิ้งเฟย และขุนพลของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ฝากติดตามเรื่องเล่าชุด “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ในตอนต่อไปด้วยนะคะ
1
ส่วนใครที่อยากรู้เรื่องราวระหว่างไอบีเอ็มและไมโครซอฟต์ ตามอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้นะคะ
Reference : หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา