27 พ.ค. 2019 เวลา 09:51 • การศึกษา
“รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ ถ้าบาดเจ็บ หรือตายจากอุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง ?”
อุบัติเหตุ หรือการถูกทำร้าย เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดกับตัวเองหรือคนในครอบครัว
หากอุบัติเหตุ หรือการถูกทำร้าย เกิดขึ้นจากการกระทำของคนอื่น ถ้าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงค่าเสียหายกันได้ เรื่องก็คงจบลงด้วยดี แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ล่ะ จะต้องทำยังไง เรียกร้องได้แค่ไหน ใครจะเรียกร้องได้บ้าง ?
เรื่องนี้ กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์การเรียกร้องค่าเสียหายจากคนที่ทำให้เกิดความเสียหายไว้ดังนี้ครับ
กรณีได้รับบาดเจ็บ (ไม่ตาย) ค่าเสียหายที่สามารถเรียกร้องได้ คือ
1. ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าจ้างพยาบาล, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องจากการรักษาพยาบาล รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคต, ค่าใช้จ่ายในการกายภาพ, ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ตามความเหมาะสม
1
2. ค่าเสียหายจากการเสียความสามารถในการประกอบการงาน ทั้งโดยสิ้นเชิง หรือบางส่วน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น ถูกรถชนขาขาด ไม่สามารถประกอบอาชีพขับรถโดยสารได้อีกต่อไป
3. ค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ถูกทำร้ายจนนิ้วขาด หรือรถชนจนขาใช้การไม่ได้เหมือนปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้บาดเจ็บ
1
4. ค่าขาดการงานในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมครัวเรือนของบุคคลภายนอก เช่น ถ้าผู้บาดเจ็บ มีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้างที่ประกอบกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บจนไม่สามารถทำงานได้ นายจ้างสามารถเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ได้
5. ค่าจ้างแรงงาน ในกรณีที่ต้องหยุดงานและไม่ได้รับเงินเดือน
กรณีตาย ค่าเสียหายที่สามารถเรียกร้องได้ คือ
6. ค่าปลงศพ เช่น ค่าหนังสือเชิญงานศพ ค่าจัดการศพตามพิธีกรรมของศาสนา ค่าโลง ค่าตบแต่งศพ ค่าพิธีรดน้ำศพ ค่าเมรุ ค่าทำบุญตามประเพณี ซึ่งเรียกได้ตามความจำเป็นและตามฐานะของผู้เสียชีวิต
7. ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เช่น ผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูกและภรรยาต้องดูแล ทายาทของผู้ตาย สามารถเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น พ่อ แม่มีหน้าที่ดูแลลูกจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ, ลูกมีหน้าที่ดูแลพ่อ แม่, สามี ภรรยามีหน้าที่ดูแลกันและกัน จึงสามารถเรียกร้องค่าขาดการอุปการะดังกล่าวได้
8. ค่าเสียหายตามข้อ 1, 4, 5
กรณีที่ทรัพย์สินเสียหาย (ไม่ว่าจะตายหรือไม่ตาย) ค่าเสียหายที่สามารถเรียกร้องได้ คือ
9. ค่าราคาทรัพย์สินที่เสียไป หรือเสื่อมราคาลง เช่น ค่าซ่อมรถ หรือใช้ราคารถ หากซ่อมไม่ได้
10. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สิน เช่น ระหว่างซ่อมรถ ถ้าเราต้องใช้รถไปทำงาน ก็สามารถเรียกค่ารถแท็กซี่ เพื่อไปทำงานแทนการใช้รถได้
ใครบ้างที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ???
หากไม่ตาย กฎหมายกำหนดให้ ผู้เสียหาย ตัวแทน หรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้เยาว์ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาต (กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์) สามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้
กรณีผู้เสียหายตาย ลูก หรือพ่อ แม่ ที่ชอบด้วยกฎหมาย (คือ ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรสกัน เท่านั้น ไม่รวมถึงลูกนอกสมรส) สามี หรือภรรยา (ที่จดทะเบียนสมรส) หรือผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลคนไร้ความสามารถเท่านั้น ที่มีสิทธิฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้
หรือถ้ากรณีเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียหาย (ไม่ว่าตายหรือไม่ตาย) ได้ทำประกันภัยไว้ หากผู้เสียหาย หรือทายาทได้รับชำระค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยแล้ว บริษัทประกันภัยก็มีสิทธิฟ้องร้องเอากับผู้กระทำได้
คนอื่น ๆ นอกจากนี้ ไม่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการถูกทำละเมิดได้
อย่าลืม สำคัญมาก !!! สิทธิการเรียกร้องค่าเสียหาย (ฟ้องศาล) จะขาดอายุความเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการถูกละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด (กรณีไม่รู้ตัวผู้เสียหาย)
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา